ถุงน้ำในเต้านม ภาวะชวนเจ็บเต้าที่สาวๆ ควรต้องรู้
เคยอาบน้ำคลำเต้านมแล้วเจอก้อนบางอย่างไหม อย่ารีบกลัวกันไป เพราะคำตอบ อาจไม่ใช่โรคมะเร็งเต้านม หากแต่เป็น ถุงน้ำในเต้านม (Fibrocystic changes) ซึ่งเป็นภาวะที่สามารถพบได้ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยอาจไม่จัดเป็นโรคหรือเป็นความผิดปกติแต่อย่างใด
กลุ่มของโรคถุงน้ำในเต้านมนี้ประกอบด้วยหลายภาวะ ซึ่งสามารถพบร่วมกันในเต้านมข้างเดียวกันได้ เช่น ถุงน้ำ (cyst) ท่อน้ำนมขยายหรือโป่งพอง (duct ectasia) พังผืด (adenosis, fibrosis) และท่อน้ำนมหนาตัว (ductal hyperplasia) ในที่นี้จะขอกล่าวถึงถุงน้ำในเต้านมเป็นหลัก เนื่องจากเป็นภาวะที่พบได้มากที่สุด
สาเหตุและอาการ
ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคหรือภาวะถุงน้ำในเต้านม แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการตอบสนองด้านฮอร์โมนในผู้หญิง โดยพบว่าผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการเจ็บเต้านมก่อนมีประจำเดือน คลำเต้านมพบมีก้อนหรือขรุขระ ในทางพยาธิวิทยาจะพบการเกิดถุงน้ำที่ท่อน้ำนมส่วนปลายมีการพองออกร่วมกับมีการอุดตันทำให้เกิดการคั่งของของเหลวจนกลายเป็นถุงน้ำ ในบางรายอาจพบร่วมกับการอุดตันของท่อน้ำนมส่วนอื่นด้วยทำให้เกิดท่อน้ำนมขยายหรือโป่งพองและอาจมีน้ำออกจากหัวนมได้
การตรวจแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวนด์จะพบก้อนที่มีลักษณะกลมหรือรี ขอบเรียบ ภายในบรรจุด้วยของเหลว ซึ่งอาจมีลักษณะใสหรือขุ่นข้นเป็นตะกอนก็ได้ มักจะพบร่วมกันหลายถุงและพบในเต้านมทั้งสองข้าง โดยมีขนาดแตกต่างกันได้ตั้งแต่ไม่กี่มิลลิเมตรจนถึงหลายเซ็นติเมตร และอาจตรวจพบหินปูนที่เกิดจากตะกอนแคลเซียมในถุงน้ำในภาพแมมโมแกรมก็ได้
วิธีการรักษา
ถุงน้ำในเต้านมไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ในรายที่คลำได้ก้อนหรือมีอาการเจ็บ แนะนำให้ดูดน้ำในถุงน้ำออกเพื่อบรรเทาอาการ แต่อย่างไรก็ตามอาจมีการกลับเป็นซ้ำใหม่ได้ การวินิจฉัยถุงน้ำด้วยการทำอัลตร้าซาวนด์ในปัจจุบันมีความแม่นยำสูงมาก ในผู้ป่วยที่คลำพบก้อนในเต้านมควรได้รับการตรวจอัลตร้าซาวนด์เพื่อวินิจฉัยแยกถุงน้ำออกจากก้อนเนื้องอก แม้แต่ในรายที่พบว่ามีถุงน้ำอยู่เดิมแล้วก็ตาม เนื่องจากอาจมีเนื้องอกในเต้านมเกิดใหม่ในบริเวณใกล้เคียงกับที่เคยมีถุงน้ำอยู่เดิมได้ และไม่สามารถแยกจากกันด้วยการตรวจร่างกายแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นผู้ป่วยโรคถุงน้ำในเต้านม ก็ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม และปรึกษาแพทย์เมื่อพบความผิดปกติที่ต่างไปจากเดิม เช่นพบก้อนในเต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น แข็ง หรือเกิดขึ้นใหม
ข้อมูลจาก : คลินิคโรคมะเร็งเต้านมครบวงจร ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อโรคมะเร็งเต้านม