โรคเหงา เมื่อความเหงาตัวโตเท่าบ้าน
หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ “เหงา” มาบ้าง ไม่ว่าจะเหงานิดๆ หรือเหงามากๆ แต่เราก็ไม่เคยระบุถึงสาเหตุของความเหงาได้เลย นั่งอยู่ดีๆ ก็รู้สึกเหงาขึ้นมาเองเสียอย่างนั้น รู้สึกว่าชีวิตช่างว่างเปล่า และเวลาก็ผันผ่านไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน ถ้าคุณอยากหายเหงาเราขออาสาพาคุณมาเรียนรู้ โรคเหงา และวิธีการแก้โรคนี้ด้วยธรรมะของท่านว.วชิรเมธีกัน
ท่านว.วชิรเมธีแนะนำว่า “ธรรมชาติแห่งจิตของเรานั้นจะต้องมีอาหารให้คอยขบคิดอยู่เสมอ ถ้าเราอยู่เฉยๆ ไม่หางานให้จิตทำ จิตจะฟุ้ง ยิ่งฟุ้งก็ยิ่งยุ่ง บางคนฟุ้งเข้าไปไกลในอดีตเป็นพันๆ ปี บางคนฟุ้งล่วงหน้าไปในอนาคตเป็นร้อยๆ ปี ขณะที่บางคนปล่อยให้จิตว่างมาก จิตจึงไปเก็บเอาความทุกข์เก่าๆ ซึ่งเคยจบไปแล้วมารื้อคิดใหม่ แล้วปล่อยให้ความทุกข์ในอดีตนั้นกลับมามีชีวิตขึ้นมาทำร้ายปัจจุบันได้อีกครั้งหนึ่ง อาการอย่างนี้เรียก “รีไซเคิลทุกข์”
ยิ่งฟุ้งเข้าไปในวันวาน ยิ่งลดความเบิกบานของวันนี้
ในชีวิตจริงของเรามีความทุกข์ความเจ็บปวดมากมายที่มันเคยทำร้ายเรา และก็จบลงไปแล้วในอดีต แต่บางครั้งเราก็มักปล่อยให้ความคิดไหลเอื่อยไปตามยถากรรม สุดท้ายจิตก็ไปขุดค้นเอาความทุกข์ความเจ็บปวดเก่าๆ นั้นมาทุกข์ซ้ำซากอีกนับครั้งไม่ถ้วน บางคนก็ทำร้ายตัวเอง ลงโทษตัวเอง รู้สึกมีปมด้อยในใจ กลายเป็นคนขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง สุดท้ายเมื่อไม่รู้จะหาทางออกจากเขาวงกตแห่งความเจ็บปวดในอดีตได้อย่างไร จึงกลายเป็นโรคเหงา ห่อเหี่ยว ซึมเศร้า ขาดชีวิตชีวา แววตามีแต่ความว่างเปล่า คนแบบนี้ไม่มีเสน่ห์ให้อยู่ใกล้เลยแม้แต่นิดเดียว”
ลองสังเกตตัวเองดูสิว่าเข้าข่ายคนประเภทข้างต้นแล้วหรือยัง ถ้าเริ่มๆ มีอาการทำนองข้างต้นแล้ว ขอให้รีบปรับตัวเองด่วนด้วยวิธีแก้ง่ายๆ แต่ได้ผลดีมาก อย่างที่ท่านว.วชิรเมธีแนะนำไว้คือ ต้องไม่ปล่อยให้จิตว่าง
“ไม่ปล่อยให้จิตว่างด้วยการหมั่นคอยหางานให้จิตทำอยู่เสมอ จิตที่มีงานทำจะเป็นจิตที่ไม่ฟุ้งเมื่อไม่ฟุ้งก็ไม่ยุ่ง ไม่หวนกลับไปหาอดีต และไม่กังวลไกลออกไปในอนาคต จิตที่ทำงานอยู่เสมอจึงเป็นจิตที่อยู่กับปัจจุบันขณะ จิตที่อยู่กับปัจจุบันขณะจะเป็นจิตที่มีความสุข มีพลัง และไม่เป็นต้นธารของความเหงา ความเศร้า ความฟุ้งซ่านอีกต่อไป เหมือนกับมีด ที่ยิ่งลับก็ยิ่งคม แต่หากเก็บไว้เฉยๆ กลับกลายเป็นขึ้นสนิมและ ไม่มีประโยชน์ไปเสีย”
ตัวอย่างของคนเหงาๆ อาจมีอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลเราเลย ลองสังเกตดูพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ของเราดูสิว่า หลังจากที่ท่านเกษียณออกมาจากงานที่ทำแล้วยังมีความสุขอยู่หรือเปล่า ถ้าท่านมีอาการเบื่อหรือเซ็ง ลองหากิจกรรมที่ท่านสนใจ ชอบ หรือถนัดจนอาจถึงขั้นมีพรสวรรค์ มาทำร่วมกันกับท่านดู เมื่อได้ทำงานที่ “ใจรัก” ความสุขก็จะตามมา ส่วนความเหงาคงต้องขอหลบเข้ามุมไป
ที่มา : หนังสือธรรมะสบายใจ สำนักพิมพ์อมรินทร์
ภาพ : www.pexels.com
บทความที่น่าสนใจ
เหงาใช่ไหม บทความธรรมะดีๆ จากพระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ)
8 เทคนิค จัดการความเหงา แบบมือโปร
วิธีป้องกันความเหงา สนทนาธรรมกับ พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
ตำรวจน้อยน้ำใจงาม ทำภารกิจแจกกอดให้ผู้สูงอายุได้คลายเหงาที่บ้านคนชรา