ฟัน, เหงือก, ฟันผุ, โรคฟัน, โรคเหงือก, วิธีแปรงฟัน

รู้ทัน ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ทำเหงือกและฟันป่วย

เหงือกและ ฟันผุ

อาหารยุคใหม่ทำ ฟันผุ ของหวานทุกชนิดและอาหารจำพวกแป้งอย่างจั๊งค์ฟู้ดเป็นของโปรดของใครหลายคน รวมทั้ง คุณปรีดาภรณ์ คันธรส สาวออฟฟิศวัย 36 ปี

“ดิฉันชอบชวนเพื่อนๆ ไปกินแฮมเบอร์เกอร์กับเฟรนช์ฟรายเป็นอาหารกลางวันอยู่บ่อยๆ เพราะเห็นว่าสะดวกดี ไม่ต้องไปนั่งรอคิวนานเหมือนอาหารตามสั่ง แถมบ่อยครั้งดิฉันมักดื่มน้ำอัดลมและกินขนมหวาน เค้กหรือคุกกี้ปิดท้ายมื้ออาหาร

“กินเสร็จก็ต้องรีบกลับไปทำงานภาคบ่ายต่อ ไม่ค่อยได้แปรงฟันหลังกินอาหารกลางวันจนเมื่อสองสัปดาห์ก่อนเกิดอาการเสียวฟันจากนั้นก็ปวดฟันมาก ดิฉันจึงรีบไปพบทันตแพทย์ พบว่ามีฟันผุ 2 ซี่ ต้องอุดฟันด่วน”

ทันตแพทย์หญิงสภัทร์พร สิทธิสมวงศ์ ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ ประจำสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้อธิบายถึงสาเหตุของปัญหาเหงือกและฟันที่ผู้คนมักเป็นเพราะการกินอาหาร ดังนี้

“อาหารสมัยนี้มีปริมาณแป้งและน้ำตาลค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นขนมปัง ของหวาน หรือน้ำหวาน เมื่อกินเข้าไปแล้วย่อมทำให้เชื้อแบคทีเรียที่ซ่อนอยู่ในช่องปากดึงน้ำตาลมาสร้างกรด แล้วค่อยๆ กัดทำลายชั้นเคลือบฟันไปจนถึงเนื้อเยื่อด้านในฟัน จนเกิดอาการฟันผุ ทำให้ปวดฟัน ยิ่งเมื่อกินของหวานจัด เย็นจัด หรือร้อนจัดเข้าไปอีก จะกระตุ้นให้ปวดฟันมากขึ้น

“ส่วนการกินอาหารประเภทที่มีเนื้อสัมผัสเหนียวหรือแข็ง เศษอาหารนั้นจะเข้าไปติดตามร่องฟันได้ง่ายกว่าปกติ เมื่อประกอบกับการละเลยไม่แปรงฟันหลังกินอาหารด้วยแล้ว ย่อมเพิ่มโอกาสให้ฟันผุได้มากขึ้น”

เครียดมาก ระวัง! ฟันแตก

ความเครียดทำร้ายเหงือกและฟันได้มากกว่าที่คุณคิด ถ้าไม่เชื่อลองฟังข้อเท็จจริงนี้จากคุณหมอสภัทร์พรค่ะ

“ความเครียดจากการใช้ชีวิตและการ ทำงานในแต่ละวันส่งผลให้ระบบประสาทส่วนกลางตอบสนองด้วยการทำให้เรานอนกัดฟัน

“ความรุนแรงและระยะเวลาที่นอน กัดฟันในแต่ละคืนขึ้นอยู่กับความเครียด สะสมของแต่ละบุคคลและกิจกรรมที่ทำก่อนนอนหลับ เช่น หากนั่งทำงานก่อนนอนหลับ อาจก่อให้เกิดความเครียดได้โดยแรงกัดฟันจะหนักกว่าแรงบดเคี้ยวในภาวะปกติมาก จึงสามารถทำลายฟัน เหงือก และอวัยวะที่รองรับฟันทั้งหมด โดยเฉพาะหากการกัดฟันนั้นเกิดอย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานาน”

ระดับความรุนแรงที่เป็นผลจากการกัดฟัน มีดังนี้

– ฟันสึก ชั้นเคลือบฟันถูกทำลายทีละน้อยจนลุกลามถึงชั้นเนื้อฟัน ทำให้รู้สึกเสียวฟัน

– ฟันร้าว ฟันเริ่มร้าวถึงชั้นเนื้อฟัน ทำให้รู้สึกเสียวฟันทุกครั้งที่ฟันซี่ที่ร้าวกระทบกับฟันซี่อื่น

– ฟันแตก ชั้นเนื้อฟันถูกทำลายจนฟันแตกออกจากกันและต้องถอนฟันซี่นั้น

จัดฟัน, ฝันผุ, คราบหินปูน, อันตรายจากการจัดฟัน, ดูแลฟัน, โรคเหงือกและฟัน
ผู้ที่จัดฟัน ควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันฟันผุ และคราบหินปูนสะสม

เทรนด์จัดฟัน ก่อโรคเหงือกและฟัน

เทรนด์ฮิตจัดฟันในหมู่เด็กวัยรุ่นจนถึงคนวัยทำงานยังได้รับความนิยมไม่สร่างซา แต่ทราบไหมคะว่า เบื้องหลังเหล็กจัดฟันสีสวยนี้ซ่อนโรคเหงือกและฟันที่ไม่พึงปรารถนาไว้ได้มากมาย

คุณชุติกาญจน์ (ขอสงวนนามสกุล) พนักงานบริษัท วัย 29 ปี เล่าว่า

“ดิฉันเริ่มจัดฟันเมื่อตอนอายุประมาณ 26 ปี คุณหมอบอกว่าต้องติดเครื่องมือจัดฟันประมาณ 2 ปี โดยต้องไปพบคุณหมอทุกเดือน แต่มาช่วงปีที่ 2 งานรัดตัวจนทำให้ดิฉันไปพบคุณหมอห่างขึ้น ทุกๆ 2 – 3 เดือน จนทำให้ต้องจัดฟันนานถึง 3 ปี หลังถอดเครื่องมือจัดฟันปรากฏว่าคุณหมอตรวจพบคราบหินปูนเยอะมาก และยังตรวจพบฟันผุถึง 3 ซี่”

คุณหมอสภัทร์พรแนะนำข้อปฏิบัติ และเคล็ด (ไม่) ลับในการดูแลสุขภาพช่องปากสำหรับผู้จัดฟันตั้งแต่เริ่มต้น ดังนี้

– ก่อนจัดฟันควรตรวจสุขภาพเหงือกและฟันกับทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างละเอียด

– ขณะจัดฟันให้แปรงฟันโดยใช้แปรงสีฟันและไหมขัดฟันชนิดพิเศษสำหรับผู้จัดฟัน

– บ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ทุกครั้งหลังแปรงฟัน เพื่อป้องกันคราบหินปูนและฟันผุ เพราะผู้จัดฟันมีโอกาสเกิดฟันผุมากกว่าคนทั่วไป

คลิกเพื่ออ่านหน้าถัดไป

ชีวิตเร่งรีบ บ่อเกิดเหงือกอักเสบ

นอกเหนือจากโรคฟันที่คนรุ่นใหม่ ต้องระวังแล้ว รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ยสวิมล คูผาสุข หัวหน้า ภาควิชาเวชศาสตร์ช่องปาก คณะทันต-แพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า

“สถิติล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า พบผู้ป่วยโรคเหงือกอักเสบในคนทุกเพศและทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กวัยรุ่น คนวัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุสูง 60 – 80 เปอร์เซ็นต์

“เพราะไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบของคนรุ่นใหม่ทำให้ละเลยการแปรงฟัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะไม่มีเวลา สำหรับแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ เผลอนอนหลับโดยไม่แปรงฟัน หรือแปรงฟันรวดเร็วเกินไป ทำให้เศษอาหารไม่ถูกขจัดออก หมักหมมอยู่ในช่องปาก ก่อให้เกิดปัญหาเหงือกและฟันได้ในที่สุด

“ถ้าช่วงไหนร่างกายอ่อนแอจนภูมิคุ้มกันตก เชื้อแบคทีเรียในช่องปากยิ่งเติบโตง่ายขึ้น ทำใหอาการของโรคเหงือกอักเสบเรื้อรังไม่หายขาด และอาจพัฒนาไปสู่โรคปริทันต์อักเสบขั้นรุนแรงหรือโรครำมะนาดในที่สุด”

5 ตัวช่วยป้องกันโรคเหงือกและฟัน

เมื่อทราบปัญหาโรคเหงือกและฟันแล้ว คุณหมอทั้งสองท่านได้ให้คำแนะนำ ในการดูแลช่องปากเพิ่มเติมว่าแปรงฟันถูกวิธี ดีต่อเหงือกและ ฟัน

วิธีแปรงฟันที่ถูกต้องควรทำดังนี้

1.เลือกแปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม ไม่แข็งจนเกินไป เพราะขนแปรง แข็งอาจทำให้เลือดออก

  1. ไม่ควรแปรงฟันแรงจนเกินไป เพราะอาจทำให้เหงือกร่นจนถึงชั้นรากฟัน ส่งผลให้เกิดอาการเสียวฟัน

3.ในการแปรงฟัน ให้วางแปรง สีฟันทำมุม 45 องศา บนโคนฟัน (บริเวณที่ฟันต่อกับเหงือก) ขยับแปรงไปมาสั้นๆแล้วขยับแปรงขึ้นหรือลง หากแปรงฟันบนให้ปัดลงด้านล้าง หากแปรงฟันล่างให้ปัดขึ้นด้านบน ซึ่งจะช่วยแปรงเศษอาหารและเชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่ตรงร่องฟันได้สะอาดยิ่งขึ้น ส่วนผู้จัดฟัน ให้วางขนแปรงลงบนเครื่องมือจัดฟัน ขยับ และปัดขนแปรงไปมา ในช่วงสั้นๆอย่างน้อย 10 ครั้ง ทำเช่นเดียวกัน บริเวณเหนือและใต้เครื่องมือจัดฟัน

แปรงฟัน, แปรงฟันให้ถูกวิธี, โรคเหงือกและฟัน, เหงือก, ฟัน, ฟันผุ
แปรงฟันหลังมื้ออาหาร ป้องกันการหมักหมมของเศษอาหารและเชื้อแบคทีเรียได้ดี

แปรงลิ้นด้วย ช่วยขจัดแบคทีเรีย

เพราะลิ้นเป็นแหล่งสะสมเชื้อแบคทีเรียอย่างดี การแปรงลิ้นจึงช่วยลดเชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่ตามร่องระหว่างตุ่มเล็กๆ บนลิ้นได้

วิธีแปรงลิ้นที่ถูกต้อง ให้ค่อยๆลากแปรงสีฟันจากโคนลิ้นลงมาปลายลิ้น ทำอย่างนี้ 4-5 ครั้ง ทุกครั้งที่แปรงฟันแปรงฟันทุกครั้งหลังมื้ออาหาร

นอกจากแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง คือหลังตื่นนอนตอนเช้า และก่อน เข้านอนตอนกลางคืนแล้ว

ควรเพิ่มการแปรงฟันหลังมื้ออาหาร เช้า กลางวัน และเย็น เพิ่มด้วย เพื่อป้องกันการหมักหมมของเศษอาหารและเชื้อแบคทีเรียไหมขัดฟัน ฮีโร่ช่วยฟันสะอาด

ทุกครั้งเมื่อแปรงฟันเสร็จ ควรใช้ไหมขัดฟันช่วยขัดเศษอาหารที่ยังติดค้างอยู่ตามร่องฟันและเหงือกออกด้วย

โดยสอดไหมขัดฟันผ่านซอกฟัน ส่วนผู้จัดฟันให้สอดไหมผ่านเส้นลวด จากนั้นดึงไหมขัดฟันให้โอบแนบกับตัวฟัน แล้วค่อยๆ ขยับไหมขัดฟันดันเศษอาหารออกมา ทำเช่นนี้กับฟันทุกซี่ แม้ฟันบางซี่อาจไม่รู้สึกว่ามีเศษอาหารติดอยู่ แต่การใช้ไหมขัดฟันก็ช่วยขัดเชื้อแบคทีเรียที่มองไม่เห็นให้ติดออกมาได้”

กันไว้ดีกว่าแก้ พบหมอฟันทุก 6 เดือน

หมั่นไปพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้โรคเหงือกและฟันลุกลามรุนแรง โดยเฉพาะกับปัญหาโรคเหงือก ที่มักไม่แสดงอาการชัดเจนเหมือนโรคฟัน จึงอาจทำให้รักษาช้า”

อย่าปล่อยให้ปัญหาเหงือกและฟันทำชีวิตสะดุด แค่ปรับไลฟ์สไตล์การดูแลเหงือกและฟันอีกนิด รับรองว่าฟันสวย เหงือกแข็งแรงจะไม่หนีหายไปไหนค่ะ

ข้อมูลจาก คอลัมน์ชีวจิต+ นิตยสารชีวจิต

 

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.