พุทธมณฑล ศูนย์กลางการปฏิบัติธรรม
พุทธศาสนิกชนไทยส่วนใหญ่รู้จัก “พุทธมณฑล” ในฐานะศูนย์กลางทางพุทธศาสนาที่สำคัญในประเทศไทย แต่น้อยคนนักที่รู้ว่าที่นี่จัดปฏิบัติธรรมฟรีทุกเดือน
พุทธมณฑล สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2498 เพื่อเป็นพุทธานุสรณียสถานในวโรกาสมหามงคลที่พระพุทธศาสนาจะเวียนมาบรรจบครบ 2,500 ปีในปี พ.ศ. 2500 ในการนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่ก่อสร้างองค์พระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล
ต่อมาการจัดสร้างพุทธมณฑลหยุดชะงักไประยะหนึ่งจนกระทั่งปี พ.ศ. 2521 คณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ มีมติมอบหมายให้กรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการรับงานจัดสร้างพุทธมณฑลจากกระทรวงมหาดไทยมาดำเนินการจนแล้วเสร็จ
ปัจจุบันสำนักงานพุทธมณฑลเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีโดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการอนุรักษ์และพัฒนาพุทธมณฑลฝ่ายสงฆ์ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการอนุรักษ์และพัฒนาพุทธมณฑลฝ่ายฆราวาส
แนวทางปฏิบัติ
ตามหลักมหาสติปัฏฐาน 4 มีกาย เวทนา จิต และธรรม พร้อมใช้บทภาวนา คือ พองหนอ ยุบหนอ ยกหนอและย่างหนอ ในการเดินจงกรม โดยมีพระวิปัสสนาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นผู้ชี้แนะและฝึกอบรม
ระเบียบปฏิบัติ
- ปฏิบัติธรรมฟรี
- สวมใส่ชุดขาวหรือชุดปฏิบัติธรรม
- เครื่องใช้ในการดูแลสุขอนามัยพื้นฐาน
โดยปราศจากเครื่องหอม (ถือศีล 8)
- ปิดวาจา
- ห้ามใช้เครื่องมือสื่อสารทุกชนิด
กิจวัตรปฏิบัติ
หลังจากเดินทางถึงพุทธมณฑล ผู้ปฏิบัติธรรมต้องลงทะเบียนที่อาคารพิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศาสนา แล้วเก็บสัมภาระเข้าที่พักที่ธรรมบริกรจัดเตรียมไว้ให้ จากนั้นเปลี่ยนเป็นชุดขาวสำหรับปฏิบัติธรรม สมาทานกัมมัฏฐาน พร้อมปิดวาจาตลอดระยะเวลา 3 หรือ 5 วันของการปฏิบัติธรรม
ผู้ปฏิบัติธรรมจะได้ร่วมนั่งสมาธิและเดินจงกรมตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ โดยรอบพุทธมณฑล เช่น ลานต้นพระศรีมหาโพธิ์ ลานต้นสาละ วิหารพุทธมณฑล สังเวชนียสถานจำลอง เป็นต้น จากนั้นร่วมบำเพ็ญจิตตภาวนา พร้อมรับฟังธรรมบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตประจำวัน เช่นนี้ทุกวันจนจบคอร์สปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรมมอบความสุขและความสงบให้ชีวิตได้อย่างยั่งยืน
สำนักงานพุทธมณฑล
เลขที่ 25/25 หมู่ 6 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
โทร. 0-2441-9801 - 3 ต่อ 3313 และ 3320 ติดตามได้ที่ www.onab.go.th
เรื่อง ชลธิชา แสงใสแก้ว ภาพ วรวุฒิ วิชาธร
บทความที่น่าสนใจ
บ้านภูตะวัน ธรรมะท่ามกลางขุนเขา ณ จังหวัดนครราชสีมา
วัดพระแก้ว เชียงราย พุทธศิลป์ล้านนา ตำนานพระแก้ว
วัดกำแพงแลง โบราณสถานเปี่ยมศรัทธา เมืองเพชรบุรี