วิธีรับมือ จัดการ และอยู่ร่วมกับ เพื่อนร่วมงาน นิสัยไม่ดี เพื่อการทำงานที่มีความสุข
เพื่อนร่วมงาน คือบุคคลที่เราแทบทุกคนต้องพบเจอเวลาที่ไปทำงาน หรือเข้าออฟฟิศ ถ้าได้เจอเพื่อนร่วมงานดีๆ การทำงานก็มีความสุข และมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าต้องเจอกับ เพื่อนร่วมงาน นิสัยไม่ดี จะมีวิธีจัดการและรับมือกับเพื่อนร่วมงานแบบนี้ เพื่อที่จะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพได้อย่างไรบ้าง ไปค้นหาคำตอบพร้อมๆ กันเลยค่ะ
::: เพื่อนร่วมงานขี้โมโห ขี้เหวี่ยง อารมณ์ฉุนเฉียว เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย :::
เพื่อนร่วมงานลักษณะนี้ทำให้คนรอบข้างไม่กล้าเข้าใกล้ ไม่กล้าสนิทสนม คุยเล่น หยอกล้อด้วย เพราะไม่แน่ใจว่าคุณเธอจะโมโห โกรธเกรี้ยวเรื่องใดขึ้นมาเมื่อไหร่ ทำให้การทำงานของคุณในแต่ละวันและแต่ละชั่วโมงตั้งอยุ่บนความไม่แน่นอน พาลจะทำให้บรรยากาศการทำงานไม่น่าสนุกเอาเสียเลย
วิธีการรับมือกับเพื่อนร่วมงานที่มีนิสัยเช่นนี้ ลองเริ่มจากการสังเกตอารมณ์โมโหของเขา ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่บ้าง เช่น เกิดขึ้นทุกครั้งที่ถูกหัวหน้าตำหนิ โดนต่อว่า ถูกกดดัน เครียด งานเร่ง ทำไม่ทัน อากาศร้อน หิวข้าว ง่วงนอน อยู่ในช่วงมีประจำเดือน หรือเพราะสาเหตุใด
หลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวปฏิสัมพันธ์ในช่วงเวลาที่เพื่อนร่วมงานคนนี้ดูเริ่มอยู่ในอารมณ์คุกรุ่น พูดคุยเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาให้น้อยที่สุด หลีกเลี่ยงประเด็นที่อ่อนไหว
หากเพื่อนร่วมงานดูมีโอกาสที่จะอารมณ์เสียขึ้นมาอีก รอให้เขาสงบลงแล้วค่อยพูดคุยด้วย หลีกเลี่ยงการพูดคุยหยอกล้อในประเด็นที่อ่อนไหวสำหรับเพื่อนร่วมงานคนนี้ เช่น เรื่องรูปร่าง เรื่องแฟน ฯลฯ หากจำเป็นต้องพูดคุยในระหว่างที่เพื่อนร่วมงานกำลังอารมณ์ไม่ดี หรือจู่ๆ เพื่อนร่วมงานก็อารมณ์เสียขึ้นมาในขณะที่พูดคุยกัน ให้พูดคุยเฉพาะเรื่องงานเท่าที่จำเป็น รีบคุยให้จบ แล้วรีบปลีกตัวออกมา
หากทำเช่นนี้แล้ว คุณยังโดนเพื่อนร่วมงานคนนี้เหวี่ยงใส่อีก ก็ขอให้พยายามนิ่งเฉย อย่าต่อความยาวสาวความยืด เพราะจะยิ่งทำให้เรื่องบานปลายเข้าไปอีก
หากอารมณ์ที่รุนแรง ขี้โมโหนี้ส่งผลบานปลายจนทำให้การทำงานของคุณหรือการทำงานของทั้งทีมต้องหยุดชะงัก ติดขัด มีปัญหา ทำให้ผลงานไม่มีประสิทธิภาพ คุณควรแจ้งไปยังหัวหน้า เจ้านาย หรือผู้บังคับบัญชาให้ทราบเรื่อง เพื่อที่จะสามารถหาทางแก้ปัญหาร่วมกันได้
::: เพื่อนร่วมงานขี้นินทา :::
ระมัดระวังการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานที่ขี้นินทา อย่าให้ข้อมูลสำคัญหรือเล่าความลับส่วนตัวให้เพื่อนร่วมงานคนนี้ฟัง
พึงจำไว้เสมอว่า หากเขานินทาคนอื่นให้คุณฟังได้ เขาก็สามารถนินทาคุณให้คนอื่นฟังได้เช่นกัน
หากมีความจำเป็นต้องพูดคุยกัน พูดคุยเฉพาะเรื่องงานที่สำคัญ หากเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่ใช่เรื่องงานก็เล่าเฉพาะเรื่องที่เราสามารถเปิดเผยได้ หากถูกนำไปพูดถึงต่อก็ไม่เป็นไร และที่สำคัญคือ “ห้ามนินทาคนอื่นให้เพื่อนร่วมงานคนนี้ฟังเด็ดขาด” เพราะเขาอาจนำสิ่งที่คุณพูดไปเล่าต่อในทางที่ผิดๆ ได้ รวมถึงพยายามหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็น ตำหนิ ต่อว่า หรือนินทาซ้ำในเรื่องที่เขานำมานินทาให้เราฟัง เพื่อป้องกันไม่ให้เขาเหมารวมว่าคุณเห็นด้วยกับการนินทาของเขา
::: เพื่อนร่วมงานขี้ฟ้อง หักหลัง แทงข้างหลัง :::
เพื่อนร่วมงานบางคนก็มีความสามารถในการจ้องจับผิด และนำความผิดของผู้อื่นไปฟ้องหัวหน้าหรือเจ้านาย หากความผิดนั้นเป็นความผิดที่เราทำจริง เช่น อู้ในเวลางาน แอบหนีเที่ยวในระหว่างเวลางาน เข้าทำงานสายแต่เซ็นชื่อว่ามาตรงเวลา ขโมยผลงานของคนอื่น ฯลฯ หากคุณทำความผิดเช่นนี้จริง ก็ต้องยอมรับความจริงนั้น และพยายามปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้น
แต่ถ้าเรื่องที่นำไปฟ้องนั้นไม่ใช่ความจริง คุณสามารถอธิบายความจริงให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ และหัวหน้าฟังได้ เพื่อที่คนอื่นจะได้ทราบว่าความจริงเป็นเช่นไร
ทำงานให้ดีที่สุด มีลายลักษณ์อักษร มีพยานชัดเจน เพื่อเป็นการปกป้องตนเอง อุดช่องโหว่และข้อบกพร่องที่จะเปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมงานนำไปฟ้องหัวหน้าหรือเจ้านายได้
หลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานคนนี้ ตั้งใจทำงาน ทำผลงานออกมาให้ดีจนเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าคุณคือคนที่ตั้งใจทำงานจริง ไม่ได้เป็นอย่างที่เพื่อนร่วมงานคนนี้ฟ้องหรือปล่อยข่าวลือในทางที่ผิด
::: เพื่อนร่วมงานขโมยผลงาน :::
เพื่อนร่วมงานประเภทนี้เป็นเพื่อนร่วมงานที่สร้างความลำบากใจให้กับใครหลายคน เพราะนอกจากจะทำให้การทำงานร่วมกันไม่มีความสุขแล้ว ยังทำให้คนทำงานรู้สึกเสียกำลังใจเพราะโดนขโมยผลงานที่ทุ่มเทตั้งใจทำมาโดยตลอดอีกด้วย
คุณสามารถแก้ปัญหาเพื่อนร่วมงานประเภทนี้ได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัย บุคลิกของคุณ วัฒนธรรมองค์กร ความสัมพันธ์ในออฟฟิศ ที่ทำงาน และลักษณะนิสัยของหัวหน้าหรือเจ้านายของคุณด้วย
ผลงานของคุณทุกชิ้น ควรมีการรายงานความคืบหน้าให้หัวหน้าหรือเจ้านายรับทราบ มีการเก็บหลักฐานการทำงาน จดบันทึกเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มีการ forward หรือ reply ข่าวสารต่างๆ ให้หัวหน้าและผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบอยู่เสมอ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการทำงานของคุณ
คุณอาจต้องรายงานให้หัวหน้าหรือเจ้านายทราบพฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานคนนี้บ้าง เพื่อที่จะได้หาทางป้องกัน และเป็นการแจ้งเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาทราบเอาไว้บ้าง และถ้าจำเป็น คุณอาจต้องลองพูดคุยตรงๆ กับเพื่อนร่วมงานคนนี้ดูบ้าง ถึงเหตุผลที่เขาทำพฤติกรรมเช่นนี้ ลองถามเขาว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมจึงทำเช่นนี้ แสดงความคิดเห็น และเสนอแนะทางออกให้เขา เผื่อว่าหากเกิดความเข้าใจผิดกัน จะได้เข้าใจกันมากขึ้นค่ะ
เตรียมพร้อมรับมือกับเพื่อนร่วมงานนิสัยไม่ดี หาทางแก้ไขปัญหา หาทางออกร่วมกัน และโฟกัสที่ผลงานเป็นหลัก เพื่อความสุขและประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีกันนะคะ
บทความที่น่าสนใจ
5 วิธีรับมือ เพื่อนร่วมงานขี้เหวี่ยง
เคล็ดลับจัดการ เพื่อนร่วมงานนิสัยไม่ดี “น่ายี้” ทั้ง 5 สไตล์