ผื่นคันตามตัว คือผื่นแพ้จากความชื้นสะสมหรือไม่ รู้ได้อย่างไร
ผื่นคันตามตัว ที่หลายคนเป็นอยู่ อาจมีได้หลากหลายสาเหตุ และสาเหตุหนึ่งที่ แพทย์จีนนภษร แสงศิวะฤทธิ์ คอลัมนิสต์ประจำนิตยสาร ชีวจิต จะมาแนะนำในวันนี้ ก็คือ ผื่นคันผื่นแพ้จากความชื้นสะสม
ปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วย 10 คน จะมีภาวะความชื้นสะสมอยู่ถึง 9 คน ถือเป็นจำนวนที่สูงมากทีเดียว ซึ่ งถ้าความชื้นสะสมเกิดขึ้นแล้ว การกำจัดออกจะแสนยาก ดังคำกล่าวในคัมภีร์การแพทย์แผนจีนว่า
“ความเย็นที่สะสมอยู่ปริมาณเป็นพันยังขับออกง่ายกว่าความชื้นที่สะสมอยู่เพียงแค่หนึ่ง”
โดยความชื้นที่มีลักษณะเหนียวข้นก็ไม่ต่างไปจากน้ำมันที่สะสมอยู่ภายในร่างกาย ทั้งยังก่อผลเสียต่อสุขภาพอย่างมหันต์
เช็กอาการจากความชื้นสะสม
หากมีภาวะความชื้นสะสมในร่างกายมักก่ออาการผิดปกติ เช่น
1. รู้สึกว่าหนักตัว หนักหัว ไม่อยากขยับตัวหรือเคลื่อนไหวตัว
2. มีเสมหะ น้ำลายเหนียว ปัสสาวะขุ่น ถ่ายเหลวเหนียวไม่เป็นก้อน
3. มีฝ้าบนลิ้นหนาเหนียว ถ้าร่างกายเย็น ฝ้าบนลิ้นจะเป็นสีขาวหรือดำ ถ้าร่างกายร้อน ฝ้าบนลิ้นจะเป็นสีเหลือง
4. หากความชื้นสะสมอยู่ในร่างกายนานๆอาจเกิดผดผื่นคัน มีอาการแพ้ง่าย มีกลิ่นเท้า
5. มีผื่น แผลติดเชื้อ เป็นหนองในร่มผ้าหรืออวัยวะเพศ และตกขาวในผู้หญิง
6. ปวดเมื่อยตามข้อ โดยเฉพาะเมื่อฝนตก อาการจะหนักขึ้น ในผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ พลังลมปราณและเลือดน้อย บางรายมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย ถึงขั้นแค่ได้กลิ่นอาหารที่มันๆคาวๆ ก็รู้สึกคลื่นไส้อาเจียน
4 เทคนิคขับความชื้นด้วยตนเอง
มีเทคนิคขับความชื้นด้วยตนเองมาแนะนำดังนี้
1. งีบช่วงพักกลางวัน คลายความอ่อนล้า การงีบในช่วงพักกลางวันหรือพักเบรกจะช่วยผ่อนคลายความอ่อนเพลีย เมื่อยล้าที่พร้อมจะจู่โจมพลังลมปราณและเลือดของเราได้ทุกเมื่อ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความชื้นสะสมอยู่ภายในร่างกายและร่างกายไม่มีแรงที่จะขับออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ใช้ชีวิตกลางคืน กินอาหารมื้อดึก ทำงาน รอบดึก ทำให้พักผ่อนนอนหลับไม่เพียงพอ การงีบหลับในตอนกลางวันจึงเป็นสิ่งสำคัญ
2. กัวซาแผ่นหลังเพื่อขับความชื้นระบายความร้อน แผ่นหลังช่วงบน 1/3 เป็นบริเวณที่ถูกลมกระทบได้ง่าย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นหวัดและปวดเมื่อย ดังนั้นการกัวซา บริเวณเส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะที่ 1 และ 2 ซึ่งอยู่บริเวณ ด้านข้างถัดจากกระดูกสันหลังแนวกลางลำตัวออกมา 1.5 และ 3 ชุ่น (นิ้ว) โดยทาน้ำมันหรือยาหม่องก่อนแล้วขูดจากต้นคอลงมา ถึงบั้นเอวส่วนล่าง เส้นละ 5 – 8 ครั้ง นับเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยขับ ความชื้นระบายความร้อนได้ง่ายๆด้วยตนเอง
3. กินอาหารบำรุงม้ามและขับปัสสาวะ ควรกินอาหารที่มีสรรพคุณในการบำรุงม้ามและขับปัสสาวะ เช่น
• ลูกเดือย เป็นอาหารย่อยง่าย ลดภาระของกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ ช่วยบำรุงม้าม ขับความชื้น เสริมการทำงาน ของไต สามารถหุงกินแทนข้าวได้เลย
• ถั่วแปบ ช่วยบำรุงร่างกาย แก้อ่อนเพลีย ลดไข้ แก้อาการ แพ้ นำมาต้ม ผัด ทำแกงส้มก็อร่อย
• ผักโขมจีน ชาวจีนนิยมกินผักโขมในฤดูร้อนเพื่อช่วยลดความร้อนและขับความชื้นในร่างกาย ใช้รากรักษาอาการหวัดและ ขับปัสสาวะ จะนำมาผัด ต้มกิน หรือใส่ในสุกี้ก็ได้
4. ลดการกินเกลือเพื่อบำรุงไต ขับสารน้ำการขับสารน้ำอาจทำได้โดยลดการกินเค็ม ลดปริมาณเกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรส ในการปรุงอาหาร เพื่อลดภาระของไตในการขับสารน้ำ ซึ่งถ้าหากไตอ่อนแอ ทำงานไม่ปกติ ปริมาณโซเดียมในเลือดจะมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะบวมน้ำตามมา
ลองเช็กอาการและปรับเปลี่ยนวิธีดูแลสุขภาพของตัวเองกันนะคะ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ภูมิแพ้ผิวหนัง โรคพบบ่อยเมื่อสภาพอากาศแย่