ตากระตุก ในวัยทำงาน อันตรายหรือไม่
บทความนี้ ผู้เขียนขอยกคำถามสุขภาพจากทางบ้าน ที่ถามเข้ามาในคอลัมน์ เปิดบ้านชีวจิตโฮม นิตยสารชีวจิต เกี่ยวกับอาการ ตากระตุก ติดต่อกันหลายวัน ในวัยทำงาน และมีแนวโน้มว่าอาการจะแย่ลง มาดูว่าผู้เชี่ยวชาญของเรา นายแพทย์สมาน ตั้งอรุณศิลป์ จะแนะนำอย่างไรกันค่ะ
Q : ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์มาสิบกว่าปี ระยะหลังมักมีอาการหนังตากระตุก บางครั้งกระตุกต่อเนื่องกันนาน 2-3 วัน จนรู้สึกว่าหนังตาตก อาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อทำงานหนัก เครียด หรือนอนดึก อยากทราบว่าเป็นเพราะอะไร (รุจิรา มงคลสุข อายุ36 ปี)
A : อาการหนังตากระตุกเกิดขึ้นได้จากความเครียดและการป่วยเป็นโรคหน้ากระตุกครึ่งซีก (Hemifacial Spasm) ผมคิดว่าอาการของคุณรุจิรา เกิดจากความเครียด เพราะเป็นเพียง 2-3 วัน และสามารถหายเองได้
นอกจากนี้คุณรุจิรายังทำงานที่ต้องนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้กล้ามเนื้อตาอ่อนล้า เมื่อกล้ามเนื้อล้า เส้นประสาท บริเวณนั้นจะสั่นหรือเต้นเองโดยอัตโนมัติ หากพักผ่อน กล้ามเนื้อจะคลายตัวและหยุดสั่นไปเอง หากอาการตากระตุกเป็นไม่รุนแรงและหายเองได้ ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นโรคหน้ากระตุกครึ่งซีก
เพราะโรคนี้อาการตากระตุกจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนเป็นถาวรและลุกลามไปถึงมุมปาก โรคนี้ไม่ใช่โรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก่อความรำคาญและทำให้เสียบุคลิกภาพ เพราะเมื่ออาการรุนแรงถึงขั้นสุดท้ายหนังตาจะปิดและปากเบี้ยว สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ระบุแน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากเส้นเลือดกดทับเส้นประสาทคู่ที่ 7 ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้า
ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด มีเพียงการรักษาเพื่อช่วยบรรเทาอาการ คือ การผ่าตัดแยกเส้นเลือดออกจากเส้นประสาท ซึ่งอาจส่งผลข้างเคียงให้ใบหน้าเบี้ยวได้ นอกจากโรคหน้ากระตุกครึ่งซีกแล้ว อาการตากระตุกรุนแรงยังเป็นหนึ่งในอาการลมชักด้วย
ดังนั้น ถ้าสังเกตตัวเองแล้วพบว่ามีอาการรุนแรงขึ้นโดยที่ไม่สัมพันธ์กับความเครียด ควรพบแพทย์เฉพาะทาง
ผ่อนคลายกล้ามเนื้อดวงตา
ทุกหนึ่งชั่วโมง คนวัยทำงานควรละสายตาจากคอมพิวเตอร์มาบริหารดวงตาด้วยท่าบริหารตาง่ายๆ ดังนี้
1. มองวัตถุที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดและค่อยๆเลื่อน สายตาไปมองวัตถุที่อยู่ไกลๆ หรือถือดินสอบริเวณหว่างคิ้ว มองที่ปลายดินสอ แล้วค่อยๆเลื่อนมือออกไปจนสุดแขน ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง
2. กลอกตาซ้าย-ขวาไปมา ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง
เยียวยาเบื้องต้น
หากคุณรุจิรามีอาการตากระตุกอีก ผมแนะนำให้ทำ ดังนี้ครับ
1. ผ่อนคลายร่างกาย แนะนำให้คนที่จ้องคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานผ่อนคลายอิริยาบถทุกๆหนึ่งชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้พักและลดอาการตึงเกร็งของกล้ามเนื้อ หากเป็นไปได้ควรบริหารกล้ามเนื้อตาด้วย
2. ผ่อนคลายอารมณ์ เมื่อเราสบายใจ ไม่วิตกกังวลหรือโมโห ระดับความดันเลือดจะไม่สูงขึ้น จำไว้เลยว่า เมื่อใดก็ตามที่เครียด หัวใจจะเต้นแรง เลือดสูบฉีดแรง และเส้นเลือดจะได้รับการกระตุ้น รวมไปถึงเส้นเลือดที่อยู่บริเวณเส้นประสาทคู่ที่ 7
3. กินอาหารให้ถูก อาหารที่มีประโยชน์ช่วยรักษาระดับความดันเลือดและเพิ่มภูมิชีวิตให้ร่างกาย
4. กินยาคลายกล้ามเนื้อ หากรู้สึกรำคาญ เบื้องต้นแนะนำให้กินยาคลายกล้ามเนื้อ แต่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ หากมีอาการมากขึ้นควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพูดคุยถึงวิธีการรักษาต่อไป
ขอขอบคุณ
นายแพทย์สมาน ตั้งอรุณศิลป์
อดีตประสาทศัลยแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา
กรมการแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทประจำชีวจิตโฮมคลินิก