วิธีคลายเครียด แก้วิตกกังวล ในโลกแห่งความวุ่นวาย
เคยอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้ไหมคะ เลิกงานแล้วแต่เจ้านายจะเอางาน ลูกค้าเรื่องเยอะ เพื่อนร่วมงานไม่โอเค กำลังไปสมัคร สอบแข่งขัน หรือเจอเหตุการณ์ต่างๆนาๆ ที่ทำให้วิตกกังวลปลงไม่ตก เรามี วิธีคลายเครียด คลายกังวัล ให้คนอย่างพวกคุณโดยเฉพาะเลยค่ะ
นี่แหละเรียกอาการวิตกกังวล
อาการวิตกกังวล (anxiety) เกิดจากปฏิกิริยาหลั่งสารอะดรีนาลินในร่างกาย เป็นความรู้สึกกังวลและพะวักพะวน ซึ่งโดยทั่วไปสามารถเกิดได้ชั่วคราว เช่น มีนัดสัมภาษณ์ครั้งสำคัญ หรือการสอบ แต่ความกังวลอาจกลายเป็นปัญหา หากกังวลเกินไปโดยหาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้
นอกจากนี้ยังเกิดจากการได้รับสารกาเฟอีนมากเกินไป หรือใช้ยาลดความอ้วน ยาสเตียรอยด์ หรือยาปฏิชีวนะ อื่นๆ รวมถึงผู้หญิงที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือน หรือคนที่เป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ก็อาจทำให้มือไม้สั่นได้
อย่างไรก็ตาม แม้ความกังวลจะเกี่ยวกับสภาวะทางอารมณ์โดยตรง แต่สามารถทำให้เกิดอาการทางกายได้ เช่น ปวดศีรษะบ่อย ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อ อาหาร ไม่ย่อย ท้องเสีย นอนไม่หลับ กล้ามเนื้อเกร็งตัว เวียน ศีรษะ และมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะบ่อย
ในบางรายรู้สึกเบื่ออาหาร ปากแห้ง หายใจไม่ออก และ อ่อนเพลีย นอกจากนี้ยังอาจมีอาการตื่นกลัวร่วมด้วย เช่น เหงื่อแตก กระสับกระส่าย และกระวนกระวาย
โดยทั่วไปอาการจะหายไปเองเมื่อสาเหตุที่ทำให้กังวลหมดไป แต่ในบางรายอาจมีอาการติดต่อกันยาวนานเป็นปี อาการแบบนี้เรียกว่า ความวิตกกังวลเรื้อรัง เมื่อเป็นหนักขั้นรุนแรงอาจก่อให้เกิดอาการหมดอาลัยตายอยาก นอนไม่หลับ และมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่เกิดร่วมกับ ความเครียด ด้วย เช่น ไมเกรน
พฤติกรรมบำบัดอาการกังวล
สำหรับใครที่มีปัญหาเรื่องวิตกกังวล เรามีวิธีปรับพฤติกรรมประจำวันเพื่อคลายอาการดังกล่าวมาฝากค่ะ
1. ฝึกควบคุมการหายใจ เช่น หายใจเข้าทางจมูก ทั้งสองข้างช้าๆ ลึกๆ และผ่อนลมหายใจออกช้าๆ ทางปาก ฝึกทำบ่อยๆ
2. ฝึกโยคะและไทเก๊ก จะช่วยให้เกิดความสงบ โดย จะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างกายและใจ โยคะจะช่วย พัฒนาการหายใจให้ลึกและช้า ที่สำคัญ ทำให้เกิดสมาธิ
3. ควบคุมอาหาร ในบางรายพบว่าอาหารบางชนิดกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวล ซึ่งอาจเกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ หรือปฏิกิริยาไวต่อสารผสมในอาหาร ดังนั้นเราควรบันทึกรายชื่ออาหารเหล่านี้ไว้ และงดอาหารดังกล่าว
4. คิดบวก มองตัวเองในแง่ดี คิดหาทางแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และช่วยเหลือผู้อื่นที่กำลังเดือดร้อน จะทำให้รู้สึกว่าปัญหาของเรานั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย
5. ทุ่มเทกับสิ่งที่ทำอย่างเต็มที่ ควรจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำในปัจจุบัน อย่าฝังใจในอดีต และอย่ากังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
สมุนไพรคลายวิตกกังวล
อย่ามองข้ามชาสมุนไพรไทยเชียวค่ะ เพราะสามารถช่วยให้อาการวิตกกังวลสงบลงได้ ดังนี้
สะระแหน่ เด็ดใบแก่มาตากแห้ง ทำเป็นชาชงดื่ม จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
ลำไย มีสรรพคุณช่วยคลายเครียด ใจสั่น นอน ไม่หลับ หลงลืม และกระสับกระส่าย โดยนำเนื้อลำไยแห้ง ประมาณ 5 – 10 กรัม เติมน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ แล้วเคี่ยวจนเหนียวข้น กินวันละ 2 ครั้ง
ขี้เหล็ก มีสรรพคุณในการลดอาการวิตกกังวล ความเครียด และอาการนอนไม่หลับ โดยใช้ใบขี้เหล็กแห้งประมาณ 30 กรัม หรือใบสด 50 กรัม ต้มเอาแต่น้ำดื่มก่อนนอน
คาโมมายล์ ดื่มชาสมุนไพรคาโมมายล์ก่อนนอน จะช่วยให้ผ่อนคลายและหลับสบาย
ผ่อนคลายด้วยน้ำมันหอม
พอจิตใจไม่สบายก็มักทำโน่นทำนี่ผิดพลาด ยิ่งถ้าต้องรับมือกับงานสำคัญแล้วเกิดวิตกกังวลจนเสียงาน อะไรๆ ยิ่งแย่ไปกันใหญ่ มาผ่อนคลายกายใจด้วยน้ำมันหอมตามธาตุเจ้าเรือน ดีกว่า
ธาตุเจ้าเรือนดิน ใช้กลิ่นพัทชุลี แฝกหอม มะลิ กระดังงา ไม้จันทน์
ธาตุเจ้าเรือนน้ำ ใช้กลิ่นลาเวนเดอร์ เจอราเนียม กระดังงา โหระพา มะลิ กำยาน
ธาตุเจ้าเรือนลม ใช้กลิ่นส้ม เปปเปอร์มิ้นต์ มะกรูด โหระพา ตะไคร้หอม มะนาวไทย
ธาตุเจ้าเรือนไฟ ใช้กลิ่นโรสแมรี่ ยูคาลิปตัส ขิง
ธาตุเป็นกลาง ใช้กลิ่นกุหลาบ
วิธีใช้
1. จะสูดดม หรือจะใช้เป็นน้ำมันนวดบริเวณคอ ไหล่ ขมับ หรือจะใช้ทาทั้งตัวก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถผสมไว้ แล้วใส่ขวดลูกกลิ้งเล็กๆ พกติดตัวไว้ใช้ในยามที่ต้องการ
2. ทำสเปรย์ ฉีดตามตัว ฉีดปรับอากาศ ผสมเป็น โลชั่นบำรุงผิว หรือจะผสมน้ำอุ่นแช่น้ำอาบก็ได้ค่ะ
วิตามิน…กินคลายเครียด
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการวิตกกังวล ลองกิน วิตามินบีรวม วิตามินซี เพื่อช่วยแก้เครียด หรือกินวิตามินอีเพื่อให้ระบบประสาทส่วนกลางทำงานดีขึ้น หรือจะกินเกลือแร่จำพวกแคลเซียม แมกนีเซียม สังกะสี
ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวเป็นอนุพันธ์ของกรดแอมิโนจะช่วยเพิ่มระดับสารเซโรโทนินในสมอง ซึ่งช่วยคลายอาการวิตกกังวลได้
TIP อาการวิตกกังวลที่ควรไปพบแพทย์
1. หายใจไม่สะดวก เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกอึดอัด
2. เวียนศีรษะ ไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้ หรือเป็นลม ใจสั่น มือสั่น และตัวสั่น
3. เหงื่อออกมาก รู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ รู้สึกชาหรือซ่า ที่มือและเท้า
4. คลื่นไส้และท้องไส้ปั่นป่วน กลืนอาหารลำบาก
5. กลัวว่าจะเสียสติ หรือกลัวว่ากำลังจะตาย
ข้อมูลอ้างอิง
คุณขนิษฐา ปานรักษา หัวหน้างานแพทย์แผนไทย กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลสมุทรสาคร
หนังสือมหัศจรรย์น้ำมันหอมระเหย
หนังสือความรู้เรื่องโรค
หนังสือบำบัดโรคด้วยการแพทย์ทางเลือก
หนังสือรักษาโรคด้วยวิธีธรรมชาติ
Alternative Medicine: The Definitive Guide