ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน โรคหัวใจ

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตราย ไร้สัญญาณเตือน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตราย ไร้สัญญาณเตือน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เกิดขึ้นได้ทุกเวลาโดยไม่มีสัญญาณเตือน และเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาทันที หากปล่อยไว้นานโอกาสรอดชีวิตจะลดลง โดยสามารถพบได้ทุกช่วงอายุและสามารถเกิดขึ้นได้ทุกสถานที่และทุกช่วงเวลา

“ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” คืออะไร

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติ จนไม่มีการบีบตัวหรือหยุดเต้นทันที โดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า เมื่อเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนี้ จะไม่มีการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้การทำงานของอวัยวะผิดปกติ ซึ่งอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการทำงานของสมอง เมื่อไม่มีเลือดมาเลี้ยงจะทำให้หมดสติ การช่วยเหลือจึงจำเป็นต้องทำอย่างทันท่วงที ซึ่งแตกต่างจากภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack)

หัวใจวาย หัวใจ โรคหัวใจ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

สาเหตุที่ทำให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากความผิดปกติของหัวใจโดยกำเนิดหรือสาเหตุภายนอกที่ทำให้หัวใจหยุดเต้นก็ได้ สำหรับผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันที่พบบ่อยได้แก่ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ ฯลฯ ส่วนผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 35 ปีส่วนใหญ่เกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาชนิดไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งภาวะนี้การออกกำลังกายเป็นตัวกระตุ้นให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ นอกจากนี้ก็ยังอาจเกิดจากภาวะเส้นเลือดหัวใจขาดเลือดในคนอายุน้อยหรือภาวะเส้นเลือดหัวใจผิดปกติโดยกำเนิด

อาการเตือน “แต่มักไม่ได้สังเกต”

 เหนื่อยง่าย
 อ่อนเพลีย
 แน่นหน้าอกเวลาที่มีภาวะเครียดหรือเวลาออกแรง

ประเมินความเสี่ยง ด้วยการทดสอบ

มีการตรวจหลายชนิดที่อาจจะประเมินความเสี่ยงได้

 การตรวจเลือด เช่น ระดับน้ำตาล, ไขมัน
 คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram)
 คลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram)
 การติดตามการเต้นหัวใจ (Holter Monitoring)

ทั้งนี้พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดีจะสามารถลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน รวมทั้งโรคหัวใจได้ เริ่มตั้งแต่การกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ดูแลรักษาโรคประจำตัว โดยเฉพาะเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง สุดท้ายควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

บทความโดย : นพ.ศาสตรา จารุรัตนานนท์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.