วิถีชีวิตชาวไทยวน เมืองสระบุรี ณ วัดจันทบุรี อำเภอเสาไห้
เสาไห้ เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสระบุรี ที่อยู่ใกล้อำเภอเมืองสระบุรีมากที่สุด (ประมาณ 7 กิโลเมตร) เลื่องชื่อในด้านประเพณีแข่งเรือยาว ผ้าทอ และข้าวสาร แต่เดิมอำเภอเสาไห้เป็นตัวเมืองสระบุรี เป็นชุมชนชาว “ไทยวน” หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์หลักในภาคเหนือของไทย ซึ่งเป็นประชากรหลักในภูมิภาคดังกล่าวจนเรียกกันว่า “คนเมือง”
ไทยวนมาจากไหน เหตุใดจึงอยู่สระบุรี
ประวัติความเป็นมาของชาวไทยวน หรือ ไตยวน มีกล่าวไว้ใน “ตำนานสิงหนวัศิ” เล่าว่า สิงหนวัศิกุมาร อพยพผู้คนและบริวารมาจากเมืองราชคฤห์ มาตั้งดินแดนอยู่แถบลุ่มน้ำโขงตอนกลาง สร้างบ้านเรือนอยู่ที่เชียงแสนราวต้นสมัยพุทธกาล เรียกดินแดนของตนว่า “โยนกนคร” เรียกชาวเมืองว่า “ยวน” ซึ่งเป็นเสียงเพี้ยนมาจากชื่อเมืองโยนก นั่นเอง
รัฐอิสระแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับอาณาจักรใหญ่ในยุคโบราณ ได้แก่ ขอม พุกาม และยูนนาน มีพัฒนาการอย่างรวดเร็วในพุทธศตวรรษที่ 17 ก่อนที่จะสถาปนาเป็นอาณาจักรล้านนา ในกาลต่อมา จนกระทั่งปี 2101 พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า นำทัพตีเมืองเหนือ และปกครองดินแดนล้านนาเป็นเวลานานถึง 200 ปี
ในปี 2347 ซึ่งเป็นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีบัญชาให้เจ้าพระยายมราช ยกทัพหลวงไปร่วมกับหัวเมืองฝ่ายเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ยึดเชียงแสนคืนจากพม่า หลังจากล้อมเมืองนาน 1-2 เดือน จึงตีเมืองเชียงแสนสำเร็จ และกวาดต้อนชาวเชียงแสนกว่าสองหมื่นคนให้ไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ โดยแบ่งเป็น 5 สายหลัก ประกอบด้วยเชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย ลำพูน และน่าน บางส่วนไปเวียงจันทน์ และส่วนหนึ่งเดินทางมาบางกอกเพื่อแปงเมืองใหม่ โดยอาศัยอยู่ริมแม่น้ำป่าสักทั้งสองฝั่งคือสระบุรี และอีกส่วนหนึ่งไปอยู่ราชบุรี
วิถีไทยยวนบนภาพจิตรกรรม
ชาวไทยยวนนิยมปลูกเรือนอยู่สองฝั่งริมแม่น้ำป่าสักซึ่งเป็นที่ลุ่มอุดมสมบูรณ์ ใช้ลำน้ำเป็นเส้นทางสัญจร หันหน้าบ้านออกสู่แม่น้ำ หลังบ้านเป็นทุ่งนา การปลูกสร้างบ้านเรือนก็ยึดแบบแผนดั้งเดิมจากเมืองบรรพชน เรือนไทยวนจึงคล้ายกับเรือนทางภาคเหนือ คือเป็นเรือนกาแลมีไม้ไขว้บนหลังคาหน้าจั่วของเรือน ส่วนบนผายออก เรียกว่า เรือนอกโตเอวคอด
สะท้อนภาพวิถีชีวิตของชาวยวนในยุคแรกอพยพมาสร้างบ้านแปงเมืองที่งดงามและชัดเจน คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์หลังเก่าของ วัดจันทบุรี ตั้งอยู่ใน ต.เมืองเก่า อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ปรากฏทั้งภาพเขียนและตัวอาคารที่เป็นแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 (แบบผสมผสานระหว่างศิลปะไทยกับจีน)
วัดจันทบุรี ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด (สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3) นามวัดนั้นสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า “จันทบุรีศรีสัตนาค” ซึ่งเป็นอีกนามหนึ่งของนครเวียงจันทน์ สอดคล้องกับการตั้งถิ่นฐานของชาวเวียงจันทน์ที่อพยพมาในสมัยรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 3 เพื่อมาแปงเมืองที่สระบุรี
ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านเรือนและผู้คนในยุคโบราณ การผูกเรือนแบบล้านนาหรือไทยวน หญิงชาวบ้านห่มผ้าเฉวียงบ่า นุ่งผ้าซิ่นยาว เกล้ามวย บางคนไว้ผมแบบลาว เด็กเปลือยกายไว้ผมจุก ผู้ชายนุ่งผ้า ห่มผ้าขาวม้าเฉวียงบ่าขณะทำบุญ ไว้ผมทรงฝาละมี (โกนรอบศีรษะ เหลือเฉพาะบริเวณกระหม่อม) ซึ่งเป็นทรงผมที่นิยมกันในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
เป็นรอยอดีตที่มีคุณค่ายิ่ง
ขอขอบคุณภาพและข้อมูล :
ชุมชนบ้านต้นตาล ต.ต้นตาล อ.เสาไห้ จ.สระบุรี
บทความน่าสนใจ
ชวนไหว้พระ-ทำบุญ สักการะหลวงปู่ไข่ วัดบพิตรพิมุข
ชวนไปส่องภาพจิตรกรรมโบราณสมัยอยุธยาตอนปลายที่ วัดไชยทิศ