มาลยา วิลลาร์ด-แอปโปลอน หัวใจของ นักสู้ เพื่อผู้หญิงที่ถูกข่มขืน
มาลยา เธอเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศจากชายที่ไม่ใช่สามี จากเหตุการณ์ในวันนั้น เธอจึงกลายเป็นหญิงเกร่งที่ลุกขึ้นสู้ เป็น นักสู้ เพื่อผู้หญิง
0
เมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 2010 เกิดแผ่นดินไหวที่เฮติ โศกนาฏกรรมครั้งนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า
316,000 คน บาดเจ็บ 300,000 คน และทําให้ประชาชนอีก1.3ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย…ถ้าจะบอกว่าความสูญเสียนี้คือฝันร้าย นั่นก็เป็นเพียงฝันร้ายที่เพิ่งเริ่มต้นของผู้หญิงชาวเฮติอีกหลายร้อยหลายพันคนเท่านั้น
0
ตอนเย็นของวันที่เกิดแผ่นดินไหวชายกลุ่มหนึ่ง พร้อมอาวุธปืนบุกเข้ามาในบ้านของไดอะน่า และฉุดหลานสาว วัย 19 ปีไปข่มขืน
0
สามวันหลังเกิดแผ่นดินไหวขณะที่แอลวานากําลังนอนหลับอยู่ข้างถนนเคียงข้างลูกน้อยทั้งสองคนของเธอ ชายกลุ่มหนึ่งปรากฏตัวขึ้นกลางดึกและฉุดเธอไปข่มขืน
0
เดือนมีนาคมปีนั้นเกอร์ลีนและลูกสาววัย 13 ปีก็ถูกกลุ่มชายสวมหมวกบุกเข้ามาข่มขืนถึงในบ้าน แต่
ลูกสาวเธอหวาดผวาจนไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้
0
เนิ่นนานมาแล้ว…การข่มขืนเกิดขึ้นบ่อยมากในเฮติ แต่หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว การข่มขืนยิ่งเกิดถี่ขึ้น เหยื่อถูกเลือกไม่ต่างจากสินค้าในตลาด ไม่มีใครถูกทําร้ายถึงตาย เพราะคนร้ายเชื่อว่าไม่มีเหยื่อคนไหนกล้าแจ้งความ ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นเช่นนั้น
0
ไดอะน่า แอลวานา และเกอร์ลีนได้พบกับมาลยา วิลลาร์ด-แอปโปลอน (Malya Villard-Appolon)
ในค่ายฉุกเฉิน ณ กรุงปอร์โตแปรงซ์ ที่นี่พวกเธอได้รับความช่วยเหลือและกําลังใจอย่างที่ไม่เคยได้รับจากที่ไหนมาก่อน
0
อันที่จริงมาลยาไม่ได้ให้ความช่วยเหลือฉันเพื่อนมนุษย์เท่านั้น แต่เธอเป็นมืออาชีพในด้านนี้เลยทีเดียว ตัวมาลยาเองเคยถูกข่มขืนถึงสองครั้ง ครั้งแรกเธอยอมปิดปากเงียบ แต่ครั้งที่สองสามีของเธอพยายามเข้ามาช่วยจนตัวเขาเองเสียชีวิต เหตุการณ์นี้ทําให้เธอรวบรวมความกล้านําเรื่องไปแจ้งตํารวจ แต่แล้วเธอก็ได้รู้ว่ากฎหมายของประเทศเธอให้ความคุ้มครองผู้หญิงน้อยมาก แม้แต่ตํารวจก็ยังดูหมิ่นเธอด้วยการพูดอย่างไม่ยี่หระว่า “ก็ผู้หญิงเดี๋ยวนี้สําส่อนจะตายไป”
0
ในปี ค.ศ. 2004 มาลยาและเพื่อน ๆ จึงร่วมกันก่อตั้งองค์กร KOFAVIV เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกข่มขืน ซึ่งได้ทําสําเร็จไปแล้วกว่า 4,000 ราย ในกรณีที่เหยื่อเพิ่งถูกข่มขืนมาลยาจะส่งพวกเธอไปโรงพยาบาลภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อเก็บหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ จากนั้นเธอจะจัดหาทนายให้
โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้องค์กรยังผลักดันให้แก้กฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืนเพื่อให้มีบทลงโทษอย่างจริงจัง และดําเนินคดีอย่างรวดเร็วขึ้น
0
ตอนที่เกิดแผ่นดินไหวเมื่อสามปีที่แล้ว ออฟฟิศคลินิกรวมทั้งบ้านของมาลยาในกรุงปอร์โตแปรงซ์ได้รับความเสียหายไปด้วย เธอจึงต้องใช้เต็นท์ในค่ายฉุกเฉินเป็นสํานักงานชั่วคราว มาลยาและกลุ่มของเธอทําได้เพียงรวบรวมอาสาสมัครผู้หญิงราว 60 – 70 คน และขอแรงจากผู้ชายจิตใจดีอีก 25 คนมาเป็นหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยในแคมป์ ทางกลุ่มพยายามรวบรวมคนดี ๆ เพื่อจัดเป็นหน่วยลาดตระเวนตอนกลางคืนพร้อมแจกไฟฉายและนกหวีดให้พวกผู้หญิง
0
วันนี้ปอร์โตแปรงซ์ยังคงเต็มไปด้วยเต็นท์ของผู้ไร้บ้าน คนที่เข้ามาอยู่ในแคมป์มีจํานวนเป็นหมื่นเป็นแสน เจ้าหน้าที่เพียงไม่กี่คนจึงไม่สามารถทําอะไรได้มากนัก กระนั้นสถานการณ์นี้ก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น เพราะตอนนี้ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนกล้าออกมาแจ้งความมากขึ้นแล้วมาลยาเล่าว่า
0
“ฉันพยายามบอกพวกเธอว่า อย่านิ่งเฉย อย่าอายที่ตก เป็นผู้เสียหาย…ฉันฝันว่าวันหนึ่งคนจะเลิกคิดว่าเฮติเป็นประเทศที่ผู้คนใช้ความรุนแรงต่อกัน สักวันหนึ่งเราจะพูดได้เต็มปากว่า เราเป็นประเทศที่ผู้คนปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ”
0
ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 112
ผู้เขียน/แต่ง : Violet
0
0
บทความน่าสนใจ