แพทย์แผนไทย ผักฤทธิ์เย็น

นักวิชาการชวนกิน ผักฤทธิ์เย็น เพื่อคลายร้อน

ผักฤทธิ์เย็น ดีต่อกาย ลดร้อน ดับไข้ ช่วงฤดูร้อน

ผักฤทธิ์เย็น จะช่วยลดความร้อนในช่วงซัมเมอร์บ้านเราที่อุณหภูมิสูงแตะ 40 องศา ได้อย่างไร เรามีนักวิชาการมาให้คำตอบ

รู้มั้ยว่า สภาพแวดล้อมในแต่ละฤดูกาล จะส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุลได้แตกต่างกัน หากปล่อยไว้นาน ร่างกายจะไม่สามารถปรับความสมดุลได้ด้วยตัวเอง(โดยปกติเมื่อมีปัจจัยที่ทำให้ร่างกายเสียสมดุล ร่างกายของเราจะปรับสมดุลด้วยตัวเอง ซึ่งทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ความสมดุลของร่างกายก็คือระบบภูมิคุ้มกัน)

เมื่อร่างกายเสียสมดุลก็จะแสดงอาการเจ็บป่วยออกมาให้เห็น ตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ หรืออาการโรคที่รุนแรง เช่น หอบหืด หรือโรคภูมิแพ้ หรือโรคเรื้อรังต่าง ๆ

แม้จะไม่มีความรู้เรื่องสมดุลของร่างกาย แต่ภูมิปัญญาพื้นบ้านก็จะช่วยให้เราคลายร้อนได้ เช่น ฤดูร้อน เราจะลดความร้อนด้วยการอาบน้ำ เปิดพัดลม หรือเปิดแอร์ ถ้าอากาศเย็นก็จะปรับตัวด้วยการห่มผ้า

อย่างไรก็ตาม การปรับสมดุลดังกล่าวยังรวมไปถึงการเลือกกินอาหารที่มีฤทธิ์เย็น เพื่อรักษาอุณหภูมิในร่างกายให้ไม่เสียสมดุลอีกด้วย

ผศ.พท.ป.แสงนภา ทองสา หัวหน้าสาขาวิชาการแพทย์บูรณาการ คณะการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี อธิบายว่า ฤดูร้อนของไทย ซึ่งอากาศจะมีความร้อนอบอ้าวมาก โดยความร้อนจากแสงแดดนี้จะกระตุ้นความร้อนภายในร่างกาย ทำให้ปิตตะ หรือธาตุไฟกำเริบ ร่างกายอาจแสดงออกโดยการมีความร้อนในร่างกายสูง เช่น เป็นไข้

ในทางการแพทย์แผนไทยจะแนะนำให้ใช้สมุนไพร หรือพืชผักพื้นบ้านที่มีฤทธิ์เย็น รสชาติขม เย็น และจืด เพื่อลดความร้อนในร่างกาย

ผลไม้ที่มีรสเย็น เช่น มันแกว พุทรา แอปเปิ้ล แตงโม เป็นต้น

ส่วนพืชผักที่มีรสเย็น เช่น ผักบุ้ง ผักตำลึง กะเฉด สายบัว

ส่วนผักที่มีรสขม ได้แก่ สะเดา มะระ มะเขือยาว กุยช่าย

ช่วงนี้ที่อากาศร้อนเช่นนี้ จึงควรมีพืชผักเหล่านี้รวมอยู่ด้วย เพื่อทำให้ร่างกายมีความเย็นเพิ่มมากขึ้น ขณะที่สมุนไพรรสขม อย่าง ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด รวมไปถึงน้ำใบย่านาง น้ำบัวบก ก็มีฤทธิ์เย็น มีสารสำคัญช่วยลดความร้อนได้เช่นกัน

สำหรับการกินพืชผักสมุนไพรฤทธิ์เย็นแบบที่เป็นอาหารปกติ จะไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่ถ้ากินแบบผงสมุนไพร หรือรูปแบบสารสกัด ต้องระมัดระวังในการใช้ โดยไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 5-7 วัน เพราะจะทำให้ร่างกายเย็นมากเกินไป จนเกิดอาการชาตามมือ และเท้าได้

นอกจากนี้ ในช่วงฤดูร้อน ยังต้องหลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดร้อน เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ กะเพรา พริกไทย เพราะจะกระตุ้นธาตุไฟในร่างกาย เพิ่มความร้อนในร่างกายให้มากขึ้น

หากต้องการต้มน้ำสมุนไพรดื่มดับร้อน ผศ.พท.ป.แสงนภา แนะนำให้ใช้สมุนไพรรสจืด เช่น ใบเตย ใบย่านาง ที่สามารถดื่มแทนน้ำเปล่าได้ แต่ไม่ควรใส่น้ำตาล ส่วนน้ำใบบัวบกไม่แนะนำให้ดื่มแทนน้ำ เพราะรสขมและมีสรรพคุณทางยาที่ควรดื่มเพียงวันละ 1-2 แก้วเท่านั้น

ที่มา ฟาร์มแคร์ ฟาร์มาซูติคอล / มติชนออนไลน์

นอกจากนี้ ชีวจิตยังมีเคล็ดลับดับร้อนแบบต่าง ๆ มาฝากอีกด้วย

5 เคล็ดลับ ใช้สมุนไพรไทยคลายร้อนในร่างกาย 

สมุนไพรไทย มีมากมายหลายชนิด ให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยสรรพคุณที่แตกต่างกันออกไป ประโยชน์ทางตรง คือ เป็นยารักษาโรค ช่วยป้องกันโรคภัยได้มากมายตามคุณประโยชน์เฉพาะตัวของสมุนไพรชนิดนั้น ๆ ส่วนประโยชน์ทางอ้อมคือ ช่วยดับกระหาย คลายร้อน ทำให้รู้สึกสดชื่น รสชาติอร่อย

ยิ่ง อากาศร้อน ๆ เช่นนี้ หลายคนอาจกำลังหาวิธีผ่อนคลายความร้อนกันสารพัดรูปแบบ บ้างหลบร้อนด้วยการไปเที่ยวทะเล หรือทาแป้งเย็นหลังอาบน้ำก็ยิ่งดี

แต่ถ้ายังไม่มีวิธีที่ถูกใจ เรามี 5 สมุนไพรไทยคลายร้อนมาฝากกันค่ะ บอกเลยว่าหารับประทานได้ง่าย ราคาไม่แพง หรือจะทำรับประทานเองก็ได้ นอกจากจะมั่นใจได้ว่าสด สะอาด ปลอดภัยแล้ว ยังได้รับคุณประโยชน์เต็มเปี่ยม ถือเป็นภูมิปัญญาไทยๆ ช่วยดับกระหายคลายร้อนได้ แล้วยังปลอดภัยไร้โรคอีกด้วยค่ะ

1.ผักและผลไม้ไทยรสขมหรือเย็น

ตามหลักของการแพทย์แผนไทยบอกไว้ว่า ฤดูร้อนธาตุไฟจะมาก ถ้าเราจะดับร้อนด้วยอาหาร ก็ต้องรับประทานอาหารที่มีรสขมหรือรสเย็นไม่ว่าจะเป็นพืชผักหรือผลไม้ก็ได้ นำมาปรุงเป็นอาหารหรือเครื่องดื่ม เช่น อาหารประเภทแกงจืด อาทิ แกงจืดฟักเขียว แกงจืดตำลึง แกงจืดมะระยัดไส้ ถือว่าเหมาะกับสภาพอากาศในช่วงนี้มากทีเดียว เพราะรสขมจะช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหารและช่วยลดอาการครั่นเนื้อครั่นตัวเพราะความร้อนได้ด้วย

2.ผักจิ้มน้ำพริกดับร้อน

ใครๆ ที่โปรดปรานน้ำพริกเป็นพิเศษ ก็อยากจะแนะนำว่า อย่าให้รสเผ็ดจัดมากนัก เพราะอาจร้อนยิ่งขึ้นได้ แต่หากชอบน้ำพริกจริงๆ ก็ต้องรับประทานแกล้มกับผัก ไม่ว่าจะเป็นแตงกวา แตงโมอ่อน ตำลึง ยอดแคลวก ส่วนคนที่นิยมรับประทานใบบัวบกสดๆ ให้นำมาคั้นเป็นเครื่องดื่มก็ยิ่งดี

3.ขนมหวานเย็นๆ แบบไทย

เป็นอาหารว่างในหน้าร้อนที่ดีอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะขนมจำพวกลออยแก้วต่างๆ เช่น กระท้อนลอยแก้ว ว่านหางจระเข้ลอยแก้ว นอกจากรสชาติอร่อยแบบไทยๆ แล้ว ยังชื่นใจ ช่วยคลายร้อนได้อย่างมาก สำหรับชาวชีวจิตเราแนะนำให้ใช้น้ำตาลทรายแดงมาปรุง และระวังอย่าให้หวานมาก

4.ดับกระหายด้วยน้ำดื่มหอมๆ

อาจจะนำดอกมะลิหอมๆ มาลอยน้ำดื่มได้ หรือหยดด้วยน้ำยาอุทัยยิ่งดี เพราะนอกจากจะมีกลิ่นหอมชื่นใจ ในน้ำยาอุทัยที่ดื่มๆ กันนั้นยังมีสมุนไพรไทยชื่อว่า “ฝาง” ที่มีสรรพคุณบำรุงโลหิต ทำให้เลือดเย็น แก้ท้องร่วง ธาตุพิการ แก้กระหายน้ำ ได้ดี

5.แก้ร้อนในด้วยฟ้าทลายโจร

อีกหนึ่งในสมุนไพรช่วยคลายร้อนที่อยากแนะนำคือ ฟ้าทลายโจร ซึ่งสามารถกินแก้ร้อนในได้ โดยมีวิธีกินง่ายๆ คือ นำใบมาล้างให้สะอาดใส่แก้วแล้วเทน้ำร้อนลงไป จิบน้ำอุ่น หรือรับประทนแบบแคปซูลก็ได้ จะขมน้อยกว่า แต่ถ้ามีแผลในปากร่วมด้วยควรใช้เสลดพังพอนตัวเมีย คั้นเอาแต่น้ำมาทา จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

ที่มา: นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 159

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ความดันและไขมันในเลือดสูง ปรับเปลี่ยน 3 อ (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) ไม่ง้อยา

การเดินส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่าการ วิ่งจ๊อกกิ้ง

เดิน ขึ้น-ลงบันได เร่งการเบิร์น ช่วยลดน้ำหนัก

ประโยชน์ของพริก เป็นยาอายุวัฒนะ ยืดอายุ ลดความเสี่ยงหัวใจ และโรคมะเร็ง 

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.