จากการสำรวจความสุขระดับชาติในแต่ละประเทศ พบว่า นอร์เวย์ และสวีเดน เป็นประเทศต้นแบบคุณภาพชีวิตของโลก ยืนยันโดยรายงานความสุขโลก (World Happiness Report) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งพบผลลัพธ์เดียวกัน
แกลลอปโพลล์สากล (Gallup poll) ให้ผู้คนให้คะแนนความสุขของตัวเองจาก 0-10จากการสำรวจผู้คน 3,000 รายจากแต่ละประเทศ เป็นเวลา 3 ปี พบคะแนนต่ำกว่า 3 ไปจนถึง 7.5 โดย 10 ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก มีคะแนนตั้งแต่ 7.28-7.6 มีสวิสเซอร์แลนด์เป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ แคนาดา ฟินแลนด์ เนเธอแลนด์ สวีเดน นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ขณะที่เม็กซิโกอยู่อันดับที่ 14 และสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับที่ 15
9 จาก 10 ประเทศในอันดับต้นๆ คงสถิติเดิมมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2013 ในขณะที่ประเทศในกลุ่มท้ายแถว เปลี่ยนเป็นประเทศในแถบแอฟริกาใต้สะฮารา และประเทศในเขตสงครามตะวันออกกลาง โดย 5 ประเทศรั้งท้ายคือ โตโก บุรันดี ซีเรีย เบนิน และรวันดา
การจัดอันดับโดยจอห์น เฮลลิเวลล์ ลอร์ดริชาร์ด เลยาร์ด และเจฟฟรีย์ ซัคห์ ผู้นำวงการเศรษฐศาสตร์ด้านความสุข พบว่า 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความสุข คือ ความเกื้อหนุนในสังคม รายได้ และคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นตัวอธิบายความแตกต่างในแต่ละประเทศได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ช่วงอายุของชีวิต ความเอื้ออาทร เสรีภาพ และความสุจริต
การชะลอตัวทางเศรษฐกิจระดับโลกก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่กระทบต่อความสุข เมื่อนักวิจัยเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างปีค.ศ. 2005-2007 และ 2012-2014 พบว่า นิการากัว ซิมบับเว และเอกวาดอร์ มีพัฒนาการด้านความสุขดีที่สุด ขณะที่กรีซ อียิปต์ และอิตาลี มีพัฒนาการแย่ที่สุด สหรัฐอเมริกาก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีพัฒนาการแย่ ด้วยคะแนนที่ตกลง 0.2 จุด
การสำรวจยังชี้ว่า ผู้หญิงมีความสุขมากขึ้นกว่าผู้ชาย และเด็กมีความสุขมากกว่าผู้ใหญ่วัยกลางคน แต่ระดับความสุขมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อผ่านช่วงวัยกลางคนไปแล้ว
ที่มา: Fast Company
ขอบคุณภาพจาก Cowins/ Pixabay.com