ฆ่าตัวตาย, ฆ่าตัวตายในเด็ก, ฆ่าตัวตายในวัยรุ่น, สุขภาพจิต, สุขภาพดี, Good Health

ฆ่าตัวตายระบาดเด็ก สะท้อนปัญหาสุขภาพจิต

ปัญหาการฆ่าตัวตายกำลังระบาด ไม่ว่าคนหนุ่มสาว ผู้สูงอายุ ตอนนี้ไปถึงเด็กแล้ว และสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสุขภาพจิตที่ต้องได้รับการใส่ใจอย่างจริงจัง

ล่าสุดเด็กหญิงชาวอะบอริจิน วัย 10 ขวบ ฆ่าตัวตายในชุมชนเล็กๆ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย โดยเธอเป็นผู้ที่อายุน้อยที่สุดในบรรดาชนพื้นเมือง 19 ราย ที่ฆ่าตัวตายในพื้นที่ห่างไกล ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา และยังเป็นหนึ่งในชาวอะบอริจินที่อายุน้อยที่สุด ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียที่ฆ่าตัวตาย รองจากกรณีของเด็กชายอายุ 11 ขวบ ในปีค.ศ. 2014 สะท้อนปัญหาสุขภาพจิตใจที่กำลังน่าเป็นห่วง

ทางการรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียจึงลงทุน 1 ล้าน ดอลลาร์ ส่งทีมงานไปยังชุมชนห่างไกล เพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับครอบครัวที่มีสมาชิกฆ่าตัวตาย คุณเจอร์รี จีออร์กาโตส์ นักวิจัยด้านการฆ่าตัวตาย ระบุว่า เหตุการณ์นี้อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายที่มากขึ้น จึงถือเป็นวิกฤติของมนุษยชาติ ที่ต้องเร่งแก้ไข

โดย คุณเฮเลน มอร์ตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสุขภาพจิตแห่งรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ชี้แจงว่า ยังหาสาเหตุที่ชัดเจนของเหตุการณ์ไม่ได้ ขณะที่คุณเวส มอร์ริส ผู้ประสานงานศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมอะบอริจิน เขตคิมเบอร์ลีย์ เสนอว่า ควรจัดโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสภาพจิตใจในชุมชน ให้เข้ากับวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง เพื่อให้เด็กๆ รู้จุดยืนและเห็นอนาคตของตัวเองในวัฒนธรรมนั้นๆ

จากรายงานโครงการยกระดับการป้องกันการฆ่าตัวตายของชาวอะบอริจินและชาวเกาะทอร์เรสเทรต เดือนมกราคม พบว่า การฆ่าตัวตายในเขตคิมเบอร์ลีย์ เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ใน 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีรายงานการฆ่าตัวตายของชาวอะบอริจิน 100 ราย ระหว่างปีค.ศ. 2000-2010 และมากกว่า 100 ราย ระหว่างปีค.ศ. 2010-2015

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังเผยว่า ในปีค.ศ. 2014 การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของเด็กชาวอะบอริจินและทอร์เรสเทรต อายุ 14 ปี หรือต่ำกว่า การฆ่าตัวตายยังเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของชาวพื้นเมืองอายุ 15-35 ปี ซึ่งสูงกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า โดยมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 21.3 ต่อ 100,000 คน แต่อัตราดังกล่าวในเขตคิมเบอร์ลีย์นั้นสูงถึง 70 ต่อ100,000 คน

คุณวาร์เรน มุนไดน์ ที่ปรึกษาด้านชนพื้นเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรี โทนี แอบบอตต์ ถือว่าอัตราการฆ่าตัวตายนี้เป็น “โรคระบาด” สะท้อนปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก และต้องรีบแก้ไขเร่งด่วน

ที่มา: เดอะการ์เดียน (The Guardian)

เครดิตภาพ Counselling/ Pixabay.com

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.