นักวิทยาศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร เริ่มต้นการทดสอบแบบใหม่ สังเกตการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในเนื้องอกของเด็กที่ป่วยเป็นมะเร็ง ซึ่งหวังว่าจะเป็นหนทางให้ผู้ป่วยวัยนี้ ได้รับการรักษาที่ดีขึ้น และมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น
การทดสอบรูปแบบนี้ เป็นการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงในยีนของมะเร็ง 81 ชนิด มีเป้าหมายเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ ได้ทราบข้อมูลทางพันธุกรรมเกี่ยวกับเนื้องอกในเด็กอย่างละเอียด ภายในไม่กี่สัปดาห์ของการวินิจฉัย เพื่อจะได้สั่งยาถูกชนิด และป้องกันผู้ป่วยเด็กจากผลข้างเคียงที่มักตามมากับการทำเคมีบำบัดหรือการฉายแสง
เนื่องจากมะเร็งเนื้องอกพบน้อยในผู้ป่วยเด็ก บริษัทการแพทย์หลายแห่งจึงไม่ค่อยทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ ศาสตราจารย์ นพ. ลูอิส เชสเลอร์ ผู้นำทีมวิจัยระบุว่า การทดสอบครั้งนี้จะทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยเด็กได้ถูกทางมากขึ้น โดยมะเร็งในเด็กมักมีโครงสร้างทางพันธุกรรมที่ไม่ซับซ้อนเท่าผู้ใหญ่ การรักษาจึงมีประสิทธิภาพมากกว่า
งานในครั้งนี้ ดำเนินการในโรงพยาบาลรอยัลมาร์สเดน ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดของระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติ ประเทศอังกฤษ และได้รับเงินสนับสนุนจากสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติ (NIHR) และสถาบันวิจัยมะเร็ง (ICR) นอกจากนี้ยังได้รับเงินสมทบกว่า 300,000 ปอนด์ จากมูลนิธิคริสโตเฟอร์สมาย (Christopher’s Smile) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยคู่สามีภรรยาที่สูญเสียลูกคนเดียวให้กับมะเร็งเนื้องอกสมองชนิดลุกลาม ตั้งแต่อายุเพียง 5 ขวบ
ทีมแพทย์คาดว่าเด็กอีก 400 รายรอบเกาะอังกฤษ จะได้รับการทดสอบด้วยวิธีนี้ ภายใน 2 ปีข้างหน้า
ที่มา: บีบีซี
เครดิตภาพ: commons.wikimedia.org
ข้อมูลเรื่อง “NHS อังกฤษ พบวิธีรักษามะเร็งเนื้องอกในเด็ก” จาก www.cheewajit.com