ระวัง โรคมือเท้าปาก !
โรคมือเท้าปาก พบในเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี พบได้มากในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และสามารถติดได้ง่าย แค่เพียงสัมผัสสิ่งของร่วมกัน ดังนั้นวัยอนุบาล จึงเป็นวัยที่โรคมือเท้าปาก ติดต่อกันได้รวดเร็วที่สุด
ส่วนใหญ่ โรคมือเท้าปากมักติดต่อ โดยการกินอาหาร น้ำ ละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย หรือของเล่นที่ปนเปื้อนเชื้อโรค อุจจาระน้ำเหลืองจากตุ่มน้ำที่ผิวหนัง
วิธีสังเกตอาการโรคมือเท้าปาก
- ผู้ป่วยจะไข้ขึ้นเฉียบพลัน
- มีอาการอ่อนเพลีย ปวดท้อง ปวดหัว รู้สึกเมื่อยตัว
- เริ่มมีน้ำมูก เจ็บคอ และเริ่มรู้สึกไม่อยากรับประทานอาหาร ช่องปากจะมีจุดแดงๆ นูนๆ ตามเยื่อบุปาก ลิ้นและเหงือก
- มือและเท้า จะมีจุดแดงเกิดขึ้น และตามมาด้วยตุ่มน้ำตามมา
- บางรายที่เป็นร้ายแรง อาจมีอาการปวดหัว อาเจียน หรือถึงขั้น ชักเลยก็ได้
นายวิสุทธิ์ ธรรมวิริยะวงศ์ ผู้อำนวยการ เขตบางเขน กล่าวว่า เนื่องด้วยระยะนี้ ไทยเรามีสภาพอากาศที่เย็นชื้น และฝนตกอยู่เป็นประจำ ซี่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาดของโรคมือเท้าปาก เป็นอย่างมาก ทางเขตจึงให้คำแนะนำดังนี้
- บิดา มารดา ผู้ปกครองควร แนะนำสุขอนามัยแก่บุตรหลาน และผู้ดูแลเด็กโดยเฉพาะการล้างมือ
2. ผู้ประกอบการ ในสถานเลี้ยงเด็กควรดูแลให้มีการปฏิบัติ ตามมาตรฐานด้านสุขลักษณะของสถานที่อย่างสม่ำเสมอ
3. ในโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนชั้นประถมศึกษา ควรเพิ่มความรู้เรื่องโรคและการป้องกันตนเอง
4. ในกรณีที่เด็กมีอาการป่วย ซึ่งสงสัยว่าจะเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
5. แยกเด็กป่วยไม่ให้คลุกคลีใกล้ชิดกับเด็กอื่น
6. ทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ ที่เด็กป่วย สัมผัสทั้งในบ้าน สถานศึกษา สถานที่ สาธารณะ ห้างสรรพสินค้า ด้วยสบู่หรือ ผงซักฟอกปกติก่อน ตามด้วยน้ำยาฟอกขาว เช่น คลอรอกซ์ ไฮเตอร์ ทั้งไว้ 10 นาที แล้วล้างออก ด้วยน้ำสะอาด
ข้อมูลเรื่อง ” โรคมือเท้าปากระบาด เตือนผู้ปกครอง ดูแลลูกหลานใกล้ชิด ” เผยแพร่ใน www.cheewajit.com