หรือ อเล็กซานเดอร์ ผู้พิชิต จะแพ้ภูมิตัวเอง

เมื่อพูดถึงอเล็กซานเดอร์มหาราช ทุกคนน่าจะคิดถึงภาพความยิ่งใหญ่ของมหาราชจากอาณาจักรกรีกโบราณ ผู้พิชิตอาณาจักรมากมาย กินอาณาเขตกว้างใหญ่ตั้งแต่ทวีปเอเชีย ยุโรป ไปถึงแอฟริกา แต่ด้วยวิวัฒนาการการแพทย์ยุคใหม่ก็มีข้อสันนิษฐานออกมาว่า หรือมหาราชผู้พิชิต ไม่เคยแพ้ใคร จะแพ้ให้กับ ภูมิตัวเอง

จากบันทึกหน้าประวัติศาสตร์

แม้เราจะรู้เรื่องราวมากมายของอเล็กซานเดอร์มหาราช แต่เรากลับรู้น้อยมากเกี่ยวกับสาเหตุของการสวรรคต มีเพียงบันทึกของนักประวัติศาสตร์รุ่นหลัง ซึ่งบันทึกไว้หลังการสวรรคตถึง 300 กว่าปี  ว่า

อเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์ระหว่าง 11 – 13  มิถุนายน 323 ปีก่อนคริสตกาล ในช่วงบ่ายที่พระราชวังของเนบูคัดเนสซาร์ ที่ 2 ในเมืองบาบิโลน การสวรรคตเกิดขึ้นหลังงานเลี้ยง ซึ่งเป็นงานเลี้ยงยาวนานต่อเนื่องหลายวัน โดยเริ่มจากอาการปวดหลัง

มีบันทึกโดย Arrian นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงปี คริสต์ศักราชที่ 86 – 160 ว่า อเล็กซานเดอร์ทรุดลง พร้อมกับอาการปวดหลัง หลังจากผ่านการดื่มมาอย่างหนักหน่วงในงานเลี้ยงที่ยาวนานต่อเนื่อง และแน่นอนไม่พ้นการชนแก้ว การพนันขันต่อที่มีการดื่มไวน์ปริมาณมากๆ เป็นเดิมพัน หลังจากนั้นมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ก็ถูกพิษไข้เล่นงาน

ในวันที่ 10 ของการประชวร นายทหารระดับสูง และคนสนิทถูกนำตัวมาเข้าเฝ้า ซึ่ง Arrian  บรรยายฉากนี้ไว้ว่า อเล็กซานเดอร์ไม่สามารถพูดอะไรได้ แต่ยังพยายามจะยกศีรษะขึ้นเมื่อมองไปยังเหล่าทหารที่เคยรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมา ด้วยสายตาแห่งการทักทาย

แม้บันทึกประวัติศาสตร์หลายๆ ฉบับจะบันทึกไม่ตรงกันถึงวันสวรรคต บ้างก็ว่า 11 บ้างก็ว่า 13 แต่ทั้งหมด ต่างบันทึกตรงกันว่า หลังการสวรรคตพระศพที่ไม่ได้รับการดูแลอะไรเป็นพิเศษมากไปกว่ากษัตริย์องค์อื่นๆ ของอาณาจักรกรีก ไม่ได้มีการทำมัมมี่แบบอียิปต์ แต่ในช่วงเวลา 6 วันของการเตรียมฝังพระศพ ร่างของมหาราชผู้พิชิตยังคงสมบูรณ์ ไม่เน่า ไม่เปื่อย เหมือนเป็นเพียงแค่นอนหลับไปเท่านั้น แม้จะอยู่ในที่ชื้น และเหม็นอับ

จากบันทีกนี้เอง ที่ทำให้ชาวกรีกในยุคนั้นมองอเล็กซานเดอร์มหาราชไม่ต่างจากเทพผู้ยิ่งใหญ่ แต่ไม่ใช่กับคนในยุคนี้

ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักนิติวิทยาศาสตร์ นักโบราณคดี ต่างลงความเห็นว่า ตอนที่ประกาศว่าสวรรคตน่ะ พระองค์เพียงป่วยหนัก โคม่า และไร้สติรับรู้ แต่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะไม่มีทางที่พระศพจะอยู่ได้ยาวนานโดยไม่เน่าเปื่อย แต่การสวรรคตจริงๆ เกิดขึ้นหลังจากนั้นต่างหาก!

สู่การสันนิษฐาน 2000 กว่าปีให้หลัง 

ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักประวัติศาสตร์ นักนิติวิทยาศาสตร์ ต่างหยิบยกบันทึกเหตุการณ์มาวิเคราะห์หาสาเหตุการสวรรคต จนได้ออกเป็นทฤษฎีมากมาย ที่ทั้งออกมาสนับสนุน และคัดค้าน ซึ่งล้วนแล้วแต่น่าสนใจ

พิษแอลกอฮอล์

อย่างที่บอกว่าอาการแรกเริ่มแสดงขึ้นในงานเลี้ยงฉลองที่พูดได้ว่าดื่มหนักแน่นอน และไวน์ในยุคอดีตนั้นก็คือแอลกฮอล์ที่ไม่มีการเจือจางผสมอะไรทั้งสิ้น ซึ่งมีหลายอาการที่เกิดขึ้นสนับสนุนข้อสันนิษฐานดังกล่าว

ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน พร้อมไข้ขึ้นสมอง : การดื่มไวน์เป็นจำนวนมากในงานเลี้ยง อาจทำให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งอาการสำคัญคือการปวดท้องอย่างมาก และอาจลามไปถึงปวดหลังได้ พร้อมๆ กับการที่มีไข้ขึ้นสูง

ภาวะถอนพิษสุรารุนแรง : หลายคนลงความเห็นว่า เป็นเพราะอาการถอนพิษสุรารุนแรง ที่เกิดขึ้นหลังการดื่มอย่างหนักหน่วง และหยุดลงทันทีในช่วงที่เริ่มมีอาการป่วย สำหรับทฤษฎีดังกล่าวข้อสนับสนุนคือบันทึกที่พูดถึงอาการเรียกหาไวน์เพื่อดื่มแทนน้ำเปล่าในช่วงต้นของการป่วย แต่ก็มีข้อโต้แย้งคือ อาการทางคลินิกของเขาไม่ตรงกับอาการทางคลินิกของภาวะถอนพิษสุรา ทั้งไม่มีอาการอาเจียน รวมทั้งไม่พบบันทึกว่ามีการพบภาพหลอน

ติดเชื้อไวรัส 

โรคไข้สมองอักเสบ : เป็นโรคติดเชื้อไรวัสที่ทำให้สมองอักเสบ โดยมียุง เป็นพาหะที่นำเชื้อโรคจากนก แมลง มาสู่คนและม้า โดยอาการของโรคคือ ไข้สูง ปวดเนื้อตัว อาจมีอาการผื่นแดง หากเชื้อทำลายสมอง จะทำให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชัก คล้ายอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา นับได้ว่าเป็นโรคที่มีอาการค่อนข้างตรงกับอาการที่บันทึกไว้มากเลยทีเดียว

นอกจากนั้นแล้วยังมีบันทึกของ Plutarch นักประวัติศาสตร์ ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงปีคริสต์ศักราช 49 – 119 ว่า ในช่วงที่อเล็กซานเดอร์ยาตราทัพเข้าสู่กรุงบาบิโลนนั้น มีนกตายเป็นจำนวนมากในเมืองนี้ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโรคที่มีเค้าลางมากจริงๆ ค่ะ

ยาพิษ

ถูกวางยา เป็นอีกหนึ่งข้อสันนิษฐาน โดยมีการกล่าวถึงยาพิษมากมายในยุคกรีกไม่ว่าจะเป็น สารหนู ตะกั่ว เชื้อรา รวมไปถึงสมุนไพรบางชนิดที่เป็นพิษ โดยผู้สงสัยคนสำคัญ Roxane มเหสีของอเล็กซานเดอร์เอง แต่ข้อสันนิษฐานเหล่านี้ถูกหักล้างด้วยอาการทางพิษวิทยา ที่ไม่ตรงกับอาการของอเล็กซานเดอร์

การบาดเจ็บภายใน

การแตกของฝีในดับ : เป็นฝึที่เกิดจากเชื้ออะมีบา ซึ่งระบาดอยู่ในยุคนั้น โดยอาการนั้นจะเกิดขึ้นแบบกึ่งเฉียบพลัน คือจะค่อยๆ แสดงอาการออกมาทีละนิด ก่อนที่จะแสดงออกมาอย่างหนัก โดยอาการที่ชัดเจนคือ ปวดซึกขวา มีไข้สูงเป็นๆ หายๆ เมื่อฝีแตกนั้นจะทำให้ปวดท้องอย่างรุนแรงเฉียบพลัน นอกจากนั้นยังมีการสันนิษฐานว่าในกรณีของอเล็กซานเดอร์ อาจจะเป็นฝีแตกเข้าไปในช่องท้อง และทำให้สวรรคต

ปอดฉีก :  เนื่องจากอเล็กซานเดอร์เคยป่วยด้วยอาการปอดอักเสบ ปอดบวม รวมทั้งเคยถูกธนูแทงเข้าที่หน้าอก จนเป็นบาดแผลรุนแรง ซึ่งทำให้ปอดอ่อนแอ และไม่แข็งแรง แต่อาการที่ถูกบันทึกไว้กลับไม่ตรงกับอาการจากการเสียหายรุนแรงของปอด

หรือจะพิชิตมาทั่ว แต่ แพ้ภูมิตัวเอง

อีกหนึ่งข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจ ถูกเสนอในปี 2018 โดย ด็อกเตอร์ แคทเธอรีน ฮอลล์ จากภาควิชาเวชปฏิบัติและสาธารณสุขชนบท มหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ ที่เสนอว่า มหาราชผู้พิชิตพระองค์นี้ อาจจะเป็นโรค Guillain-Barré Syndrome หรือ GBS ในชื่อภาษาไทยคือกล้ามเนื้ออ่อนแรง กิลแลง-บาร์เร

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง กิลแลง-บาร์เร เป็นโรคในกลุ่มภูมิต้านทานทำลายตัวเอง โดยระบบภูมิคุ้มกันไปทำลายเส้นประสาทที่ส่วนของปลอกประสาท ในระบบประสาทส่วนปลายอย่างเฉียบพลัน มักเกิดขึ้นหลังการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน และทางเดินอาหาร

สำหรับอาการของโรคนั้นคือ ผู้ป่วยจะเกิดอาการอ่อนแรงเฉียบพลันที่ขา ก่อนจะลุกลามไปเรื่อยๆ ในบางรายอาจทำให้สูญเสียการรับรู้เมื่อมีความเจ็บปวด แต่จะเป็นอันตรายถึงชีวิตหากว่ากล้ามเนื้อที่ควบคุมระบบหายใจอ่อนแรงไปด้วย จนดูเหมือนไม่มีชีพจร

ทั้งนี้ ด็อกเตอร์ แคทเธอรีน สันนิษฐานว่าในช่วง 6 วันสุดท้าย ในช่วงเตรียมพิธีทำศพ อาจจะเป็นช่วงที่ยังมีพระชนน์ชีพอยู่ก็เป็นได้

ข้อมูล The National Center for Biotechnology Information, britannica, จุฬาลงกรณ์เวชสาร

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.