โรคไข้เลือดออก

หลังน้ำลด ภาคใต้ควรระวัง โรคไข้เลือดออก

ระวัง โรคไข้เลือดออก

จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรคต่อสถานการณ์ โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 – 21 มกราคม 2560 พบผู้ป่วยจำนวน 1,454 ราย (เพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้ว 713 ราย) เสียชีวิต 1 ราย ในจังหวัดสงขลา

ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในวัยเรียน คือ อายุ 5 – 14 ปี รองลงมาคือ 15 – 24 ปี และพบผู้ป่วยสูงสุดอยู่ในภาคใต้ ได้แก่ 1. จังหวัดปัตตานี 2. จังหวัดสงขลา 3. จังหวัดนราธิวาส 4. จังหวัดพัทลุง 5. จังหวัดยะลา

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 – 28 มกราคม 2560) กรมควบคุมโรคได้รับแจ้งเหตุการณ์พบผู้ป่วยสงสัยโรคไข้เลือดออก เสียชีวิต 2 ราย เป็นเด็กอายุ 4 เดือน อยู่ในจังหวัดสงขลา และเด็กอายุ 7 ปี อยู่ในจังหวัดนราธิวาส

การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ (29 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2560) คาดว่าจะมีผู้ป่วย และเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแถบภาคใต้ที่ประสบอุทกภัย เนื่องจากมีรายงานผู้ป่วยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และหลังน้ำลดจะพบกองขยะ เศษจากวัสดุ และแหล่งน้ำขัง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่ดีของลูกน้ำยุงลาย

จึงขอแนะนำให้ประชาชนดูแลตัวเอง และสิ่งแวดล้อมทั้งในบ้าน รอบบ้าน และพื้นที่ ส่วนกลางในชุมชน เช่น วัด โรงเรียน โดยใช้หลัก 3 เก็บ ( 1. เก็บบ้าน 2. เก็บขยะ 3. เก็บน้ำ) เพื่อป้องกัน 3 โรคหลักจากยุงลาย (1. โรคไข้เลือดออก 2. โรคไข้ปวดข้อยุงลาย 3. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา)

หากมีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะขั้นรุนแรง รู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ควรรีบพบแพทย์ทันที ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้กลุ่มแอสไพริน และไม่ควรชะล่าใจหากเคยป่วยด้วยไข้เลือดออก

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข ถ้าพบผู้ป่วยมาด้วยอาการดังกล่าวให้นึกถึงโรคไข้เลือดออก และตรวจร่างกายเพิ่มเติม เพื่อให้การรักษาได้ทันท่วงที

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ที่มา : กรมควบคุมโรค

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.