การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยวิธีนอนคว่ำ?
บนสังคมออนไลน์มีการแชร์กันเยอะว่ามีวิธีการ รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยการให้นอนคว่ำ ซึ่งผู้ป่วยจะทรมานมากจาก การนอนคว่ำและต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เรื่องนี้เป็นอย่างไรวันนี้เรามาไขข้อข้องใจ และหาคำตอบไปพร้อมกันค่ะ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ฟังคำแนะนำพร้อมความรู้ดีๆ จากก พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ปอด สถาบันโรคทรวงอก โดยคุณหมอได้กล่าวถึง วิธีรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยการให้นอนคว่ำ ว่า “ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มีการใช้ลักษณะของการนอนคว่ำ แต่มันไม่ใช่ว่านอนคว่ำแล้วเชื้อตาย เชื้อหาย คือระหว่างนอนคว่ำ ตัวหัวใจมันจะกดไปอยู่ด้านหน้ามากกว่าด้านหลัง เพราะฉะนั้นเนื้อปอดข้างหลัง มันก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นออกซิเจนของคนไข้ที่นอนคว่ำจะดีกว่าคนไข้ที่นอนหงาย
โดยผู้ป่วยแบบที่ต้องรักษาด้วยวิธีนอนคว่ำ ก็คือเมื่อกรณีที่เขารุนแรงคือเขาเป็นปอดอักเสบร่วมด้วย และปอดอักเสบมีปัญหาทั้ง 2 ข้าง การนอนคว่ำจะมีผลทำให้ปอดไม่มีตัวเบียดดัน ปริมาณเนื้อปอดมันจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้เยอะขึ้น การที่เรานอนคว่ำในช่วงที่ปอดอักเสบรุนแรง มันจะมีผลทำให้ออกซิเจนสูง บางคนไม่จำเป็นที่จะต้องถึงขนาดใส่ท่อช่วยหายใจ อันนี้คือการบรรเทาทำให้ความรุนแรงมันสามารถที่จะควบคุมได้ โดยที่เราไม่ต้องไปใช้อุปกรณ์ช่วยในอนาคต”
หลายคนอาจมีคำถามในใจว่า ผู้ป่วยที่ไม่ได้มีปอดอักเสบจะใช้วิธีนอนคว่ำได้ด้วยหรือไม่ ? คุณหมอบอกว่า “มันช่วยในกรณีที่ออกซิเจนต่ำ ทำให้ระดับออกซิเจนสูงขึ้น คนที่ออกซิเจนปกติไปคว่ำ ก็ไม่ได้มีประโยชน์”
แล้วที่มีคนแชร์ว่าผู้ป่วยโควิดที่รักษาโควิดด้วยการนอนคว่ำ จะทรมานจากการถูกสอดท่อช่วยหายใจด้วยจริงไหม ? คำตอบคือ “ไม่ได้เกี่ยว ไม่ได้สัมพันธ์กัน ใส่ท่อช่วยหายใจนี่คือเขามีภาวะที่รุนแรงแล้ว เลยจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจในคนปกติ ออกซิเจนดีอยู่ ไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องเอาตัวช่วยมาเสริม
ถ้าไปดูจากข้อมูลประเทศ จะเห็นว่าคนที่ใส่ท่อช่วยหายใจของประเทศเราไม่เยอะ สักประมาณไม่เกิน 5% ด้วยซ้ำไปที่ใส่ท่อช่วยหายใจ คือคนไข้ที่แย่ลงส่วนมากในประเทศไทย หรือว่าในโลกก็ตามที่จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ มักจะมีโรคร่วม อายุเยอะ บางคนบางที่ก็มีการใช้เขาเรียกว่า Noninvasive คือใส่เป็นหน้ากาก หรือออกซิเจนอัด ร่วมกับการนอนคว่ำ ก็ทำให้เขาไม่จำเป็นต้องไปใส่ท่อช่วยหายใจ ก็มีเหมือนกัน”
แปลว่าผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ ไม่ได้ถูกสอดท่อช่วยหายใจทุกคนอย่างที่แชร์กันใช่ไหม ? คุณหมอไขข้อสงสัยให้ฟังว่า “ถ้าคนไข้ที่มีปอดอักเสบ แล้วก็เป็นปอดอักเสบทั้ง 2 ข้าง ออกซิเจนเริ่มตกแล้ว ไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ ที่เราจะให้นอนคว่ำ โดยที่คนกลุ่มนี้ยังไม่ได้ใส่ท่อช่วยหายใจ อาจจะเป็นแค่ดมออกซิเจนเฉย ๆ แล้วนอนคว่ำก็มี
แล้วต้องนอนคว่ำนานแค่ไหน ? “ส่วนมากเราจะแนะนำว่าว่าง ๆ ก่อนกินข้าวสาย ๆ นอนคว่ำหน่อยได้เท่าไรเท่านั้น แล้วก็ก่อนหลับ เช่นก่อนนอนเต็มที่คุณไปนอนคว่ำซะ มันก็จะได้ระยะยาวขึ้น ทำตามที่เขาไหว เขาจะใช้คำว่า Awake Prone คือนอนคว่ำตั้งแต่ยังรู้สึกตัว เขาแนะนำจริง ๆ คือ 2 ชั่วโมง แต่ว่าถ้ายาวกว่านั้น เช่น ก่อนนอนทำได้ยาว 7 – 8 ชั่วโมง นอนจนกระทั่งตื่นอันนี้ยิ่งดี”
ท่านอนคว่ำที่แนะนำสำหรับผู้ป่วย ?คุณหอแนะนำว่า “ มาตรฐานเขาอยากให้นอนเหมือนท่าว่ายน้ำ แขนข้างหนึ่งอยู่ข้างหลัง ข้างหนึ่งอยู่ข้างหน้า หน้าหันไปด้านที่แขนไปอยู่หลัง แต่ไม่ใช่ตลอดนะ คือเรารู้สึกทนไม่ไหว เราก็สลับได้นะ บางคนเขาก็เบื่อ บางทีต้องเล่นเกม เขาก็ชันหัวขึ้นมาเล่น อันนี้ก็ได้”
การรักษาผู้ป้วยที่มีภาวะปอดอักเสบไม่ใช่แค่ให้นอนคว่ำอย่างเดียวใช่หรือไม่ ? คำตอบคือ “ก็เป็นการใช้ยามาตรฐาน ประเทศไทยก็มีการใช้ยาร่วมหลายตัวผสมกัน เพื่อจะทำให้เชื้อตายเร็วขึ้น ปอดอักเสบดีขึ้น
ถ้าอย่างนั้นการรักษาผู้ป้วยที่มีภาวะปอดอักเสบไม่ใช่แค่ให้นอนคว่ำอย่างเดียว ? “ก็เป็นการใช้ยามาตรฐาน ประเทศไทยก็มีการใช้ยาร่วมหลายตัวผสมกัน เพื่อจะทำให้เชื้อตายเร็วขึ้น ปอดอักเสบดีขึ้น”
คงจะไขข้อข้องใจสำหรับผู้ที่เสพสื่อมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ หากสงสัยอะไรก็สอบถามผู้รู้จะดีที่สุด ยิ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ หรือเกี่ยวกับร่างกายของเราด้วยแล้ว อยาเดามั่วๆ หรือเชื่อตามที่ใครบอกมา เช็กให้ชัวร์ ที่แน่ๆ ถ้าไม่รู้จริงก็อย่าเพิ่งแชร์ต่อดีที่สุด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องขอขอบคุณ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์” ที่ไปหาคำตอบดีๆ มายืนยันให้เรา แบบนี้สิถึงเรียกว่าเรื่องชัวร์ที่แท้จริง!!