ส่องสังคมไทยหลังโควิด-19 ตอกย้ำความสำคัญการกระจายอำนาจ ปูทางสู่การปฏิรูปประเทศ
วิกฤติสุขภาพกับโรคโควิด19 ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ รวมถึงประเทศไทยด้วย เพราะโรคระบาดที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในทุกด้านอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อย่างไรก็ตามสิ่งที่ดีที่สุด ที่เราทุกคนควรทำตอนนี้ คือ ความพยายามที่จะผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ และไม่ควรที่จะปล่อยให้ความเสียหายทางเศรษฐกิจและความยากลำบากที่เราประสบจะต้องสูญเปล่า ควรมีการเรียนรู้และมองไปข้างหน้า (Post COVID-19) พร้อมกับหาโอกาสในวิกฤติเพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ดีขึ้น
ในวันที่คนไทยทุกคนกำลังมีความทุกข์จากวิกฤติสุขภาพครั้งใหญ่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ขอเสนอมุมมองจาก นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผู้นำองค์กรที่มีพันธกิจในการขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมมานานกว่า 10 ปี เพื่อนำพาไปสู่ “สังคมสุขภาวะ”
สช. ได้ร่วมกับหลายองค์กรเพื่อติดตามและประเมินบทเรียนของวิกฤติ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง คุณหมอประทีป ได้เล่าให้ฟังถึงการประเมินสถานการณ์วิกฤติ COVID-19 และการทำงานของ สช. เพื่อช่วยเสริมมาตรการของรัฐให้ได้ผลและบรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชน โดยนำสิ่งที่เกิดขึ้นมาถอดบทเรียนพร้อมกับการมองไปข้างหน้า เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในอนาคต
ผลกระทบเชิงลบมหาศาล – เชื่อเศรษฐกิจซบนานหลายปี
คุณหมอประทีป ให้ภาพเบื้องต้นว่า วิกฤติ COVID-19 ส่งผลกระทบที่ใหญ่มาก เพราะเป็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก มีทั้งผลกระทบด้านลบและด้านบวกที่มองเห็นได้ เริ่มจากผลกระทบด้านลบ คือ
- 1. ผลกระทบด้านสุขภาพ มีประชาชนเจ็บป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และบุคลากรทางการ
แพทย์ต้องทำงานหนักมากขึ้น
ผลกระทบทางด้านสังคม เกิดความตระหนก ตื่นกลัวและมีการนำมาสู่ความแตกแยก เกิดการ
กีดกัน โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ของการระบาด - ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ เกิดขึ้นอย่างมหาศาล เพราะไทยพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยว
โดย IMF ชี้ว่า GDP ของประเทศไทยจะปรับตัวลดลงถึง -6.7% ซึ่งถือว่าหนักมาก
ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า วิกฤติ COVID-19 กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นผลกระทบระยะยาว 2 – 3 ปี ซึ่งบางภาคส่วนในสังคมอาจจะได้รับผลกระทบยาวนานถึงสิบปีเลยทีเดียว แต่โชคดีที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหาร เป็นครัวของโลก ทำให้ไม่เกิดภาวะอดอยาก ซึ่งถือว่าเป็นข้อได้เปรียบมากกว่าหลายประเทศ
ผลกระทบเชิงบวกมีหลากหลาย ต้องมีการต่อยอดสร้างประชาชนเข้มแข็ง
อย่างไรก็ตาม คุณหมอประทีป บอกว่า ในทางที่มืดมิดยังมีแสงสว่าง เรามองเห็นผลกระทบด้านบวกจากวิกฤติ COVID-19 คือ
1.วิกฤติ COVID-19 ทำให้เราเห็นศักยภาพของระบบสาธารณสุขไทย ว่ามีความพร้อมกับการตั้งรับทำงานเชิงรุกและการควบคุมการระบาด ในเขตเมืองเรามีทรัพยากรทางการแพทย์ที่เข้มแข็ง ขณะที่พื้นที่ห่างไกลก็มีจุดแข็งเรื่องการรับมือเชิงรุกด้านการป้องกัน ส่วนชุมชนท้องถิ่นมีระบบต้นทุนพื้นฐานสาธารณสุขที่เข้มแข็ง คือ การมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 1 ล้านคน มีโรงพยาบาลสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) เกือบ 10,000 แห่ง และมีโรงพยาบาล 700 – 800 แห่ง ที่พร้อมเป็นฐานรองรับผู้ป่วย
“ผลกระทบด้านบวกตรงนี้ หากมีการถอดบทเรียนกันจริงๆ จะทำให้มีการลงทุนเพื่อขยายศักยภาพของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ และระบบสุขภาพชุมชนครั้งใหญ่ ซึ่งจากเดิมทรัพยากรของเราถูกลงทุนไปในด้านโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร และในหัวเมืองใหญ่ๆ เป็นหลัก แต่จากวิกฤติ COVID-19 ทำให้เห็นว่า ต้นทุนด้านสุขภาพในชุมชนมีอยู่ หากมีนโยบายการลงทุนขยายเพิ่มเติมจะเป็นผลดีต่อระบบสาธารณสุขไทยในอนาคตอย่างมาก”
- วิกฤติ COVID-19 ทำให้เราได้เห็นประชาชนปรับตัวจาก “การตื่นกลัวกลายเป็นการตื่นรู้” เกิดการเรียนรู้ครั้งใหญ่ของประชาชน ที่จะรับมือกับการระบาดของไวรัส การดูแลตัวเอง การเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งตรงนี้ถ้ามีความต่อเนื่องก็จะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน การทำเครือข่ายอาสาสมัคร ยกระดับให้มีมาตรการในการดูแลกันเองในอนาคตข้างหน้า
- วิกฤติ COVID-19 ทำให้เกิด “ธรรมนูญ”ของประชาชนในการสู้ภัย COVID-19 โดยประชาชนได้มีการออกมาตรการของตัวเองในการจัดการกับโรคระบาดที่เกิดขึ้น ซึ่งมีทั้งการล้อตามมาตรการของรัฐ และการทำมาตรการของตัวเองในชุมชน เพื่อป้องกันกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อ เช่น ผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง พร้อมกับการมีมาตรการดูแลทางสังคม การตั้งโรงทาน การดูแลกันเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งธรรมนูญเหล่านี้สามารถยกระดับเป็นธรรมนูญรับมือภัยพิบัติและป้องกันโรคระบาดอื่นๆ ได้ ถือเป็นพัฒนาการของชุมชนที่สำคัญยิ่ง
- วิกฤติ COVID-19 ทำให้สังคมตระหนักมากขึ้นในเรื่อง “การกระจายอำนาจ” ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีมาตรการต่างๆ ที่รัฐออกมาตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข นำไปปฏิบัติได้รวดเร็วยิ่งขึ้นเพราะสามารถระดมคนได้ ซึ่งการรวมศูนย์ที่รัฐบาลกลางอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงทีแบบนี้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน
“ดังนั้น สถานการณ์เหล่านี้มีผลกระทบด้านบวกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ประชาชนตื่นตัว เริ่มมีการกำหนดมาตรการของตัวเอง รวมทั้งสังคมเห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจ อาจจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศข้างหน้าได้” เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติให้ความเห็นอย่างมีความหวัง
จากโครงการ “พลเมืองตื่นรู้ฯ” สู่การกระจายอำนาจ
กลับมาที่บทบาทของ สช. ที่ผนึกพลังภาคีร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ หนุนช่วยรัฐสู้ภัยโควิด19” คุณหมอประทีป เล่าถึงความคิดเบื้องหลัง รวมถึงความคาดหวังกับโครงการดังกล่าว ว่ามีเป้าหมายเพื่อหนุนช่วยมาตรการหลักของรัฐทั้งในเรื่องการควบคุมโรคระบาด การเยียวยา การฟื้นฟูสุขภาพและคุณภาพชีวิต การฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ ให้มีนำไปปฏิบัติ (Implement) ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่มีอยู่แล้วเป็นไปได้ดีและเห็นผลยิ่งขึ้น โดยมีฐานหลักอยู่ที่ตำบล เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความพร้อมของภาครัฐและภาคประชาชนที่สามารถเชื่อมต่อกันได้
คุณหมอประทีป บอกถึง แผนงานขับเคลื่อนพลเมืองตื่นรู้ฯ ว่า เป็นการรวมพลังของหน่วยงานหลักที่อยู่ในส่วนกลางทั้งด้านสุขภาพ สังคม ปกครอง สื่อมวลชน รวมถึงด้านสงฆ์ เพื่อที่จะนำภารกิจ เครือข่าย เครื่องมือของแต่ละหน่วยงาน และงบประมาณของตนเองมาบูรณาการกัน เพื่อไปช่วยเครือข่ายในพื้นที่และขับเคลื่อนประชาชน ในระดับตำบลและหมู่บ้าน เพื่อทำให้เกิดข้อตกลงร่วม หรือ “ธรรมนูญสู้ภัยโควิด” โดยหวังผลทำให้ประชาชนเกิดการตื่นตัว มีมาตรการไปหนุนช่วยมาตรการของรัฐ และฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 และหวังว่าการเรียนรู้ครั้งนี้จะทำให้ประชาชนมีความเข้าใจแนวคิดการกระจายอำนาจมากขึ้น เชื่อว่าหลัง COVID-19 จะมีการปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
เปิด 4 บทเรียนสังคมไทยเรียนรู้จากวิกฤติ COVID-19
สุดท้าย สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้ และจะมีการรับมือกับอนาคตอย่างไร เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตอบทันทีด้วยน้ำเสียงที่จริงจังว่า
- สังคมเรียนรู้ว่าความเสี่ยงมีอยู่ คนรวย คนจนมีโอกาสได้รับความเสี่ยงเท่ากัน ทั้งปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า มีความเสี่ยงที่หลากหลาย รุนแรงและไม่ปลอดภัยต่อชีวิตที่สามารถเกิดขึ้นได้ทันที COVID-19 เกิดผลกระทบไปทั่ว ดังนั้นสังคมไทยต้องมีความพร้อมในการเตรียมรับมือ ทั้งการสร้างระบบที่ดีของประเทศและการมีส่วนร่วมของประชาชนควบคู่กันไป
- สังคมได้เรียนรู้ว่า ปัญหาเรื่องสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ไม่ใช่เป็นเรื่องแยกส่วนกัน ทุกอย่างเกี่ยวข้องกันทั้งหมด เมื่อเกิดปัญหาโรคระบาดขึ้นมาจึงกระทบกันหมด ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองเกิดความไม่มั่นคง เพราะฉะนั้นปัญหาทุกอย่างมันสัมพันธ์กันแยกส่วนกันไม่ได้ การลงทุนจะเน้นเฉพาะด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องลงทุนด้านสุขภาพด้วย
- สังคมเรียนรู้ว่าการแก้ปัญหารวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางอย่างเดียวไม่พอ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งทางด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจ ต้องมีการกระจายอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งจะสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที มีประสิทธิภาพ
- สังคมได้เรียนรู้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เราเห็นปัญหาช่องว่างทางรายได้มีความเหลื่อมล้ำ และมีช่องว่างทางความคิดอย่างชัดเจน โดยจะเห็นได้จากคนชั้นกลางในเมืองต้องการนโยบายที่คุมเข้ม ห้ามออกนอกบ้าน เพราะสามารถอยู่ได้และต้องการความปลอดภัย ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะต้องทำมาหากินไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นอาจจะตายได้ ช่องว่างระหว่างคน 2 กลุ่มนี้ชัดเจนและควรต้องมีการประนีประนอม เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่นำไปสู่การเผชิญหน้า
“โดยส่วนตัวผมมองว่า แม้สถานการณ์โรคระบาดจะซาลง แต่ก็เชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะไม่ยอม เพราะเขาอยากแก้ไขปัญหาและอยากมีส่วนร่วม ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่เหมือนเดิมอีกต่อไป เชื่อว่าแนวโน้มสังคมไทยหลังยุค COVID-19 น่าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เพราะคนไทยได้เรียนรู้ระหว่างการเกิดวิกฤตินี้อย่างมาก” คุณหมอประทีป กล่าวทิ้งท้าย
ในวันที่ฟ้ามืดมิดจากวิกฤติ COVID-19 ผู้คนได้รับผลกระทบทุกหย่อมหญ้า มุมมองจากเลขาธิการ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ทำให้เรามองเห็นโอกาสของการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า หากบทเรียนที่ได้รับ ณ วันนี้ ได้รับการบันทึก ถอดบทเรียนอย่างเป็นระบบ ทำให้เห็นว่าการกระจายอำนาจ กระจายทรัพยากร ไปถึงยังจุดที่ถูก อันจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศที่ดีขึ้นในอนาคต