ไม่ป่วยเป็นโรคจิตแม้ใช้ชีวิตในเมืองวุ่นๆ

ไม่ป่วยเป็นโรคจิตแม้ใช้ชีวิตในเมืองวุ่นๆ

โรคจิต หรือ ” โรคจิตเวช “

การใช้ชีวิตในเมืองที่แออัดและเร่งรีบ ไร้ความปลอดโปร่งโล่งสบายจากธรรมชาติ อาจส่งผลให้คนในเมืองหลายคนกลายเป็นโรคทางจิต หรือ ” โรคจิตเวช ” ได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรชัย ตระกูลวรานนท์ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คนเรามีทางเลือกในการดำเนินชีวิตเสมอ แต่มักอ้างว่าไม่มีทางเลือก การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอุตสาหกรรมแบบกรุงเทพฯ แล้วรู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจ โหยหาชีวิตสังคมแบบเก่าการไม่พยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมที่เราอยู่ นี่แหละคือปัญหาŽ เมื่อไม่เปิดใจ ทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมและผู้คนในเมืองกรุง นอกจากทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลองสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นแล้ว เจ้าตัวเองก็ไม่สบายใจ

โรคจิตเวช

เมืองŽแห่งความเครียด

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน จิตแพทย์และโฆษกประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คนที่อาศัยอยู่ในเมืองที่แวดล้อมไปด้วยตึกรามแออัด รถยนต์บนถนนจอแจ มีโอกาสป่วยเป็นโรคทางจิตเวชมากกว่าคนที่มีบ้านอยู่ท่ามกลางเรือกสวนไร่นาในชนบท เพราะรูปแบบชีวิตทำให้มีความเครียดและวิตกกังวลมากกว่า ทั้งความขัดแย้งภายในตัวเองรวมไปถึงเรื่องการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเงิน ข้าวของ และทรัพย์สินต่างๆ

จากการทำวิจัยในเรื่องของภาวะความสุขหรือสุขภาพจิตคนไทย เปรียบเทียบทั้งสี่ภาค ปรากฏว่าคนอีสานมีความสุขมากกว่าคนภาคอื่นๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวน้อยที่สุด และการมีวิถีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมและสังคมที่เรียบง่าย เอื้ออาทรกันภายในชุมชน ตรงกันข้ามกับการใช้ชีวิตในสังคมเมืองที่มีลักษณะเร่งรีบส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตโดยตรงŽ

เราสามารถแบ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพจิตของชาวเมือง ออกเป็น 3 ปัจจัย ได้แก่

ปัญหาทางชีวภาพหรือกายภาพของแต่ละคน (Bio) แรกเริ่มจะมีอาการเหมือนคนปกติทั่วไป และสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้ตามปกติ จนกระทั่งมีอายุระหว่าง 15 – 25 ปี มีความผิดปกติในสมองเนื่องจากมีสารเคมีเซโรโทนิน นอร์เอพิเนฟรีน และแกมมาแอมิโนบิวทิริกแอซิดต่ำกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการหูแว่ว ประสาทหลอนขึ้นมาทันที จนไม่สามารถเรียน คุย ทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ได้เหมือนเดิม

ปัญหาเรื่องจิตใจของแต่ละคน (Psycho) ในกรณีนี้เกิดมาสมบูรณ์ทุกอย่าง แต่ถูกอบรมเลี้ยงดูให้เป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เช่น ห้ามสบตาคน ห้ามเชื่อใครนอกจากพ่อแม่ หรือได้รับการเลี้ยงดูมาด้วยความรุนแรง เช่น ถูกดุด่า ตำหนิ ถูกจับผิดหรือถูกทำร้ายมาตลอด จนเกิดความคิดฝังใจว่าตัวเองทำอะไรก็ผิดหมด ทำให้เกิดลักษณะของโรคหลงผิด หวาดระแวง วิตกกังวลเกินเหตุ หรือเป็นโรคซึมเศร้า

ปัญหาเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social) อาจเติบโตและได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาแบบปกติ สารเคมีในสมองปกติ จิตใจปกติ แต่มีโอกาสเข้าไปอยู่ในสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ตรงกันข้ามกับ

ที่เขาเคยพบและแย่มากๆ เช่น คนอารมณ์ดีมากๆ แต่ต้องอยู่ในสังคมที่แข่งขันสูง ตกงาน หรือเกิดทุพภิกขภัยแก่บ้านที่อยู่อาศัยของตน ก็ทำให้สุขภาพจิตเสียจนลุกลามไปเป็นโรคทางจิตเวชได้

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

นายแพทย์ทวีศิลป์ยังบอกอีกว่า

สถานการณ์สุขภาพจิตของคนเมืองตอนนี้มีแนวโน้มแย่ลง เพราะชีวิตที่ต้องแข่งขันในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะถ้าเราหลงในวัตถุที่กลายเป็นเครื่องบ่งบอกฐานะทางสังคม เช่น บ้าน รถ มือถือ คอมพิวเตอร์ ซึ่งก่อให้เกิดความต้องการ ความคาดหวัง และต้องการที่จะไปให้ถึงจุดมุ่งหมาย คือได้เป็นเจ้าของของเหล่านั้น

ซึ่งล้วนต้องใช้พลังในการบีบบังคับตัวเองสูงมาก ถ้าทำได้ก็ดีไปแต่ถ้าทำไม่ได้ก็จะเครียดและเกิดความขัดแย้งภายในใจตัวเองมีปัญหาทางด้านจิตใจ เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้นก็อาจเกิดการขัดแย้งกับคนอื่น ควบคุมตัวเองไม่ได้ ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง จนกระทั่งลุกลามทำให้เกิดการแตกแยกภายในสังคมŽ

โรคจิตเวช

4 โรคทางจิตเวชยอดฮิตคนเมือง

การสำรวจทางระบาดวิทยาสุขภาพจิตระดับประเทศ ของกรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข พบว่าคนไทย (อายุระหว่าง 15 – 59 ปี) เป็นโรคทางจิตเวชประมาณร้อยละ 20 โดยคนเหล่านี้กำลังเผชิญหน้ากับโรคทางจิตเวชหลักๆ หลายโรค โรคเหล่านั้นได้แก่

ซึมเศร้า สาเหตุใหญ่ที่ทำให้คนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าคือปัญหาเศรษฐกิจ เช่น ตกงาน ปิดกิจการ ล้มละลาย รวมทั้งการถูกทอดทิ้งให้อยู่ลำพัง เช่น คนชราถูกทอดทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยว

ต้องไปพบแพทย์เมื่อ : ผู้ป่วยมีอารมณ์เศร้า ร้องไห้ง่าย จิตใจหดหู่ รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ท้อแท้ สิ้นหวัง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลียไม่มีแรง อยากทำร้ายตัวเองและรู้สึกอยากตาย

วิตกกังวล เกิดได้ทั้งจากปัจจัยภายใน เช่น ขาดความมั่นคงในจิตใจ จิตใจอ่อนแอ อ่อนไหวง่าย ต้องพึ่งพาผู้อื่นอยู่เสมอ และปัจจัยภายนอกที่พบได้คือ ใกล้สอบแต่ดูหนังสือไม่ทัน คับข้องใจเรื่องธุรกิจที่ไม่ราบรื่น ตกงาน หรือต้องเผชิญหน้ากับประสบการณ์แปลกใหม่ เช่น ย้ายโรงเรียนใหม่ เริ่มทำงานครั้งแรก แต่งงาน คลอดลูกคนแรก ฯลฯ

ต้องไปพบแพทย์เมื่อ : ผู้ป่วยมีอาการวิตกกังวลอย่างมากต่อเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันเกือบทุกวัน เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน ไม่สามารถควบคุมความวิตกกังวลของตัวเองได้ มีอาการต่อไปนี้ไม่น้อยกว่าสามในหกอย่าง ได้แก่ กระสับกระส่าย อ่อนเพลียง่าย สมาธิไม่ดี หงุดหงิดง่าย ปวดกล้ามเนื้อบริเวณต่างๆ ของร่างกาย และนอนไม่หลับ ก่อผลเสียต่อการทำงานและเข้าสังคม

โรคจิตเภท เป็นความผิดปกติทางจิตใจ ผู้ป่วยจะไม่คิดว่าตัวเองป่วย ไม่ยอมรับการรักษา ก่อให้เกิดความผิดปกติทางบุคลิกภาพ มีความคิดอ่านและประสาทรับรู้ไม่อยู่ในความเป็นจริง

ต้องไปพบแพทย์เมื่อ : มีอาการหลงผิดต่างๆ เกิดประสาทหลอนทางหูหรือตา และยังมีพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก เช่น นิ่งเฉย พูดมาก พูดไม่หยุด วุ่นวาย หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย ผุดลุกผุดนั่ง เดินไปเดินมา การพูดจาบางครั้งได้เรื่องได้ราว บางครั้งก็ไม่มีใครเข้าใจความหมาย ซักถามก็ตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง บางครั้งมีอาการตกใจกลัวว่ามีเสียงคนขู่จะฆ่า

โรคย้ำคิดย้ำทำ มักพบในคนที่มีภาวะเศรษฐกิจและสังคมระดับกลางและสูง มีเชาวน์ปัญญาดี มีการศึกษาดี เป็นคนที่ชอบคิดชอบทำงาน และรับผิดชอบงานที่ทำ เกิดจากสาเหตุทางจิตใจและความผิดปกติของสารเคมีในสมองชื่อเซโรโทนินต่ำกว่าปกติ ทำให้เกิดการย้ำคิดย้ำทำและมีอารมณ์เศร้าร่วมด้วย

ต้องไปพบแพทย์เมื่อ : มีความวิตกกังวลในความผิด ความไม่ดีของตนเองในอดีต ทนถูกตำหนิไม่ได้ นอกจากนี้ในบางรายยังเป็นลักษณะย้ำคิดย้ำทำเกี่ยวกับเรื่องของความสะอาด จะล้างมืออาบน้ำวันละหลายๆ ครั้ง ครั้งละนานๆ ดูแลตัวเองก่อนป่วย

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

วิธีปรับสมดุลจิตและกายให้อยู่ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน

กิจกรรมทางเลือก

เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะมีปฏิกิริยาที่เรียกว่า สู้หรือหนีŽ ซึ่งเป็นสัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ แต่ปฏิกิริยาโต้ตอบภัยคุกคามอย่างทันควันนี้ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบันที่ไม่ยอมรับวิธีแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังเข้า สู้Ž หรือ หนีŽ คนยุคนี้จึงต้องทนฝืนรับความเครียด

แต่ความเป็นจริงแล้วเราควรปลดปล่อยมันออกไปโดยเร็วที่สุดเมื่อรู้ว่าเครียด เปลี่ยนมาทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น เดินเล่น รำกระบอง ทำสวน อ่านหนังสือ ฟังเพลงเบาๆ เต้นรำ ความเพลิดเพลินที่ได้รับจะช่วยให้ผ่อนคลาย

ก้าวออกไปพูดคุยกับใครสักคน

การเกื้อกูลทางสังคมช่วยป้องกันระบบภูมิคุ้มกันได้ จากการศึกษาของนักเรียนแพทย์ในช่วงสอบไล่ พบว่าเซลล์ชนิดหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันของนักเรียนเหล่านี้ไม่ทำงาน แต่ผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับครอบครัวจะผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ด้วยดี

ดังนั้นลองติดต่อกับเพื่อนเก่าหรือญาติสนิทที่ไม่ได้เจอกันมาเป็นปีๆ รื้อฟื้นความสัมพันธ์เก่าในอดีต หรือทำงานอดิเรก เช่น อ่านหนังสือ สะสมแสตมป์ เป็นโอกาสที่จะได้คบเพื่อนที่มีความสนใจร่วมกัน

ลดความคาดหวัง

ทำใจให้ได้ว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ความเครียดมักจะถามหาคนที่ต้องการความสมบูรณ์แบบในทุกๆ สิ่ง แม้ว่าจะทำสิ่งต่างๆ ได้ดีเกือบ 99 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่เขาจดจ่อและกระวนกระวายใจจนหาความสุขไม่ได้มักจะเป็นอีกหนึ่งเปอร์เซ็นต์ที่ทำไม่ได้มากกว่าพยายามมองโลกในมุมกลับเสียบ้าง เรียนรู้จากข้อผิดพลาด บางทีเมื่อรู้สึกสบายๆ ที่จะทำอะไรต่อมิอะไร ความกดดันต่างๆ ก็จะหายไปและพร้อมเสมอสำหรับความท้าทายใหม่ในชีวิต

ทำงานด้วยหัวใจ

กุญแจสู่ความสุขของคนเราคือ มีความรักในงานที่ทำอยู่ทุกวัน  หลายคนไม่เคยหยุดถามตัวเองว่าเหตุใดจึงทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ และชอบงานที่กำลังทำหรือเปล่า จึงควรหาคำตอบให้ตัวเองและเลือกทำงานที่ตนชอบและถนัด หากยังไม่สามารถเปลี่ยนงานได้ ก็ควรมองหาข้อดีของงานที่ทำให้เรามีความสุข

โรคจิตเวช

กินดีมีประโยชน์

ในยามที่เครียด ร่างกายจะใช้สารอาหารสำคัญๆ บางอย่างหมดไปอย่างรวดเร็ว ควรจัดอาหารเรียกพลังงานในมื้ออาหารประจำเช่น ข้าวกล้อง จมูกข้าวสาลี ผักใบเขียว ถั่วเมล็ดแห้ง เผือก มันเทศ เพราะมีวิตามินบีชนิดต่างๆ จะช่วยบำรุงระบบประสาท และอาหารจำพวกแป้งไม่ขัดขาวจะให้พลังงาน ช่วยให้ใจสงบ

เลี่ยงมลพิษในเมือง

ควรอยู่ในอาคารให้มากที่สุดที่จะมากได้ในช่วงที่มีหมอกควันสูงสุด คือช่วงประมาณ 14.00 นาฬิกา หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายภายนอกอาคาร บริเวณใกล้ถนน หากหลีกเลี่ยงควันพิษได้ยากการกินอาหารที่มีวิตามินซีและวิตามินอี จะช่วยป้องกันได้บ้าง

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

แม้โลกภายนอกจะสับสนอลหม่านเพียงใด หากโลกภายในของเรายังเข้มแข็งเป็นปกติดี ความเจ็บป่วยจะไม่เยื้องกรายมาเยี่ยมแน่นอน

และถ้าวันนี้ใจของคุณยังแข็งแรงดีอยู่ เผื่อแผ่ความสุขนี้ไปยังคนรอบข้างที่ยังอ่อนแอเปราะบางด้วย อย่างน้อยเพื่อคนอื่นหรือแม้แต่คมไผ่จะได้อยู่ในสังคมเมืองที่เป็นสังคมแห่งความสุขอย่างแท้จริง

โรคจิตเวช

รุนแรงแค่ไหนจึงเข้าข่ายเป็นโรคจิตเวช

หากมีภาวะทางจิตไม่ปกติแล้วไม่รีบหาทางเยียวยาอาจพัฒนาไปสู่การเป็นโรคทางจิตเวชได้ ซึ่งการประเมินว่าใครเข้าข่ายเป็นโรคทางจิตเวชมี 4 ขั้นตอน ดังนี้

  1. กระทบกับตัวเอง ความเป็นอยู่หรือชีวิตประจำวัน
  2. กระทบต่อคนรอบข้าง คือมีคนรอบข้างเริ่มเดือดร้อน
  3. สังคมเดือดร้อน แต่เจ้าตัวไม่รู้สึกเดือดร้อน เพราะสร้างโลกในจินตนาการของตัวเองขึ้นมา
  4. ระยะเวลา ต้องนานพอสมควรในการติดตามผลเพราะโรคทางจิตเวชไม่สามารถเจาะเลือดพิสูจน์เหมือนการติดเชื้ออื่นๆ ใช้ระยะเวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 1 เดือนขึ้นไป

 

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 196

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.