ลำไส้ แปรปรวน
โรคไอบีเอส เป็นโรคของ ลำไส้ ที่ทำงานผิดปรกติ ทำให้เกิดการปวดท้องร่วมกับมีอาการท้องเสียหรือท้องผูก หรือท้องเสียสลับกับท้องผูก โดยที่ตรวจไม่พบความผิดปรกติอย่างอื่น เช่น ส่องกล้องตรวจลำไส้จะไม่มีอาการอักเสบ ไม่มีแผล ไม่มีเนื้องอกหรือมะเร็ง เป็นต้น และการตรวจเลือดต่างๆไม่พบความผิดปรกติ
รวมทั้งไม่มีโรคของอวัยวะอื่นๆที่จะมีผลให้การทำงานของลำไส้ผิดปรกติ เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษหรือโรคเบาหวาน เป็นต้น ที่สำคัญโรคไอบีเอส เป็นๆหายๆ หรืออาจเป็นตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตาม โรคนี้จะไม่ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมแม้จะเป็นมาหลายๆปี และไม่ทำอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
ต้นเหตุอาการแปรปรวน
แม้โรคลำไส้แปรปรวนจะเป็นโรคที่พบบ่อยและมีการศึกษามานาน แต่ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคที่แน่ชัด ขณะนี้อาจกล่าวได้ว่าโรคนี้มีปัจจัยในการเกิดที่สำคัญอยู่ 3 ประการ คือ
- การบีบตัวหรือเคลื่อนตัวผิดของลำไส้ปรกติ เป็นผลมาจากการหลั่งสารหรือฮอร์โมนบางอย่างในผนังลำไส้ผิดปรกติ นำไปสู่อาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องผูก
- ระบบประสาทที่ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า หรือตัวกระตุ้นมากกว่าปรกติ เช่น หลังกินอาหารซึ่งในคนปรกติจะกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่ผู้ป่วยโรคนี้จะมีการตอบสนองมากกว่าปรกติ มีการบีบตัวของลำไส้มากขึ้น จนมีอาการปวดท้องและท้องเสีย หรือท้องผูก
- ความผิดปรกติในการควบคุมการทำงานของแกนที่เชื่อมโยงระหว่างประสาทรับความรู้สึก ระบบกล้ามเนื้อ และสมอง โดยเกิดจากความผิดปรกติของสารที่ควบคุมการทำงาน ซึ่งมีหลายชนิด และทำหน้าที่ต่างกัน
คำแนะนำในการดูแลตัวเองเบื้องต้น ควรทำอย่างไร
ติดตามต่อใน หน้าถัดไป
คำแนะนำในการดูแลตัวเอง
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของโรคนี้ จึงมีแต่การรักษาตามอาการ โดยแพทย์จะให้ยาต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลำไส้เพื่อลดการปวดท้อง หรือให้ยาระบายในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูก
อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตัวเรื่องอาหาร และการควบคุมความเครียดยังเป็นสิ่งที่จำเป็นและช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้
1.อาหาร
- ควรงดอาหารที่มีไขมันสูง ไม่ว่าจะเป็นไขมันจากสัตว์หรือพืช เช่น เนื้อสัตว์ทุกชนิด หนังเป็ดหนังไก่ นม ครีม เนย น้ำมันพืช และอะโวคาโด
- เพิ่มอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้แทน เพื่อช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ แม้การเพิ่มอาหารในกลุ่มหลังนี้จะทำให้เกิดแก้สจนอาจท้องอืด แต่เมื่อผ่านไปสัก 1 – 2 สัปดาห์ ร่างกายจะปรับตัวได้เอง
- ควรกินอาหารทีละน้อยแต่บ่อยขึ้น ไม่ควรกินจนอิ่มมาก
- ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รวมทั้งกาแฟ ของดอง น้ำอัดลม และยาบางชนิด
2. ความเครียด
ความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้มีการเกร็งตัวของลำไส้เพิ่มขึ้น จึงควรผ่อนคลายความเครียด ทำจิตใจให้สบาย จะช่วยควบคุมอาการให้ดีขึ้น
ข้อมูลเรื่อง “ยังยิ้มได้ แม้ในวันที่ ลำไส้แปรปรวน” จาก นิตยสารชีวจิต