7 พฤติกรรมทำบ่อยเสี่ยง มะเร็งตับ
เมื่อพูดถึงโรค มะเร็งตับ หรือมะเร็งชนิดไหน ๆ ก็ตาม คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่รู้หรือไม่ว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการกินอยู่ มีผลใหญ่หลวงต่อการรอดพ้นจากการเป็นโรคมะเร็งร้ายค่ะ
เรามาดูกันค่ะว่า พฤติกรรมแบบไหนมีโอกาสนำไปสู่โรค เมื่อทราบแล้วจะได้ปรับเปลี่ยนทันเวลา
1. มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยกับผู้มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ
การมีเพศสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
เนื่องจากเชื้อไวรัสตับอักเสบสามารถติดต่อผ่านทางสารคัดหลั่งอย่างน้ำอสุจิหรือน้ำในช่องคลอดบุคคลต่าง ๆ เหล่านี้จึงมีโอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบและนำไปสู่การเป็นมะเร็งตับได้
2. คลุกคลีกับผู้มีเชื้อไวรัสตับอักเสบ
ผู้ที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้ออาจมีโอกาสได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบผ่านทางเลือด น้ำมูก น้ำลาย เช่น เลือดของผู้ป่วยเปื้อนหรือกระเซ็นถูกบาดแผล การสัก ผู้เสพยาที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การติดเชื้อจากแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งจะส่งผลให้เป็นมะเร็งตับเมื่ออายุมากขึ้น
3. ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน
เช่น แปรงสีฟัน มีดโกนหนวด ซึ่งของใช้ประจำตัวเหล่านี้อาจสัมผัสถูกน้ำลายและเลือดของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อจากการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน
4. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
ผู้ที่ดื่มเหล้าเบียร์เป็นประจำ มีความเสี่ยงเป็นโรคตับแข็งได้ และโรคตับแข็งก็มีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งตับในที่สุดช่วงหนุ่มสาวร่างกายยังแข็งแรงดี ดื่มเท่าไรก็ไม่มีใครเป็นมะเร็งตับแบบเฉียบพลัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนอายุ 50 - 60 ปี ก็เริ่มแสดงอาการผิดปกติที่สะสมมาตั้งแต่สมัยหนุ่มสาว การที่ผู้ชายเป็นโรคมะเร็งตับมากกว่าผู้หญิง สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าผู้หญิง
5. กินอาหารเสี่ยงมะเร็งตับ
มีอาหารหลายชนิดที่ชักนำไปสู่การเป็นมะเร็งตับได้หากกินเป็นประจำ ได้แก่
- อาหารอุดมเชื้อรา อาหารที่มักมีเชื้อราปนเปื้อนอยู่โดยที่เรามองไม่เห็น โดยสารแอลฟาท็อกซินที่เชื้อราผลิตขึ้นจะเป็นตัวก่อโรคมะเร็งตับ คือ อาหารแห้งและหมักดอง เช่น พริกป่น พริกแห้ง ปลาแห้ง เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ เมล็ดพืชที่มีน้ำมันปริมาณสูง อาทิ ถั่วลิสง ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มะพร้าว เครื่องเทศและสมุนไพรต่าง ๆ อาทิ กระเทียม หัวหอม
- อาหารทอด ปิ้ง ย่าง และรมควัน เช่นไก่ย่าง หมูปิ้ง ไส้กรอกรมควัน ขาหมู ปลารมควัน โดยอาหารเหล่านี้จะมีสารเฮเทอโรไซคลิกอะมีน (Heterocyclic Amine) และสารอะคริลาไมด์ (Acrylamide) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่ทำให้เกิดมะเร็งในอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งตับด้วย
- เนื้อปลาดิบ ๆ สุก ๆ เช่น ปลาน้ำจืดต่าง ๆ อย่างปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลาซิว ปลาแก้มช้ำ ปลาขาว ปลาแม่สะแด้ง ฯลฯ ที่นำมากินแบบดิบ ๆ หรือปรุงกึ่งดิบกึ่งสุก เช่น ก้อย ลาบ ปลาส้ม ปลาจ่อม หม่ำปลา ปลาหมก ฯลฯ อาจมีพยาธิใบไม้ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อในท่อน้ำดีหรือถุงน้ำดีและนำไปสู่มะเร็งท่อน้ำดีในตับ
- เนื้อสัตว์หมักที่ผสมดินประสิว อาหารประเภทนี้จะมีสารไนโตรซามีน (Nitrosamine) ซึ่งเป็นสารพิษเมื่อร่างกายได้รับสะสมไว้นานวัน ก็นำไปสู่การเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด
6. เป็นโรคอ้วน เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง
พบว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ แม้ไม่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซีและไม่ได้ดื่มเหล้า แต่เป็นโรคอ้วนเบาหวาน และไขมันในเลือดสูง ก็มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งตับ เนื่องจากโรคทั้งสามนี้ทำให้เกิดการอักเสบภายในตับจนกระทั่งนำไปสู่มะเร็งตับได้
7. สูบบุหรี่
การสูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังหรือตับแข็งอยู่แล้ว
โรค มะเร็งตับ ป้องกันได้
มีหลายวิธีที่ช่วยให้เราห่างไกลจากโรค มะเร็งตับ ได้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยเฉพาะการกินอยู่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดและเป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้ เพื่อสุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนยาวอย่างมีความสุข มีคำแนะนำดังนี้
- เลิกใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งไม่กินอาหารและดื่มน้ำในภาชนะเดียวกัน ควรคำนึงถึงอนามัยพื้นฐานง่าย ๆ ข้อนี้ไว้เสมอ
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ ซึ่งวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีมักจะได้รับการฉีดตั้งแต่เป็นทารกแรกเกิด
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเป็นสาเหตุของโรคตับแข็งที่นำไปสู่มะเร็งตับ
- ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป คนอ้วนมักมีระดับไขมันในเลือดสูงซึ่งจะชักนำไปสู่มะเร็งตับได้ง่ายกว่าคนรูปร่างปกติ จึงควรออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- ควรกินอาหารสะอาด ปรุงสุกใหม่ ๆ ข้อมูลจากหนังสือ แนวทางป้องกันโรคมะเร็งสำหรับประชาชน โดยนายแพทย์บุญเติม แสงดิษฐ แนะนำว่า ไม่ควรกินอาหารที่เกิดเชื้อราได้ง่าย อาหารที่ปรุงไว้ค้างคืน อาหารใส่สารกันบูด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ
- ผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรังหรือเป็นพาหะโรคไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ต้องงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ข้อมูลจากหนังสือ จับเข่าคุยกันเรื่องไวรัสตับอักเสบบี ภัยเงียบที่ป้องกันและรักษาได้ โดย นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ และนายแพทย์ ดร.ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์ แนะนำว่า คนที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและมีอายุเกิน 40 - 45 ปี หรือผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรัง ต้องตรวจหามะเร็งตับทุก 6 เดือนเพื่อป้องกันและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
เทคนิคสุดเลิศช่วยดูแลตับ
เรามีวิธีปรับพฤติกรรมเพื่อส่งเสริมการทำงานของตับมาแนะนำ ดังนี้
1. นอนก่อนห้าทุ่ม ตามตำราแพทย์แผนจีนกล่าวว่า เวลานอนมีความสำคัญต่ออวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งตับด้วย ข้อมูลจากหนังสือ 100วิธีรู้ทันโรคตับ โดย นายแพทย์หวังเจียฉี แพทย์หญิงเฉียวเซิ่งหลินและ นักโภชนาการหยางเหม่ยหยิง แนะนำให้ผู้ป่วยโรคตับเข้านอนก่อนเวลา 23.00 น. เนื่องจากเป็นเวลาที่ตับกำลังทำหน้าที่ในการกำจัดพิษออกจากร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
2. ใจเย็น ๆ และผ่อนคลาย อารมณ์ต่าง ๆ เช่น ความโกรธความเศร้าเสียใจ ดีใจมากไป จะทำร้ายตับของเรา เมื่อเกิดความโกรธระดับความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลเสียต่อตับโดยตรง จึงควรฝึกใจให้สงบผ่อนคลาย ลดความโกรธหรือโมโหด้วยการหายใจเข้า-ออกช้า ๆ
3. กินเม็ดบัวสดโดยเฉพาะเม็ดบัวไทย ลดความเสี่ยงการเกิด มะเร็งตับ ได้ เพราะอุดมไปด้วยสารแอนติออกซิแดนต์ ซึ่งมีคุณประโยชน์ในการป้องกันมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งตับ และสามารถช่วยขับแอลฟาท็อกซินออกจากร่างกายได้
แนะนำให้กินเม็ดบัวสดโดยไม่ต้องลอกเยื่อหุ้มสีขาว และไม่ต้องดึงดีบัวที่อยู่กลางเมล็ดออก ก็จะได้รับสารแอนติออกซิแดนต์เต็ม ๆ
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียตั้งแต่วันนี้ เพื่อห่างไกลโรคมะเร็งตับในวันข้างหน้า ชีวจิต เชื่อว่าทุกคนทำได้ค่ะ
คอลัมน์ชีวจิต นิตยสารชีวจิต ฉบับ 385
บทความอื่นที่น่าสนใจ
ผู้ป่วยมะเร็ง ออกกำลังกายอย่างไรดี ?
เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย
เดินเร็ว ช่วยป้องกันกระดูกเสื่อมได้จริง
แรงกระแทก ดีต่อกระดูกอย่างไร หมอมีคำตอบ
มหัศจรรย์แห่ง การเดิน แรงกระแทกต่ำ ทำได้ทุกคน
บอกต่อวิธีชะลอวัย 1. เร่งเมแทบอลิซึม 2. เร่งขับพิษ เพื่อสุขภาพดี
ติดตามชีวจิตได้ที่