เมื่อใดที่คุณป่วยกายเล็กๆ น้อยๆ เราคงมองหายากินเพื่อรักษาโรคหรืออาการเหล่านั้นให้หาย
แต่หากวันหนึ่งความเจ็บป่วยทางกายที่หนักหนา ได้ทำร้ายจิตใจของคุณหรือคนที่คุณรักให้เจ็บหนักด้วยล่ะ คุณจะรับมืออย่างไร
นั่นเพราะความจริงแล้ว การกิน – ฉีด หรือ ฉาย สารพัดยารักษาโรค อาจไม่ใช่ทางออกเดียวที่ทำให้สุขภาพคนเราดีขึ้น โดยเฉพาะสุขภาพใจ แต่ตัวช่วยนี้กลับเป็น “มิตรภาพและความสัมพันธ์”
“มิตรภาพ” สำคัญฉไน
คุณเคยทราบหรือไม่ ความสุข – ความปรารถนาดี แพร่กระจายได้เหมือนโรคติดต่อ…
จากงานศึกษาด้านความสัมพันธ์เชิงบวกที่ตีพิมพ์ลงในBritish Medical Journal (BMJ) วารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ ที่ศึกษาพฤติกรรมของคน 4,700 นานกว่า 20 ปี พบว่าคนที่ร่าเริงเปี่ยมสุข และคิดบวก มีแนวโน้มทำให้คนใกล้ตัวอย่างคู่ชีวิต พี่น้อง เพื่อน และเพื่อนบ้านมีความสุขไปด้วย
ยิ่งกว่านั้น จากบทความในเว็บไซต์ที่รับรองโดยมหาวิทยาลัยมินเนโซตา สหรัฐอเมริกา กล่าวถึงงานวิจัยจำนวนมากที่ยืนยันว่ามิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ดีนั้นส่งผลดีต่อสุขภาพ ทั้งการมีอายุยืนยาวขึ้น เพิ่มความคิดบวกที่ช่วยให้รับมือกับความเครียดได้และลดพฤติกรรมทำลายสุขภาพลงอย่างเห็นได้ชัด
…วันนี้เรามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับมิตรภาพที่ช่วยเยียวยาโรคร้าย 5 ประสบการณ์ มาเล่าให้คุณฟังค่ะ
เพื่อนร่วม “โรค” เติมสุข + สุขภาพเลิศ
ประสบการณ์แห่งมิตรภาพที่กำลังจะนำเสนอนี้ เป็นเรื่องราวของกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง3 คน ที่เส้นทางการดูแลตัวเองแบบชีวจิตทำให้ได้มาเจอกัน
“เรา เจอกันตอนเข้าคอร์สดูแลสุขภาพแบบชีวจิตที่จังหวัดเลยเมื่อ15 ปีก่อน ตอนนั้นดิฉันตัดเต้านมไปแล้ว และตัดสินใจว่าจะหยุดการรักษาแผนปัจจุบัน หันมาดูแลตัวเองตามแนวทางนี้เลยมาร่วมคอร์ส”
คุณหรรษา ศุภรเศวต อายุ 51 ปี อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเล่าถึงที่มาที่ทำให้เธอกับ คุณสุรีย์ เอกปัตชา อายุ 59 ปีที่ป่วยเป็นมะเร็งลิ้น และคุณเดือนเพ็ญ ชุ่มเกษรกูลกิจ อายุ 47 ปีที่เป็นมะเร็งปากมดลูกได้รู้จักกัน เธอบอกว่ามีบางอย่างทำให้ทั้งสามคนเริ่มหันมาพูดคุยกัน …แล้วความผูกพันก็เริ่มต้น
คุณ สุรีย์เล่าถึงความเอาใจใส่ดูแลที่มีต่อเพื่อนว่า มีครั้งหนึ่งที่คุณหรรษาป่วยมากต้องเข้าโรงพยาบาล คุณสุรีย์ที่กำลังจะไปตรวจสุขภาพตามที่แพทย์นัดก็ทิ้งทุกอย่างตรงหน้ารีบ บึ่งมาหาเพื่อน ตามด้วยคุณเดือนเพ็ญที่ก็ทิ้งฉายา ‘คุณนายสายเสมอ’ มาถึงก่อนใครพร้อมปิ่นโตแกงจืดมรกตแสนอร่อย
“ไม่ต้องชั่งใจเลยว่าอะไรสำคัญกว่า เรารู้ว่าเรื่องเรารอได้ เพื่อนต้องมาก่อน” คุณเดือนเพ็ญกล่าว
“สำหรับ คนป่วย สิ่งที่เราอยากปรึกษากับใครสักคนไม่ได้มีแค่เรื่องโรค แต่มีเรื่องความเข้าอกเข้าใจในการใช้ชีวิตด้วย เพราะต่อให้คนในครอบครัวเขารักและดูแลเราดีแค่ไหน แต่เขาไม่ได้ป่วยอย่างเราจึงไม่เข้าใจความรู้สึกเราทั้งหมด แต่ถ้าเป็นคนป่วยด้วยกัน เราพูดคุยกันได้ทุกเรื่องอย่างไม่มีเส้นกั้น …หรือบางครั้งก็แทบไม่ต้องพูด แค่มองตากันเราก็รู้แล้วว่าอีกฝ่ายต้องการบอกอะไร”
คุณสุรีย์กล่าวย้ำถึงเหตุผลที่ผู้ป่วยด้วยกันจะเข้าใจกันมากที่สุด โดยคุณหรรษากล่าวเสริมว่า
“บาง เรื่องคิดคนเดียวก็ฟุ้งซ่าน วนอยู่ในอ่างเพราะมีอารมณ์มาปน คุยกับเพื่อนเขาจะคอยชี้ให้เรามองมุมอื่นที่อาจยังไม่เห็น แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจเราจะเคารพกัน ไม่บังคับหรือก้าวข้ามเส้น ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือใหญ่ก็ตาม ทุกเรื่องที่คุยเป็นการช่วยกันเตือนสติมากกว่า”
“อย่างบางเรื่องที่ เราไม่มั่นใจ แค่ได้เล่าให้เพื่อนฟังก็รู้สึกกล้าและมั่นใจขึ้น เพราะถึงเพื่อนไม่พูดอะไร …เราก็รู้ว่าเขาจะอยู่ข้างเราเสมอ” คุณเดือนเพ็ญยืนยันอีกครั้งในความสัมพันธ์ที่แข็งแรงนี้
คุณสุรีย์เอง ก็มีเหตุการณ์ที่ประทับใจไม่รู้ลืม ครั้งที่ต้องไปร่วมกิจกรรมชีวจิตที่สวนลุมพินี และเธอต้องขึ้นสาธิตท่ารำกระบอง วันนั้นแดดแรงมากจนเธอเริ่มกังวลว่าจะหน้ามืดเพราะท้องว่าง แต่ด้วยต้องระวังเรื่องอาหารการกินมากเพื่อควบคุมโรคมะเร็งที่เป็นอยู่เธอ จึงไม่กล้าซื้ออาหารแถวนั้นกิน
“ระหว่างที่คิดอยู่ จู่ๆ หรรษาก็ส่งกระติกน้ำเก็กฮวยผสมลูกหม่อนให้ เดือนเพ็ญก็เอาอาหารนึ่งที่เขาเตรียมมาให้กิน เราจึงมีแรงขึ้นไปแสดงบนเวที และโชว์ได้อย่างสวยงาม สำหรับพวกเขาคงเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเราทำอาหารสุขภาพมาแบ่งกันกินเสมอ แต่สำหรับดิฉัน วันนั้นเรารู้เลยว่า เราฝากชีวิตกับเพื่อนได้”
ทั้งสามคนเชื่อว่า ที่ทุกวันนี้สุขภาพยังแข็งแรงอยู่ได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการมี “เพื่อน” ร่วมโรคอยู่ข้างกายของพวกเธอนั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้คงยืนยันได้แล้วว่า แม้โรคทางกายจะรุมเร้าร่างเพียงใด หากหัวใจได้รับการเติมเต็มด้วยความรักความใส่ใจ จิตใจที่แข็งแรงก็น่าจะพยุงให้คุณมีแรงดูแลกายให้ดีขึ้น
หรืออย่างน้อยก็อยู่กับความเจ็บป่วยอย่างมีความสุข และยอมรับ
…ความทุกข์ที่กายก็อาจจะเล็กลงอย่างที่คุณคิดไม่ถึงก็เป็นได้