3 METHODS รักษา นิ่วในถุงน้ำดี
หลายคนที่ผมรู้จัก เริ่มเรียงคิวกันเข้ารับการผ่าตัด นิ่วในถุงน้ำดี คือเอาก้อนนิ่วออกไปจากถุงน้ำดี บางรายถึงขั้นต้องตัดถุงน้ำดีออก เพื่อเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม แถมหมอยังกำชับกำชาอีกด้วยว่า ถ้าไม่ยอมผ่าตัดเอาเจ้านิ่วเหล่านี้ออก จะเป็นเหตุให้โรคมะเร็งในถุงน้ำดีและระบบทางเดินท่อน้ำดี ถามหาได้ในภายหลัง
คนไข้เลยพากันกลุ้มใจ ไหนจะเป็นนิ่ว ไหนจะเป็นมะเร็ง ปักษ์นี้ผมจึงขออาสามาคลี่คลายปัญหาเรื่อง “นิ่ว” เพื่อที่คุณผู้อ่านจะได้ไม่ต้อง “หน้านิ่วคิ้วขมวด” กันยังไงล่ะครับ
คุณเป็นนิ่วแบบไหนกันแน่
ผมขอแบ่งประเภทนิ่วในถุงน้ำดีออกเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มใช้หลักการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน ดังนี้
กลุ่มที่ 1 มีนิ่วในถุงน้ำดี แต่ไม่มีอาการอะไรเลย
ภาษาหมอ เรียกว่า Incidental Gallstones กลุ่มนี้ตามหลักการแพทย์มาตรฐานสากลมีอยู่ว่า ให้อยู่เฉย ๆ อย่าไปยุ่ง เพราะความเสี่ยงที่คนเป็นนิ่ว โดยไม่มีอาการจะเกิดภาวะแทรกซ้อนภายหลังนั้นมีน้อยมาก จนไม่คุ้มกับความเสี่ยงในการผ่าตัด ซึ่งมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน
ถ้าแพทย์คนไหนเข้าไปยุ่ง หมายความว่าจับคนไข้ไปผ่าตัดตะพึดตะพือ แพทย์คนนั้นถ้าไม่บ้าก็ต้องเมาอะไรสักอย่าง เพราะคนในกลุ่มนี้ถ้าเป็นหญิงมีจำนวนถึง 9 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นชายมีจำนวน 6 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยก็ประมาณ 7.5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วไป นั่นหมายความว่า ถ้าคุณคิดจะจับคนไทยเหล่านี้มาผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีออกทุกคน ก็ต้องจับคนมาผ่าตัดถึง 4.8 ล้านคน
แปลว่า คุณจะต้องสร้างโรงพยาบาลขึ้นมา เพื่อการนี้โดยเฉพาะอย่างน้อย 100 โรงเพื่อผ่าตัดเอานิ่วออกทุกวันเป็นเวลาติดต่อกัน 26 ปีจึงจะหมด นี่ยังไม่นับว่าจะไปเอาหมอเอาพยาบาลที่ไหนมาผ่าให้นะ แล้วเมื่อผ่าตัดได้หมดแล้วพอครบปีที่ 26 คนไทยซึ่งมีอัตราการเกิด 12 ต่อ 1,000 ก็จะเพิ่มขึ้นจากตอนเริ่มโครงการผ่าตัดนิ่วแบบรูดมหาราช 26 ปีที่ผ่านมานี้อีก 20.2 ล้านคน
ซึ่งก็จะเป็นนิ่วกันอีกหนึ่งล้านห้าแสนคน ก็ต้องผ่าตัดกันต่อไปอีก อีก อีก ไม่รู้จบ ดังนั้นหมอ
ที่คิดทำเรื่องอย่างนี้ผมจึงว่าถ้าไม่บ้าก็ต้องเมาไง
กลุ่มที่ 2 มีนิ่วในถุงน้ำดี ร่วมกับมีอาการของนิ่ว
หมายถึง มีอาการปวดท้องใต้ชายโครงขวาอย่างแรง แบบผีบิดไส้ (Biliary Colic) กลุ่มนี้ภาษาหมอเรียกว่าเป็น Uncomplicated Gallstone Disease ต้องผ่าตัดเอานิ่วออกแน่นอน
เพราะหากใครได้เจอสักหนึ่งครั้ง ก็ไม่อยากจะเจออีกเลย เพราะมันปวดมาก…ก เหงื่อแตกเหงื่อแตน และปวดนานร่วมครึ่งชั่วโมง แถมต่อไปจะมีโอกาสมากขึ้น ที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ถุงน้ำดีอักเสบ อย่างมีนัยสำคัญ การผ่าตัดจึงเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนไปด้วยในตัว
กลุ่มที่ 3 มีนิ่ว ร่วมกับมีอาการไม่เจาะจง
เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย กลุ่มนี้เป็นเวทีเปิดให้หมอทะเลาะกันแก้เซ็งในชีวิตอันเงียบหงอยของการเป็นแพทย์ หมอบางคนก็จะจับคนไข้ผ่าตัดหมด ส่วนหมอที่อนุรักษ์นิยม ก็ไม่ยอมผ่าตัด เพราะถือว่าอาการเปะปะแบบนั้น ไม่ใช่อาการจากนิ่ว ผ่าไปก็ไลฟ์บอย
เพราะอาการไม่หาย หมอสองฝ่ายทะเลาะกันมาแล้วกว่า 30 ปี และ ณ ขณะนี้ก็ยังทะเลาะกันอยู่ เพราะขึ้นชื่อว่าหมอทะเลาะกันแล้วย่อมไม่มีวันจบ ต้องอาศัยคนไข้เป็นคนตัดสินจึงจะจบได้
มีนิ่วในถุงน้ำดี เสี่ยงมะเร็ง…จริงหรือ
ถามว่า คนไข้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดีมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งกี่เปอร์เซ็นต์ ตอบว่า หากวัดจากผู้ที่เป็นโรคมะเร็งถุงน้ำดีไปเรียบร้อยแล้ว ก็พบว่าส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70 – 90) เป็นนิ่วอยู่ก่อน แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญอยู่ที่อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งถุงน้ำดี ที่เกิดกับประชากรโดยรวมมันต่ำมาก คือสถิติของประเทศ
สหรัฐอเมริกาซึ่งประเมินจากฐานข้อมูลสำมะโนประชากรเชิงระบาดวิทยา (SEER)
พบมะเร็งถุงน้ำดี 1 – 2 รายต่อประชากร 1 แสนคนเท่านั้น
เมื่อคิดแล้วความเสี่ยงที่คนมีนิ่วในถุงน้ำดีหนึ่งคนจะมีโอกาสเป็นมะเร็งถุงน้ำดี
จึงมีเพียงประมาณ 0.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ต่ำกว่าความเสี่ยง
จากการเกิดภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด (2.6 เปอร์เซ็นต์หากผ่าด้วยวิธีส่องกล้อง)
มาตรฐานปัจจุบันจึงไม่จับคนไข้ที่มีนิ่วแต่ไม่มีอาการอะไรมาผ่าตัดเพื่อป้องกัน
มะเร็ง เพราะความเสี่ยงมันมากกว่าประโยชน์ที่จะได้ยังไงล่ะครับ
เรื่อง นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ
ชีวจิต 455 – นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 19 : 16 กันยายน 2560
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
บทความน่าสนใจอื่นๆ
6 WAY ลดรับสารพิษ ลดเสี่ยงมะเร็ง
มะเร็ง ตัวร้ายที่เกิดจาก “อะคริลาไมด์” สารพิษที่แค่กินของร้อน ก็ได้รับไม่รู้ตัว
เลือกทาน อาหารลดสารพิษ เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ (IMMUNITY BOOSTING FOOD)