ระบบย่อย พัง ไม่จบแค่ลำไส้

ท้องเสีย ลำไส้แปรปรวน ที่ไม่จบแค่ลำไส้

ใครมีปัญหาเรื่อง ท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือ ระบบย่อย มีปัญหา ต้องอ่านบทความนี้ค่ะ เพราะปัญหาเหล่านี้หากไม่ดูแลให้ดี อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาได้ เพราะระบบย่อย และลำไส้อาหารเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพที่ดีค่ะ

คุณหมอนัท  หรือ แพทย์แผนไทยณัฐพล วาสิกดิลก ผู้เขียหนังสือ ใครไม่ป่วยยกมือขึ้น  ได้กล่าวถึง 4 ปัญหาใหญ่ของ ระบบย่อย ไมว่าจะมาจากการที่ท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อ ลำไส้แปรปรวน หรือแม้กระทั่งลำไส้อักเสบ

ลมเยอะ

สำหรับคนที่กินอาหารเยอะ อาจทำให้มีปัญหาจุกแน่นท้อง และหน้าอก ลำไส้ย่อยอาหารไม่หมด มีอาหารตกค้างบ่อย จนทำให้มีจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยอาหารเยอะเช่นกัน จนนำไปสู่การเกิดแก๊สได้ง่าย มีอาการกรดไหลย้อน หายในลำบาก ท้องบวม ขับถ่ายลำบาก

อารมณ์แปรปรวน

ลำไส้เชื่อมโยงถึงไขสันหลังและสมอง เป็นระบบประสาทส่วนกลางที่เชื่อมโยงถึงกัน ฉะนั้นเมื่อไรก็ตามที่เรามีปัญหาลำไส้จะส่งผลต่ออารมณ์ได้ เช่น หากลำไส้ย่อยอาหารไม่ดี มีอาการท้องอืด ก็อาจทำให้คิดอะไรไม่ออก ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หงุดหงิดง่าย และอาจส่งผลต่อระยะยาว เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า เพราะบบประสาททำงานอยู่ตลอด

ในทางการแพทย์แผนไทย เรียกอาการเหล่านี้ว่า “ธาตุลมกำเริบ” คือระบบประสาททำงานไม่หยุด อักเสบตลอดเวลา หากเป็นมากๆ จะกลายเป็นกรดไหลย้อนเรื้อรัง

ระบบย่อย

ไขมันพอกตับหรือโรคอ้วน

เมื่อไรก็ตามที่ลำไส้ย่อยอาหารไม่หมด โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง ไขมันจะกลายเป็นเมือกเคลือบที่ผนังลำไส้ โดยเมือกพวกนี้จะทำให้ลำไส้ดูดซึมอาหารได้ไม่ค่อยดี และกลายเป็นที่กักเก็บของอาหารที่เน่าเสีย ซึ่งการมีอาหารเก่าตกค้างอยู่เยอะ ก็จะส่งผลต่อร่างกายให้ป่วยได้ง่าย เช่น คันตามตัว ตับมีสารพิษ ไม่สบายเนื้อสบายตัว มีกลิ่นตัว

อีกปัญหาคือเมื่อลำไส้ดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง ตับของเราจะต้องเก็บพลังงานในรูปไขมันมากขึ้น กลายเป็นโรคตับแข็ง ไขมันพอกตับ นำไปสู่ตับอักเสบ และโรคอ้วน ถ้าต้องการรักษาโรคไขมันพอกตับ เบื้องต้นให้แก้ที่ลำไส้ก่อนและซับเมือกมัน โดยการกินผักให้เยอะขึ้น เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง

น้ำเหลืองเสีย

ลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กทำงานคู่ไปกับต่อมน้ำเหลือง เพื่อลำเลียงสารอาหาร กำจัดของเสียส่วนเกิน ดังนั้นเมื่อเรากินอาหารที่มีไขมันไม่ดี เช่น ไขมันจากเนื้อสัตว์ปริมาณมาก ไขมันจากของทอด เหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในระบบน้ำเหลือง แม้เรากินของที่มีไขมันดี เช่น ปลา แต่เรานำปลาไปทอด ไขมันดีในปลาก็จะกลายเป็นไขมันที่ไม่ดีต่อร่างกายได้ จนเกิดภาวะน้ำเหลืองเสีย เพราะขับของเสียออกไม่ทัน

สภาวะน้ำเหลืองเสียแสดงอาการออกมาทางผิวหนัง เช่น เวลาส่องกระจกให้สังเกตตามร่างกาย ว่ามีผื่นขึ้นตามหัวไหล่หรือหลัง รู้สึกมีอาการแพ้ง่ายขึ้น หรือในช่วงที่อากาศมีฝุ่นเยอะ คนที่น้ำเหลืองไม่ดีก็จะแสดงอาการออกมาเร็วกว่าคนปกติ เช่น คัดจมูก ตาบวม ในขณะที่คนทั่วไปอาจจะยังไม่แสดงอาการ

แก้ปัญหา ระบบย่อย ด้วยวิธีแพทย์แผนจีน

และเมื่อทางแพทย์ไทยว่ามาเช่นนี้แล้ว แอดมีวิธีการดีๆ ที่จะใช้เพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้น ที่เกิดจากปัญหาในระบบย่อยไม่ดี อย่างอาการท้องผูก โดยเป็นศาสตร์ของแพทย์แผนจีนมาให้ทุกคนได้ลองนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำได้ง่าย ไม่ยากเลยค่ะ

แก้ท้องผูก มีด้วยกันหลายวิธี โดย แพทย์แผนจีนโสรัจ นิโรธสมาบัติ รองคณบดี คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้กล่าวว่าการขับถ่ายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายขับของเสียและสารพิษตกค้างออกไปได้

สำหรับศาสตร์การแพทย์จีน แบ่งอาการท้องผูกออกเป็น 4 ประเภท ตามต้นตอของสาเหตุ โดยมีวิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน

ระบบย่อย

กินอาหารรสเผ็ดหรือหวานมัน

การกินอาหารที่มีรสเผ็น หวาน หรือมันมากเกินไป จะทำให้ความร้อนเข้าสู่ลำไส้ จนทำให้น้ำในลำไส้แห้ง ส่งผลให้อุจจาระที่ควรนิ่ม เพราะมีน้ำในลำไส้หล่อเลี้ยง กลายเป็นแข็งค้างอยู่ในลำไส้ จนยากที่ลำไส้จะบีบรัดเพื่อขับออกมาได้ นอกจากนั้น การกินอาหารที่มีรสเผ็ด หวาน และมัน มากเกินไป จะทำให้เกิดอาการกระหายน้ำ มีกลิ่นปาก และปัสสาวะอาจมีสีเข้ม ตามมาด้วย

วิธีแก้ไข เพิ่มความชุ่มชื้นให้ลำไส้ โดยการกินกล้วย ฝรั่ง มะละกอ สับปะรด มันเทศ แตงกวา ถั่วงอก มะเขือเทศ ฟัก ผักบุ้ง

กินอาหารที่ดิบหรือเย็นมากเกินไป

ใครที่ชอบกินของดิบ หรือดื่มน้ำเย็น อาจต้องลดลง เพราะก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดท้องผูกได้เช่นกัน โดยเมื่อความเย็นเข้าสู่ลำไส้ จะทำให้กล้ามเนื้อหดตัว อุจจาระก็แข็ง จนเกิดอาการท้องผูกขึ้นได้ และการท้องผูกจากสาเหตุนี้ จะสังเกตได้ว่ามีอาการปวดท้อง แน่นท้อง มือเท้าเย็นร่วมด้วย

วิธีแก้ไข เพิ่มความอุ่นให้ลำไส้ ขจัดความเย็นออก โดยกินสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น หัวหอม ขิง ข่า ต้นหอม และเพิ่มปริมาณพริก ในการปรุงอาหาร

มีความเครียดสะสม หรือนั่งมาก

ความเครียด ส่งผลต่อทุกระบบของร่างกาย รวมถึง ระบบย่อย อาหารด้วย โดยจะทำให้เกิดอาการท้องผูก อาหารไม่ย่อย จึงเป็นเหตุให้ ขับอุจจาระออกได้ยาก หรือปวดท้องอยากถ่ายแต่ถ่ายไม่ออก รวมทั้งทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร จนผายลม หรือเรอบ่อยๆ

วิธีแก้ไข กระตุ้นการไหลเวียนให้กลับมาเป็นปกติ ด้วยการกิน หัวไช้เท้า แครอต มะละกอ กล้วย ส้ม มะนาว แอ๊ปเปิ้ลเขียว

เกิดการเจ็บป่วย

เช่น สตรีหลังคลอด ร่างกายอ่อนแอ เป็นผู้สูงอายุหรือคนที่มีเลือดลมน้อย ทำให้ลำไส้ไม่มีแรงบีบตัวจนถ่ายอุจจาระลำบาก

วิธีแก้ไข

  • หากมีอุจจาระไม่แห้ง แข็ง ต้องกินอาหารที่บำรุงชีช่วยขับถ่าย เช่นซุปฟักทอง ซุปงาดำพุทราจีนใส่น้ำผึ้ง
  • หากเป็นกลุ่มเลือดพร่อง ลักษณะอุจจาระจะแห้งแข็ง มีอาการหน้าซีด เวียนศีรษะ หน้ามืดร่วมด้วย แนะนำให้กินอาหารที่บำรุงเลือด ช่วยขับถ่าย เช่น ซุปงาดำใส่ตังกุย ลูกหม่อนหรือน้ำลูกหม่อน
  • หากเป็นกลุ่มหยินพร่อง อุจจาระแห้งแข็งเป็นเม็ดๆ และมีอาการหงุดหงิด นอนไม่หลับหรือนอนดึกร่วมด้วย แนะนำให้ทาน กลัวย เห็ดหูหนูขาว น้ำผึ้ง งาดำ

ซึ่งถ้าเราจัดการปัญหาท้องผูก และ แก้ท้องผูก ตามวิธีที่แพทย์แผนจีนแนะนำ ก็จะช่วยให้เราขับถ่ายได้ง่ายมากขึ้นนะคะ

ที่มา

คอลัมน์พิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ563

นิตยสารชีวจิต ฉบับ 532

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

5 สมุนไพร ฟื้นฟูระบบย่อย

แนะวิธีจับคู่ สมุนไพรรักษาโรค บำรุงเลือด ป้องกันไขมันพอกตับ

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.