อ่านฉลาก

ไม่อยากเสี่ยงโรค ต้องอ่าน ฉลาก ก่อนซื้อของ

ไม่อยากกินสารอันตราย พลิก ฉลาก อ่านก่อนซื้อ

ทุกวันนี้การพลิกอ่าน ฉลาก ของอาหารที่จะซื้อเป็นเรื่องสำคัญมากเลยนะคะ เพราะไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล หรือโซเดียม ล้วนเป็นอัตรายต่อสุขภาพ แต่นอกจาก 2 อย่างนี้แล้ว ก็มีสารบางชนิดที่เป็นสารอันตรายด้วยเหมือนกัน ดังนั้นใครที่ไม่อยากป่วย ต้องพลิกฉลากอ่าน แล้วมาดูกันค่ะว่า อาหารแต่ละประเภทมีสารอะไรที่เราควรเลี่ยงบ้าง

เนื้อสัตว์แปรรูป

ไม่ว่าจะเป็นอาหารจำพวกแฮม ไส้กรอก เบคอน หรือลูกชิ้น โดยปกติชีวจิตก็ไม่แนะนำให้กินกันอยู่แล้ว แต่ถ้าห้ามใจไม่ไหวจริงๆ อย่าลืมพลิกฉลากมาอ่านก่อนนะคะ ว่าต้องไม่มีสารเหล่านี้

ไนเตรตหรือไนไตร์ต (Nitrates/ Nitrites)

โดยปกติผู้ผลิตจะใส่สารไนเตรต หรือไนไตร์ตลงไปเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเมื่อโดนความร้อนจะกลายเป็นสาร คาร์ซิโนเจน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง (ยืนยันโดย WHO) ทั้งนี้สารเคมีสองตัวนี้จะทำให้เนื้อสัตว์มีสีแดง ฉะนั้นนอกจากการอ่านฉลากแล้ว เราจึงสังเกตได้ง่ายตรงที่เนื้อสัตว์นั้นๆ จะมีสีแดงผิดปกติด้วย

โพรพิลแกลเลต (Propyl gallate)

เมื่ออ่านฉลากอาหารแล้วพบสารตัวนี้บอกตัวเองเลยว่า นอกจะเป็นสารคาร์ชิโนเจนก่อมะเร็งแล้ว สารโพรพิลแกลเลตยังทำให้เกิดโรคผิวหนังในผู้บริโภคบางราย มิหนำซ้ำยังทำลายตับและไตอีกด้วย

ขนมปังและขนมอบต่างๆ

ขนมปังทุกชนิด ไม่ว่าจะผลิตจากแป้งขาวหรือแป้งโฮลวีต หากเป็นขนมปังที่ผลิตจากระบบอุตสาหกรรมที่มีอายุหลายๆ วัน ควรเลี่ยงสารเหล่านี้ค่ะ

โพแทสเซียมโบรเมท (Potassium bromate)

เป็นสารเคมีที่ช่วยให้ขนมปังมีความยืดหยุ่น เหนียว อร่อย โดยหากเราอ่านฉลากอาหารแล้วพบสารตัวนี้ ให้รู้เลยว่าเรากำลังจะกินสารก่อมะเร็ง ตามกฎหมายของประเทศแคนาดา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ซึ่งสั่งห้ามไม่ให้ใส่สารเคมีตัวนี้ในอาหาร แต่ในประเทศอื่นๆ พบว่ายังมีการใช้อยู่

โพรพิลพาราเบน (Propylparaben)

ที่จริงถ้าเป็นนักอ่านฉลากอาหารจะพบว่าสารเคมีกลุ่มพาราเบนนี้มักปรากฏอยู่ในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณและเครื่องสำอาง ฉะนั้นเมื่ออ่านฉลากอาหารแล้วพบพาราเบนก็จะตกใจ แต่ให้รู้ไว้ค่ะว่ามีผู้ผลิตใส่ลงในอาหารจริงๆ เพราะมีคุณสมบัติด้านเชื้อราและแบคทีเรีย อย่างไรก็ดีพาราเบนอยู่ในกลุ่มสารคาร์ซีโนเจนก่อมะเร็ง

ซีเรียล

อาหารเช้าของคนทำงานในวันที่มีงานด่วนหรือเร่งรีบไปพบลูกค้า ส่วนใหญ่คือซีเรียล ฉะนั้นหากเปิดครัวในคอนโดหลายแห่งจะพบว่าทุกครัวจะตุนซีเรียลไว้ อย่างไรก็ดีการเลือก ซีเรียลคุณภาพดี นอกจากดูเรื่องคุณค่าทางอาหารแล้ว เราคงต้องอ่านฉลากอาหาร ดูส่วนผสมที่ปราศจากสาร 2 ตัวนี้

บิวติเลเทตไฮดร็อกซิโทลูอีน (Butylated Hydroxytoluene หรือ BHT)

เป็นสารสังเคราะห์ที่ละลายในไขมัน มีคุณสมบัติในการช่วยคงสีและรสชาติของอาหารไว้ได้ จึงจัดอยู่ในหมวดสารกันบูดที่ผู้ผลิตใส่ลงในอาหารประเภทซีเรียล ทั้งนี้พบว่าสาร BHT ก่อโรคมะเร็งในสัตว์ทดลอง

บิวติเลเทตไฮคร็อกซีแอนิโซล (Butylated Hydroxyanisole หรือ BHA)

เป็นสารสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติเหมือน BHT ทุกอย่าง แต่ที่มากกว่านั้นคือ กฎหมายของมลรัฐแคลิฟอร์เนียสหรัฐอเมริกาชี้ว่า นี่คือสารคาร์ซีโนเจนก่อมะเร็งตัวหนึ่ง

อาหารอื่นๆ

โซเดียมอะลูมินัมฟอสเฟต (Sodium Aluminum Phosphate) และโซเดียมอะลูมินัม ซัลเฟต (Sodium Aluminum Sulfate)

เป็นสารเคมีที่ไม่มีกลิ่น หากอ่านฉลากอาหารแล้วพบสารตัวนี้ ให้รู้ว่าผู้ผลิตใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์เนื่องจากต้องการให้มีคุณสมบัติเป็นสารตึงตัว ปกติจะนิยมใส่ลงไปในเครื่องสำอาง สี กระดาษ และยา รวมทั้งอาหารหลาย ๆ ประเภท โดยสารเคมีสองตัวนี้เป็นพิษต่อการทำงานของสมอง

แคลเซียมโพรพิโอเนต (Calcium Propionate)

เป็นสารกันบูดที่ยับยั้งเชื้อราในอาหาร โดย Center for Science in the Public Interest กล่าวว่า ผู้ผลิตจะผสมสารเคมีตัวนี้ลงไปในแป้งทำอาหารต่างๆ ซึ่งมีผลต่อแบคที่เรียที่ดีในลำไส้ และเป็นพิษต่อการทำงานของสมอง

ทีโอโบรมีน (Theobromine)

สารเคมีตัวนี้ผู้ผลิตมักผสมลงในอาหารประเภทช็อกโกแลต ขนมปัง และสปอร์ตดริ๊งค์ จัดเป็นสารกันบูดประเภทหนึ่ง จากการทดลองกับสัตว์ทดลองพบว่า สารเคมีตัวนี้ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์และพัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

สีผสมอาหารเทียม

เรารู้ว่าสารเคมีตัวนี้เป็นพิษต่อร่างกายมานานนม แต่เชื่อว่าหลายคนยังลืม เผลอกินอาหารสีจัด ซึ่งสีผสมอาหารเทียมนี้ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในอวัยวะทุกระบบของร่างกาย ก่อให้เกิดอาการมากมาย ตั้งแต่ไฮเปอร์แอ๊คที่พบในเด็กจนถึงโรคมะเร็งทุกชนิดในผู้ใหญ่

ข้อมูล คอลัมน์ Nutrition Revolution นิตยสาร ชีวจิต ฉบับ 476

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

กินบุฟเฟต์ อย่างฉลาด อิ่มนาน สารอาหารครบ แต่น้ำหนักไม่พุ่ง
อาหารฟาสต์ฟู้ด ของอร่อย ดีต่อใจ แต่ไม่ใช่สุขภาพ
5 ประเภทอาหาร ที่ทำให้เกิด โรคลำไส้แปรปรวน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.