โรคลำไส้แปรปรวน

5 ประเภทอาหาร ที่ทำให้เกิด โรคลำไส้แปรปรวน

โรคลำไส้แปรปรวน เป็นโรคที่พบได้ง่ายในยุคปัจจุบัน น่าจะเป็นเพราะการเปลี่ยนไปของสังคมโลก ที่ต้องการความรวดเร็วในการใช้ชีวิตประจำวัน รีบหา รีบกิน รีบใช้ รีบไป ปัญหาจึงเกิดขึ้นกับระบบท้อง หรือสถานที่ตั้งของอาหารในร่างกายที่เขาจำเป็นต้องรีบตามเราไปด้วย

หลายคนอาจเคยได้ยินว่าเป็นลำไส้แปรปรวน แต่อาจยังไม่รู้จักว่าโรคนี้คืออะไร มีสาเหตุมาจากสิ่งไหน และอาการเป็นแบบไหนถึงบอกโรคได้ วันนี้เรามาทำความรู้จักไปพร้อมกันค่ะ     

ทำความรู้จักโรคลำไส้แปรปรวน

โรคลำไส้แปรปรวน หรือโรคไอบีเอส (IBS:Irritable Bowel Syndrome) เกิดขึ้นจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งลำไส้ ที่ไม่พบความผิดปกติอะไรที่โครงสร้างของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารและไม่มีพยาธิสภาพอื่นใด     

สาเหตุของโรค    

ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอน โดยถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Functional Bowel Disorder ชนิดหนึ่ง ด้วยความหมายคือเป็นโรคที่ไม่พบความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นจากการตรวจร่างกายอย่างละเอียดหรือการตรวจเพิ่มเติมเพื่อสืบค้นหาสาเหตุ ไม่พบว่ามีการอักเสบและไม่พบว่าเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งแต่อย่างใด      

อาการต่าง ๆ ของโรคนี้เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่ผนังลำไส้ เชื่อว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุของนี้ ซึ่ง 3 ปัจจัยที่สำคัญได้แก่ 1.การบีบตัวหรือการเคลื่อนตัวของลำไส้ผิดปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากการหลั่งสารหรือฮอร์โมนบางอย่างในผนังลำไส้ผิดปกติ นำไปสู่อาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องผูก

2.ระบบประสาทที่ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นมากผิดปกติ เช่น หลังกินอาหาร ซึ่งในคนปกติจะกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่ในผู้ป่วยโรคนี้จะมีการตอบสนองมากผิดปกติ มีการบีบตัวและการเคลื่อนตัวของลำไส้มากขึ้น จนมีอาการปวดท้องและท้องเสีย หรือท้องผูก เป็นต้น นอกจากอาหารแล้วตัวกระตุ้นอื่นที่สำคัญ คือ ความเครียด หรือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ก็มีส่วนเสริมให้มีอาการมากขึ้น

โรคลำไส้แปรปรวน

3.มีความผิดปกติในการควบคุมการทำงานของแกนที่เชื่อมโยงระหว่างประสาทรับความรู้สึก ระบบกล้ามเนื้อของลำไส้และสมอง (Brain – Gut Axis) โดยเกิดจากความผิดปกติของสารที่ควบคุมการทำงานซึ่งมีหลายชนิดและทำหน้าที่แตกต่างกัน

สังเกต “อาการบอกโรค”  

โรคลำไส้แปรปรวนผู้ป่วยมักทรมานจากการปวดท้อง ซึ่งเมื่อได้ถ่ายอุจจาระแล้วจะรู้สึกหายปวดและสบายขึ้น ส่วนใหญ่มักปวดบริเวณท้องน้อย ลักษณะการปวดจะเป็นแบบปวดเกร็งและอาการจะทุเลาเมื่อถ่ายอุจจาระออกไป       

อาการปวดท้องแต่ละครั้งจะรุนแรงไม่เท่ากัน บางครั้งปวดมาก บางครั้งปวดน้อย ร่วมกับการมีการขับถ่ายที่ผิดปกติ เช่น ท้องเสียหรือท้องผูก แบบใดแบบหนึ่งสลับๆ กันไป หรืออาจรู้สึกถ่ายไม่ค่อยสุด ท้องผูก หรืออาจมีมูกปนออกมาเวลาถ่ายอุจจาระ ลักษณะอุจจาระจะเปลี่ยนไปเป็นก้อนแข็งหรือเหลวจนเป็นน้ำ ถ่ายเป็นมูกปนอุจจาระมากขึ้น หลายคนอาจมีอาการท้องอืด แน่นท้อง มีลมมากในท้อง เรอบ่อย เวลาถ่ายอุจจาระมักมีลมออกมาด้วย ซึ่งล้วนเป็นอาการที่สำคัญของโรคลำไส้แปรปรวนทั้งสิ้น อาการต่างๆ เหล่านี้มักเป็นนานเกิน 3 เดือน ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มักมีประวัติมานานหลายปี

โรคลำไส้แปรปรวนจะเป็นโรคเรื้อรัง บางคนเป็นระยะหลายปี หรืออาจเป็นตลอดชีวิต เป็นโรคที่ไม่ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม และไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต แต่เป็นโรคที่สร้างความรำคาญ ผู้ที่มีอาการจะเกิดความวิตกกังวลมากว่าทำไมโรคไม่หายสักทีแม้ได้รับยารักษาแล้วก็ตาม โรคนี้ถือว่าเป็นโรคลำไส้ที่พบได้บ่อยที่สุดโรคหนึ่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่มาก อาจไม่เคยไปพบแพทย์เลยด้วยซ้ำ แต่ในบางรายก็อาจมีอาการที่รุนแรงขึ้นจนเป็นปัญหาได้เช่นกัน

โรคลำไส้แปรปรวน

โรคลำไส้แปรปรวน

โรคลำไส้แปรปรวนป้องกันได้ด้วยการงด 5 อาหาร ที่ทำให้เกิดโรค

อาหารแปรรูป

อาหารที่แปรรูปมามากทำให้เอนไซม์และจุลินทรีย์ในอาหารน้อยลง สามารถตั้งขายอยู่ในร้านค้าได้นาน จะทำให้ร่างกายต้องใช้กำลังในการย่อยสลายสูงมาก เป็นผลให้ลำไส้อ่อนแอลง ตับทำงานอย่างหนัก สมดุลของจุลินทรีย์เปลี่ยนไปจากการย่อยเป็นสารอาหารกลายเป็นทำลายอาหารอย่างรวดเร็ว ลักษณะนี้จะกินจุลินทรีย์กลับสู่ลำไส้อย่างไรก็ไม่น่าจะหายได้ดีนัก ดังนั้นผู้ที่รักลำไส้หรือผู้ป่วยโรคลำไส้ควรลดความถี่ในการกินอาหารฟาสต์ฟู้ด นาน ๆ จึงจะลองกินทีเพื่อฝึกลำไส้ก็ไม่เสียหาย

อาหารฤทธิ์เย็นและความเย็น

กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ต้องการธาตุไฟในการย่อยค่อนข้างมาก การกินอาหารที่มีฤทธิ์เย็น จะทำให้การย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ ธาตุไฟในการย่อยอาหารเรียกว่า “ไฟปริณามัคคี” ถ้าธาตุไฟนี้หย่อนลง จะทำให้ลมในท้องไม่ถูกดันลงไปด้านล่าง แต่จะพัดขึ้นมาด้านบนทำให้จุกแน่นหรือแสบท้องได้ หลายท่านเห็นว่าแสบท้องต้องเร่งกินสมุนไพรฤทธิ์เย็น ก็จะยิ่งสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น ช่วงที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวนควรลดการกินน้ำเย็น น้ำแข็ง น้ำมะพร้าว น้ำเต้าหู้ ชาเย็น น้ำผักปั่น

ขอแนะนำอีกครั้งว่า ลดลง ไม่ใช่การงด กินได้แต่นาน ๆ ครั้ง ธาตุไฟอีกตัวที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “ไฟสันตัปปัคคี” – ไฟอุ่นกาย ผู้ที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวนจะมีความหนาวภายในกาย หากไฟอุ่นกายหย่อนกำลังลงจะทำให้รู้สึกกังวลใจ ไม่มั่นใจ วิธีแก้เบื้องต้นคือ เอาถุงร้อนมากอด ประคบอกหรือหน้าท้องก็จะช่วยได้

อาหารมื้อดึก

ยิ่งกินมื้อดึกมากเท่าไร ร่างกายก็จะยิ่งหมดแรง เพราะต้องผลิตเอนไซม์ในการย่อยสลายและทำลายอาหาร การนอนจะช่วยซ่อมแซมร่างกาย เพิ่มสารอาหารที่จำเป็น หากเราเอาเวลานอนไปเป็นเวลาทำลายอาหาร จะทำให้ระบบย่อยอาหารหมดกำลังในการย่อยอาหารในวันต่อมา กินดึกวันหนึ่งคงไม่เป็นไร แต่ถ้าทำเป็นประจำจะส่งผลให้จุลินทรีย์ที่ไม่ดีเพิ่มปริมาณขึ้นมาก สร้างแก๊สได้รวดเร็ว มีกลิ่นตัวและกลิ่นลมหายใจแบบที่เราไม่ต้องการ

อาหารที่แพ้ได้ง่าย

เมื่อเรากินอาหารที่ร่างกายแพ้จะทำให้เกิดความร้อนและการอักเสบในลำไส้ได้ง่าย อาหารที่คนไทยไม่ควรกินบ่อยเกินไป เช่น นมวัว แป้งสาลี ถั่วเหลือง อาหารทะเลปริมาณมาก น้ำตาลปริมาณมาก หากเรายังไม่มั่นใจในลำไส้ตัวเองให้เลี่ยงการกินไปก่อน การกินอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดอาการภูมิแพ้อากาศ ภูมิแพ้ผิวหนังเรื้อรังเนื่องจากลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome)

โรคลำไส้แปรปรวน

อาหารเผ็ดเกินไป

รสเผ็ดจะทำให้ทวารของร่างกายเปิดออก เช่น อาการเหงื่อไหล ต้องอ้าปากหลังจากกินอาหารเผ็ดจัด จึงส่งผลให้ผู้ที่เป็นโรคลำไส้ ถ่ายบ่อย รวมถึงอาจเกิดแผลในกระเพาะอาหารขึ้นได้ รส “เผ็ดเล็กน้อย” เป็นเรื่องที่ดีสำหรับลำไส้ เพราะมีคุณสมบัติขับลม เพิ่มลมเบ่ง แต่อาหารที่เผ็ดมาก ๆ ควรหลีกเลี่ยงไปก่อน

เรื่อง พท.ณัฐพล วาสิกดิลก

ที่มา

นิตยสารชีวจิต ฉบับ 534

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ชวนดูแล ป้องกัน รักษา ลำไส้แปรปรวน ฉบับแพทย์แผนไทย

ลำไส้ไม่ปกติ มีอะไรบ้างที่พังตาม

ระบบย่อย พัง ไม่จบแค่ลำไส้

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.