เรื่องของ ลำไส้ หากทำงานได้ไม่ดี จนทำให้ลำไส้ไม่ปกติจะส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็น ท้องเสีย ท้องผูก ปวดท้อง มวนท้อง รวมไปถึงอาการ จุกแน่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ แต่นอกจากนั้นแล้วยังส่งผลไปถึงระบบต่างๆ ในร่างกายอีกด้วยนะคะ
อารมณ์
เนื่องจากลำไส้เชื่อมโยงถึงไขสันหลังและสมอง เป็นระบบประสาทส่วนกลางที่เชื่อมโยงถึงกัน ฉะนั้นเมื่อไรก็ตามที่เรามีปัญหาลำไส้จะส่งผลต่ออารมณ์ เช่น ลำไส้ของเราย่อยอาหารได้ไม่ดี มีอาการท้องอืด เราจะมีอาการทางความคิดหรืออารมณ์ร่วมด้วย เช่น คิดอะไรไม่ค่อยออก ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ รู้สึกหงุดหงิด
และหากเราปล่อยให้ลำไส้มีปัญหา และกลายเป็นโรคเรื้อรัง ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคที่เป็นความผิดปกติจากอารมณ์ที่แปรปรวนได้ เช่น
- โรควิตกกังวล
- โรคซึมเศร้า
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะระบบประสาทต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ฮอร์โมนในสมองเกิดการแปรปรวน ในทางการแพทย์แผนโบราณเรียกอาการแบบนี้ว่า “ธาตุลมกำเริบ” คือระบบประสาททำงานไม่หยุด เหมือนอักเสบตลอดเวลา ถ้าเป็นหนักๆ จะกลายเป็นกรดไหลย้อนเรื้อรัง ฉะนั้นคนไข้กลุ่มนี้ต้องไปแก้ปัญหาที่ลำไส้ก่อน จากนั้นจึงแก้ไขด้วยการควบคุมอารมณ์ และความคิด เช่น การสวดมนต์ และทำสมาธิเป็นลำดับถัดไป จะช่วยให้หายได้อย่างยั่งยืน
ตับ
เมื่อไรก็ตามที่ ลำไส้ไม่ปกติ ย่อยอาหารไม่หมด โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง ไขมันจะกลายเป็นเมือกเคลือบอยู่ที่ผนังลำไส้ โดยเมือกพวกนี้จะทำให้ลำไส้ของเราดูดซึมอาหารได้ไม่ค่อยดี และกลายเป็นที่กักเก็บของอาหารที่เน่าเสีย ซึ่งในการแพทย์แผนโบราณ อาหารเน่าเสียจะเรียกว่าอาหารเก่า ถ้าอาหารเก่าตกค้างอยู่เยอะก็จะส่งผลต่อร่างกาย เช่น อาการคันตามตัว ตับมีสารพิษ อาการที่ไม่สบายเนื้อสบายตัว มีกลิ่นตัว
อีกปัญหาคือเมื่อลำไส้ดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง ตับของเราจึงต้องเก็บพลังงานในรูปไขมันมากขึ้น กลายเป็นโรคตับแข็ง ไขมันพอกตับ โรคอ้วน ถ้าต้องการรักษาโรคไขมันพอกตับ เบื้องต้นให้แก้ที่ลำไส้ก่อนและขับเมือกมัน โดยการกินผักให้เยอะขึ้น เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
ระบบน้ำเหลือง
ลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กทำงานคู่ไปกับต่อมน้ำเหลือง เพื่อลำเลียงสารอาหาร กำจัดของเสียส่วนเกิน ดังนั้นเมื่อเรากินอาหารที่มีไขมันไม่ดี เช่น ไขมันจากเนื้อสัตว์ปริมาณมาก ไขมันจากของทอดเหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในระบบน้ำเหลือง แม้เรากินของที่มีไขมันดีอย่างปลา แต่เรานำปลาไปทอด ไขมันดีในปลาก็จะกลายเป็นไขมันที่ไม่ดีต่อร่างกายได้ เกิดภาวะน้ำเหลืองเสียเพราะขับของเสียออกไม่ทัน
สภาวะน้ำเหลืองเสียแสดงอาการออกมาทางผิวหนัง เช่น เวลาส่องกระจกให้สังเกตตามร่างกายว่ามีผื่นขึ้นตามหัวไหล่หรือหลัง รู้สึกคันอาการแพ้ง่ายขึ้น หรือในช่วงที่อากาศมีฝุ่นเยอะ คนที่น้ำเหลืองไม่ดีก็จะแสดงอาการออกมาเร็วกว่าคนปกติ เช่น คัดจมูก ตาบวม ในขณะที่คนทั่วไปอาจจะยังไม่แสดงอาการ
โรคที่เกิดจาก ลำไส้ไม่ปกติ
โรคเกี่ยวกับลำไส้ไม่ปกติ นั้นมีด้วยการหลายอย่าง มีทั้งที่เกิดจากการพฤติกรรมการทานอาหาร จนทำให้เกิดปัญอย่างที่พูดถึงในตอนแรก ยังมีโรคที่เกิดจากอากาศร้อนของเมืองไทย ซึ่งเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอย่างมาก โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ไม่ว่าจะเป็น
โรคบิด (Dysentery)
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรืออะมีบา ซึ่งสามารถติดต่อได้ผ่านการรับประทานอาหาร ผักดิบ รวมถึงน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคด้วย หากติดเชื้อก็มักจะมีไข้ ปวดท้องแบบปวดเบ่ง ถ่ายอุจจาระบ่อย และอาจทำให้อุจจาระมีมูกหรือมูกปนเลือดได้อีกด้วย
โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute Diarrhea)
เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปโตซัว พยาธิ ผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายเป็นน้ำหรือเป็นมูกปนเลือด ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็วร่างกายจะสูญเสีย น้ำและเกลือแร่ อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะช็อก หมดสติ หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้
อหิวาตกโรค (Cholera)
เกิดจากเชื้ออหิวาตกโรค ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อจากอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ ซึ่งหากติดเชื้อโรคนี้จะทำให้เราถ่ายอุจจาระเป็นน้ำคราวละมากๆ โดยไม่มีอาการปวดท้อง และมีอาการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว เช่น กระหายน้ำ อ่อนเพลีย ปัสสาวะน้อย ชีพจรเต้นเร็ว ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะช็อก หมดสติจากการเสียน้ำ และในบางรายที่มีอาการรุนแรงมากๆ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน
ลำไส้ขี้เกียจ
ลำไส้ไม่ปกติ นอกจากเกิดจากการกินอาหาร อาการ ยังเกิดได้จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตอีกด้วยนะคะ โรคของลำไส้ที่เกิดจากเหตุผลนี้คือ ลำไส้ขี้เกียจ ซึ่งเป็นการที่ลำไส้ขี้เกียจทำงาน บีบตัวเพื่อขับของเสียได้ช้า หรือไม่บีบตัวเลย จนทำให้เกิดการคั่งค้างของเสีย นำไปสู่ปัญหาท้องอืด ท้องเฟ้อ ซึ่งปัญหาของโรคนี้มักเกิดจาก การกิน ยาระบาย เพื่อเร่งให้เกิดการขับถ่าย มากเกินไป
อันตรายของยาระบาย กับลำไส้ขี้เกียจ
การกิน ยาระบาย มากเกินไป (ทุกวัน ต่อเนื่อง 1- 2 อาทิตย์) ทำให้กล้ามเนื้อในลำไส้เสพติดการกระตุ้นจากยาระบาย จนทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของระบบประสาท และกล้ามเนื้อลำไส้ สุดท้ายจึงกลายเป็นว่ากล้ามเนื้อลำไส้ไม่ยอมทำงานด้วยตนเอง
อาการลำไส้ขี้เกียจ
เมื่อลำไส้ขี้เกียจ สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้ ท้องผูก ซึ่งเมื่อเรื้อรังเป็นเวลานานก็จะรุกลามสร้างปัญหาใหญ่โต ไม่ว่าจะเป็น ริดสีดวงทวาร หรือรู้สึกเจ็บขณะขับถ่าย สำหรับการดูว่าท้องผูกที่เป็นอยู่ เป็นแค่ท้องผูกทั่วๆ ไป หรือควรหาหมอ ก็สังเกตได้ตามนี้เลย
- ถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์
- ออกแรงเบ่งขณะขับถ่ายมากกว่าปกติ
- ถ่ายไม่สุด เหมือนมีสิ่งอุดกั้น
- อุจจาระเป็นก้อนแข็ง
หากมีอาการเหล่านี้ 2 อาการขึ้นไป ติดต่อกันนานกว่า 3 เดือน ควรไปรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาความผิดปกติของลำไส้ และรักษาได้อย่างทันท่วงที
การรักษาลำไส้ขี้เกียจ
ลำดับแรกของการรักษาอาการลำไส้ขี้เกียจ คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลือกทานอาหารที่เส้นใยสูง ดื่มน้ำบ่อยๆ ออกกำลังกายเพื่อให้ลำไส้ได้ขยับเขยือน แต่หากปรับพฤติกรรมไม่ได้แล้ว ก็มีการรักษาในขั้นตอนต่อไป
หากการปรับพฤติกรรม ไม่ทำให้อาการลำไส้ขี้เกียจดีขึ้นแล้ว การรักษาในลำดับถัดมา คือ กินยาปรับการเคลื่อนตัวของลำไส้ ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จึงจะได้ผล
แต่หากไม่ได้ผลจริงๆ คุณหมอก็มีวิธีการขั้นสุดท้าย นั่นก็คือการตัดลำไส้ส่วนที่ไม่ปกติออก แต่การรักษาแบบนี้มีเงื่อนไขอยู่ว่า
- เป็นการรักษาขั้นตอนสุดท้าย
- จะต้องตรวจพบความผิดปกติระบบประสาท และกล้ามเนื้อลำไส้จริงๆ
- ระบบย่อยอาหารอื่นๆ เช่นกระเพาะ ลำไส้เล็ก ต้องได้รับการตรวจสอบว่าไม่มีความเสียหาย
ความอันตรายของยาระบาย
การกินยาระบาย ไม่เพียงทำให้เกิดปัญหาลำไส้ขี้เกียจ แต่ยาระบายยังส่งผลให้เกิดผลเสียในทางอื่นๆ อีกมากมาย โดยยาระบายแต่ละชนิด ส่งผลเสียต่อลำไส้ได้แตกต่างกัน คือ
ยาระบายที่ช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระ (buclk-forming laxatives) ทำให้อุจจาระเป็นก้อนและนิ่มขึ้น แต่อาจทำให้ท้องอืดและในอนาคตอาจเริ่มถ่ายยาก หากมีการดื่มน้ำที่น้อยเกินไป
ยาที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ (stimulant laxatives) เป็นการเร่งให้ลำไส้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น แต่ถ้าใช้ไปเรื่อยๆ จะทำให้การทำงานของลำไส้มีการเปลี่ยนแปลง และอาจมีจุดดำเกิดขึ้นในลำไส้ได้
ยาชนิดสวน สำหรับยาชนิดนี้อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคไต เพราะมันมีสารประกอบประเภทเกลืออยู่ ดังนั้นต้องระวังการใช้ยาสอดให้ดี หากเป็นไปได้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
ดังนั้นแล้ว หากอยากมีลำไส้ที่ปกติ ปราศจากโรค จึงควรเริ่มต้นที่
- กินอาหารที่อุดมด้วยกากใย
- ไม่กินอาหารที่มีไขมันมาก
- ไม่กินเยอะเกินความต้องการของร่างกาย
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
บทความน่าสนใจอื่นๆ
5 ประเภทอาหาร ที่ทำให้เกิด โรคลำไส้แปรปรวน
22 SUPER THAI HERBS สมุนไพรไทยสู้ไวรัส กินเสริมภูมิคุ้มกัน
ปอมอ = เป็นมะเร็ง (เพราะไม่เชื่อหมอ)