3 สูตรประจำบ้าน แก้อาการ อ่อนเพลียเรื้อรัง
สัญญาณว่าคุณมีอาการ อ่อนเพลียเรื้อรัง หรือซีเอฟเอส หากคุณมีอาการนอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ซึมเศร้า ฟุ้งซ่าน ขาดสมาธิ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดกล้ามเนื้อและปวดตามข้อ ระบบขับถ่ายผิดปกติ และอาการเหล่านี้ มักเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ตามความเห็นของ แพทย์จีนเหมาชิง หนี่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์การแพทย์แผนจีน
และการแพทย์แผนตะวันออก เชื่อว่า ร่างกายนั้นต้องการสสารสำคัญ ได้แก่ เลือดและของเหลว พลังงานจากระบบย่อยอาหารที่สมบูรณ์ และสารบางอย่างจากไตและกระเพาะปัสสาวะที่ช่วยดูแลระบบภูมิคุ้มกัน
และเมื่อใดที่พลังงานจำเป็นเหล่านั้นอ่อนกำลัง ร่างกายก็จะเริ่มทำงานผิดปกติ ทำให้มีอาการ
ในลักษณะที่เรียกว่าซีเอฟเอส ดังนั้นการจะดูแลอาการอ่อนเพลียเหล่านี้คือ การบำรุงแหล่งกำเนิดพลังงานดังกล่าว เพื่อให้ร่างกายกลับมาแข็งแรง กระปรี้กระเปร่า โดยคุณหมอเหมาชิงได้แนะนำวิธีดูแลอาการอ่อนเพลียเรื้อรังไว้ดังนี้
3 วิธีกิน ต้านอ่อนล้า
- กินอาหารตามหลักโภชนาการอย่างเพียงพอ ช่วยให้ร่างกายเยียวยาตัวเอง เนื่องจากอาหารและวิถีชีวิตที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้โรคภัยไข้เจ็บไม่หาย หรือหายยาก จึงแนะนำให้กินอาหารตามฤดูกาลที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างครบถ้วน เนื่องจากการกินอาหารจากวัตถุดิบตามฤดูกาล ช่วยลดโอกาสที่จะได้รับสารเคมีเชิงเกษตรกรรมต่าง ๆ โดยอาหารที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ที่แนะนำ ได้แก่ ฟักทอง เมล็ดฟักทอง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว แตงโม แอ๊ปเปิ้ล มะละกอ รวมไปถึงอาหารรสฉุนเพิ่มพลัง อย่างขิง กระเทียม ออริกาโน โรสแมรี่ ใบเสจ ที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันแก่ร่างกายได้
- กินอาหารมื้อเล็ก ๆ แต่กินให้บ่อย พยายามอย่ากินมื้อเย็นช้า หรือกินอาหารย่อยยาก ๆ ตอนดึก ที่สำคัญควรดื่มน้ำอุณหภูมิห้องประมาณ 1.8 ลิตรทุก ๆ วัน จะช่วยเรื่องระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม รวมไปถึงน้ำตาลขัดขาว แป้งขัดขาว อาหารที่เติมแต่งรสชาติสังเคราะห์ และอาหารมัน ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความชื้นที่ทำลายพลังงานสำคัญ
ในร่างกาย หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะก่อให้เกิดความร้อนในร่างกายและทำให้พลังงานในร่างกายแปรปรวน
สูตรปรนนิบัติร่างกายคลายความเหนื่อยอ่อน
การดูแลร่างกายในแต่ละวันนั้นก็มีส่วนช่วยให้ร่างกายกลับมาสดใสได้ ด้วยวิธีง่าย ๆ ที่ทำได้ที่บ้าน ดังนี้ แช่น้ำในอ่างเพื่อบู๊สต์พลังงานในร่างกาย โดยผสมดีเกลือและน้ำมันหอมระเหย เช่น ยูคาลิปตัส เมนทอล ลงในน้ำ ใช้เวลาแช่ตัวประมาณวันละ 20 นาที เข้านอนตรงเวลาทุกวัน และควรนอนก่อนเวลา 11.00 น. หากทำได้ให้หาเวลางีบระหว่างวันในระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 30 นาที จะช่วยให้รู้สึกสดชื่น เมื่อตื่นขึ้น ลดอาการเหนื่อยอ่อนหรืออ่อนเพลียตอนบ่ายได้หาเวลาออกกำลังกายให้ได้วันละ 10 นาที แล้วเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สัปดาห์ละ 5 นาที จนครบ 45 นาที เริ่มแรกอาจใช้วิธีเดินตามปกติ เมื่อร่างกายเริ่มมีเรี่ยวแรงดีแล้วอาจเพิ่มความหนักเป็นวิ่งจ๊อกกิ้ง การออกกำลังกายทุกวันจะช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญ ซึ่งเป็นวิธีเรียกพลังในร่างกายอย่างหนึ่ง
2 จุดชวนกด แก้อ่อนเพลีย
จุดที่ใช้ในการกดจุดของจีนมี 2 จุดที่สามารถบรรเทาอาการอ่อนเพลียเรื้อรังได้ ซึ่งเราสามารถใช้นิ้วมือกดจุดได้เองง่าย ๆ ดังนี้ จุดร่องกระดูกใต้หัวเข่า (ST-36) คือจุดที่อยู่ต่ำจากหัวเข่าลงมาประมาณสี่นิ้วมือในแนวนอน เป็นร่องระหว่างกระดูกด้านนอกของขาขวา (สามารถนำชื่อจุดไปค้นภาพเพิ่มเติมได้) จากนั้นใช้นิ้วหัวแม่มือกดในความแรงระดับปานกลางค้างไว้ 5 นาที จากนั้นทำแบบเดียวกันกับขาข้างซ้ายจุดจอมประสาท (DU-20) คือจุดระหว่างใบหูทั้งสองข้าง สามารถหาตำแหน่งได้จากการใช้นิ้วลากจากใบหูขึ้นมาถึงกลางศีรษะ ใช้นิ้วชี้กดบริเวณนี้ด้วยความแรงระดับหนัก ค้างไว้ 3 นาที นับว่าเป็นวิธีง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้าน เท่านี้ก็ช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลียทั้งหลายได้แล้วค่ะ
TRIGGER POINT
อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome) หรือ CFS เป็นอาการที่ไม่พบสาเหตุการเกิดแน่ชัด มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากระบบประสาททำงานผิดปกติเนื่องจากขาดสารอาหารที่จำเป็น รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตผิด ๆ เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ การกินอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินความจำเป็นของร่างกาย การดื่มสุรา หรือแม้แต่ความเครียด
เรื่อง สุนิสา สมคิด ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ
ชีวจิต 458 นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 20 : 1 พฤศจิกายน 2560
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
บทความน่าสนใจอื่นๆ
บ.ก.ขอตอบ : วิธีกิน ถั่วดาวอินคา ยอดฮิต เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ถั่วดาวอินคา แหล่งรวมโอเมก้า 3 และ 6
เที่ยวรอบเมืองด้วย รถราง ชิมอาหารท้องถิ่น และทำความรู้จักกับต้นดาวอินคา ณ ชุมชนบ้านถิ่น