อาหารดี เพื่อ ตับไต ดี
ตับไต มีความสำคัญต่อร่างกายมาก โดยตับนับว่าเป็นศูนย์กลางการเผาผลาญและขจัดสารพิษ ขณะที่ไตเป็นเหมือนตัวกรองของเสียและรักษาสมดุลในร่างกาย วันนี้มาดูกันเถอะว่าควรกินอะไรเพื่อบำรุงตับไตของเรา
อาหารดีเพื่อตับดี
ตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดภายในร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมสภาพร่างกายให้มีความสมดุล หน้าที่สำคัญของตับ ได้แก่
สร้างสารอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย ตับจะนำสารอาหารที่ถูกย่อยจากทางเดินอาหารมาเปลี่ยนเป็นสารอาหารต่าง ๆ ให้ร่างการถดูดซึมได้ เช่น น้ำตาลกลูโคส กรดแอมิโน ไขมัน ทั้งไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล เป็นต้น
สะสมสารอาหารเอาไว้ใช้เมื่อร่างกายต้องการ เช่น ตับทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสสะสมไว้ในรูปของไกลโคเจน เมื่อร่างกายต้องการพลังงานก็จะเปลี่ยนไกลโคเจนกลับมาเป็นกลูโคส ส่งไปตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อเอาไปใช้เป็นพลังงานต่อไป
สร้างน้ำดี ช่วยดูดซึมไขมันและวิตามินชนิดละลายในน้ำมัน
กำจัดของเสียและสารพิษออกจากร่างกาย มีบทบาทสำคัญต่อภูมิต้านทานของร่างกาย
Easy Tricks…ดูแลตับ
- กินอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงสุกใหม่ สะอาด มีความหลากหลายและครบ 5 หมู่
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เป็นการควบคุม หรือลดปริมาณไขมัน ที่แทรกในเซลล์ตับ และลดความเสี่ยงของการเกิดตับแข็ง
- งดหรือลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
- ลดครื่องดื่มที่มีรสหวาน ขนมหวาน น้ำอัดลม เนื่องจากการกินน้ำตาลมากเกินไป ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์โดยไปสะสมที่ตับได้
- ใช้ยาเท่าที่จำเป็น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพใด ๆ และปฏิบัติตามฉลากแนะนำการใช้ยาอย่างเคร่งครัด
Healthy Diet…เพื่อตับ
- งาดำ มีเซซามินช่วยกำจัดพิษ
- กระเจี๊ยบเขียว ช่วยกระตุ้นการสร้างกลูตาไทโอน ช่วยในการกำจัดสารพิษ
- ผักตระกูลกะหล่ำ เช่น คะน้า กะหล่ำปลี บรอกโคลี มีอินโดล 3 คาร์บินอล ช่วยในกระบวนการกำจัดสารพิษ
อาหารควรเลี่ยง
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- พืชผักผลไม้ที่มีสารตกค้าง
- อาหารหมักดอง มีสารไนเตรต ไนไตรท์
- อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ปลาดิบ นำไปสู่พยาธิใบไม้ในตับ
- อาหารไขมันสูง
- อาหารที่มีการปนเปื้อน เช่น ถั่วป่น พริกป่นที่มีความชื้น จะเป็นแหล่งของสารอะฟลาท็อกซิน ทำให้ตับต้องทำงานหนักมากขึ้น และยังทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับมากขึ้น

อาหารดีเพื่อไตดี
ไตเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่กำจัดของเสียออกจากร่างกาย ปกติไตจะทำหน้าที่อย่างคงที่ตั้งแต่ทารกจนกระทั่งวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย เมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป อัตราการกรองที่ไตจะลดลง และยังพบว่า โครงสร้างของไตมีการเปลี่ยนแปลง โดยเมื่ออายุเพิ่มขึ้นผนังหลอดเลือดจะหนาขึ้น ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ ส่งผลทำให้ปริมาณเลือดที่มาเลี้ยงไตลดลง 1 เปอร์เซ็นต์ และเมื่ออายุ 70 ปี การทำงานของไตจะลดลง 70 เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่า จะเห็นได้ว่าเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไปไตจะเสื่อมลงเรื่อย ๆ
ดังนั้นประชากรที่อายุมากกว่า 30 ปี จึงถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อไตเสื่อม และเมื่ออายุ 60 ปี จะมีความเสี่ยงเป็น 4 เท่า เมื่อเทียบกับบุคคลอายุน้อยกว่า 60 ปี
อย่างไรก็ตาม การทำงานของไตหรืออัตราการกรองของเสียที่ลดลง ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังอายุ 30 ปี ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อปีนั้นยังไม่มีผลอะไร โดยคนทั่วไปยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต เพราะการทำงานที่ลดลงตามธรรมชาตินั้นเป็นไปอย่างช้า ๆ จนไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายโดยรวม
ปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นที่สำคัญ แบ่งออกได้เป็น 2 ปัจจัยหลัก คือ
- ปัจจัยที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ เช่น อายุ เพศ กรรมพันธุ์
- ปัจจัยที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เช่น การกินอาหารที่ไม่เหมาะสม การใช้ยาไม่ถูกต้อง สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน เป็นต้น
Easy Tricks…ดูแลไต
- สร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดีต่อประสิทธิภาพการทำงานของไต เช่น การควบคุมน้ำหนักตัว หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะ ฝึกพฤติกรรมชิมก่อนปรุง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ถ้ามีการสูญเสียน้ำหรือปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ไตจะพยายายามดึงน้ำกลับเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น เลี่ยงการดื่มน้ำกระด้างหรือน้ำบาดาลที่อาจทำให้เกิดนิ้วในไต
- เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ลดหรือเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม
- เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์เป็นตัวเร่งให้ร่างกายขับน้ำออกจากร่างกาย ทำให้ไตทำงานเพิ่มขึ้น
- งดสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ทำให้ไตเสื่อมเร็ว กว่าปกติ 1.2 เท่า
- อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง โดยดูปริมาณโซเดียมและน้ำตาลในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ
Healthy Diet…เพื่อไต
การกินอาหารที่มีประโยชน์เป็นวิธีการหนึ่งที่มีความสำคัญที่จะช่วยไม่ให้ไตทำงานหนัก ลดการคั่งของของเสียที่เกิดขึ้นในร่างกาย สามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ ช่วยให้มีสุขภาพดีและคุณภาพชีวิตที่ดี
- กินผักและผลไม้หลากกหลายสี เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างน้อย 400 กรัม หรือ 5 ส่วนต่อวัน
- กินโปรตีนคุณภาพดี เช่น ปลา ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นมและผลิตภัณฑ์นม ในปริมาณที่เหมาะสม หากกินโปรตีนในปริมาณมากเกินไป จะเพิ่มการคั่งของไนไตรเจนในเลือด ทำให้ไตทำงานหนักและเสื่อมเร็ว
- กินอาหารที่มีปริมาณโซเดียมอย่างพอเหมาะ (โซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน)
โซเดียมเป็นแร่ธาตุธรรมชาติที่ร่างกายต้องการ ร่างกายไม่สามารถผลิตโซเดียมได้เอง จึงจำเป็นต้องได้รับจากอาหาร ร่างกายต้องการโซเดียมเพื่อช่วยรักษาความสมดุลของกรด-ด่าง และทำให้ระบบไหลเวียนของเหลวภายในร่างกายเป็นปกติ แต่ในกรณีที่มีการบริโภคโชเดียมมากเกินความต้องการจะเร่งการเสื่อมของไต ทำให้เกิดภาวะโปรตีนอัลบูมินรั่วในปัสสาวะ รวมถึงเกิดพังผืดที่ไตอีกด้วย
ลองนำความรู้นี้ไปรับใช้กันนะคะ เร่งทำก่อนวัย 50+ ยิ่งดีต่อร่างกาย
บทความอื่นที่น่าสนใจ
สูตร 10 วัน ปั้นชีวิตใหม่ สลายท็อกซิน ลดขนาดเนื้องอก
ชีวจิตขอแชร์ วิธีเลือกน้ำมัน ประกอบอาหาร
ชวนดื่ม ชาสมุนไพร ต้อนรับปีใหม่ ช่วยปรับสมดุลร่างกายและอารมณ์
ความดันและไขมันในเลือดสูง ปรับเปลี่ยน 3 อ (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) ไม่ง้อยา
ติดตามชีวจิตได้ที่