คุยเฟื่องเรื่อง ศัพท์เครื่องสำอาง
อยากชวนสาวๆ มาทำความรู้จักกับคำ ศัพท์เครื่องสำอาง และสารเคมีต่าง ๆ ที่มักผสมอยู่ในเครื่องสำอาง เพื่อในการเลือกซื้อเครื่องสำอางครั้งต่อไป จะได้มีข้อสังเกต และเลือกเครื่องสำอางที่ตรงกับความต้องการจริง ๆ
ศัพท์เกี่ยวกับคุณสมบัติของเครื่องสำอาง
Anti-aging – เครื่องสำอางที่มีคุณสมบัติต่อต้าน ลบเลือน หรือชะลอการเกิดริ้วรอยก่อนวัย พบมากในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและผิวกายที่เกิดริ้วรอยได้ง่าย รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับริมฝีปากและรอบดวงตาด้วย นอกจากนี้ยังมีคำว่า Age-defense, Anti-wrinkle, Time Defiance ที่มีความหมายเดียวกัน
Fragrance Free – คือปราศจากส่วนผสมที่เป็นน้ำหอม (สังเคราะห์จากสารเคมี) ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองได้ในผิวที่บอบบางแพ้ง่าย
Allergy Tested – หากมีคำนี้ก็แสดงว่าเครื่องสำอางชนิดนั้นได้ผ่านการทดสอบแล้วว่าไม่แพ้
Non-alcohol – ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ซึ่งมักพบในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับคนผิวแห้ง แต่สำหรับคนผิวอื่นๆ ก็ควรเลือกใช้ เพราะเป็นสาเหตุให้น้ำหล่อเลี้ยงผิวตามธรรมชาติจะถูกกำจัดออกไป ทำให้ผิวมีความแห้งตึงและแพ้ได้
Against Animal Testing – มีความหมายว่า ไม่มีการทดสอบกับสัตว์ทดลอง (ซึ่งจะทำการทดสอบกับอาสาสมัครที่เป็นคนแทน) จึงเป็นการบ่งบอกถึงศีลธรรมจรรยา ไม่เกี่ยวข้องกับสรรพคุณของเครื่องสำอางแต่อย่างใด
Firming/Lift – เป็นคุณสมบัติที่ช่วยยกกระชับผิวให้เต่งตึง ลดเลือนริ้วรอยเหี่ยวย่น แลดูอ่อนเยาว์ขึ้น มักมีส่วนผสมของสารที่ทำให้ผิวเกิดการตึงตัว ซึ่งจะอยู่ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงจากนั้นก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ดังนั้นเครื่องสำอางที่มีคุณสมบัติกระชับผิวที่ดีจะต้องมีส่วนผสมของสารบำรุงผิวเข้าไปด้วย เช่น คอลลาเจน หรือสารที่ช่วยกระตุ้นให้ผิวผลิตคอลลาเจนเพิ่มขึ้น ผิวจึงจะดีขึ้นได้ในระยะยาว
Oil Control/Shine Control – เครื่องสำอางที่ผสมสารบำรุงผิว (มอยเจอร์ไรเซอร์) ที่ช่วยควบคุมไม่ให้เกิดความมัน แต่ถ้าเป็นคำว่า Oil Free จะไม่มีส่วนผสมของไขมันเลย เหมาะกับคนที่มีผิวมันมาก ๆ มักมีส่วนผสมของ Cetearyl alcohol, Isopropyl myristate, Myristic acid, Palmitic acid เป็นต้น
Anti-oxidant – มีส่วนผสมที่มีคุณสมบัติต่อต้านการเกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นตัวการที่ก่อให้ผิวเกิดริ้วรอยก่อนวัย สารต้านอนุมูลอิสระมีหลายชนิดด้วยกัน ส่วนใหญ่ได้จากการสกัดจากพืชพรรณธรรมชาติ
Waterproof – คุณสมบัติที่สามารถกันน้ำได้ หรือไม่ละลายน้ำ ซึ่งไม่ทำให้ตัวแป้งละลายหายไปกับเหงื่อ ติดทนนาน แต่ก็จะล้างออกยากเช่นกัน อาจต้องใช้ครีม(คลีนเซอร์)เช็ด
Aromatherapy – ถ้าเป็นเครื่องสำอางที่ดีจะต้องเป็น Aromatherapy ที่มาจาก Essential Oil – น้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์ที่สกัดจากธรรมชาติจริงๆ จึงจะได้ผลในการบำบัดด้วย
White/Whitening – Whitening ที่ดีนั้นต้องค่อยๆ ทำให้ขาวขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ระเคืองต่อผิว และเชื่อถือได้ว่าไม่ผสมสารเคมีอันตรายบางตัวที่ทำให้ผิวขาวขึ้นได้เช่นกัน
UV Filter – สามารถป้องกันรังสีอัลต้าไวโอเล็ตจากแสงแดดได้ โดยจะมีส่วนผสมของสารกันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป ซึ่งครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพดีควรมีส่วนผสมของ Titanium dioxide และ Zinc dioxide เพราะมีอานุภาพในการสะท้องรังสี UV กลับสูง แต่ข้อเสียคือจะค่อนข้างทำให้หน้ามันเยิ้มและเป็นคราบเมื่อเหงื่อออกมาก ๆ
Hydrating Cream – คือครีมที่ให้ความชุ่มชื้นกับผิวโดยไม่ทิ้งความมันบนใบหน้า เหมาะกับผิวธรรมดาถึงผิวมัน
สารเคมีที่มักพบในเครื่องสำอาง
– สารเคมีทั่วไป
Lanolin – ลาโนลิน สารสกัดที่ได้จากธรรมชาติ ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ป้องกันการแห้งตึง แต่การวิจัยบางชิ้นพบว่าอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง และเป็นสาเหตุหนึ่งของการอุดตัน และการก่อตัวของสิว
Mineral Oil – มิเนอรัลออยล์ เป็นผลผลิตที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ใช้เป็นสารทำความหล่อลื่นในเครื่องสำอาง พบได้ในโลชั่น มอยเจอร์ไรเซอร์ ครีมล้างหน้า อายครีม ฯลฯ ซึ่งมีโมเลกุลค่อนข้างใหญ่ จึงไม่สามารถซึมลงไปใต้ผิวหนังอย่างที่เคยคิดกัน แม้จะไม่ก่อให้เกิดโทษร้ายแรงแต่ก็ไม่มีประโยชน์ต่อผิว
Glycerin – กลีเซอรีน เป็นสารที่เกิดจากการเติมด่างลงไปในไขมัน ใช้มากในการทำสบู่ และเครื่องสำอางที่มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว รวมถึงน้ำยาบ้วนปากและยาสีฟัน โดยได้รับการรับรองว่าปลอดภัย ไม่ทำให้ระคายเคือง
Propylene Glycol – โพรไพลีน ไกลคอล นิยมใช้กันมากในเครื่องสำอางดูแลผิวที่ต้องการคุณสมบัติกักเก็บความชุ่มชื้นและซึมผ่านเข้าสู่ชั้นผิวหนังได้ดี ปลอดภัยต่อผิว
Dimethicone – ไดเมธิโคน คือน้ำมันซิลิโคนชนิดหนึ่ง ใช้เป็นเบสของผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นครีมต่างๆ ไม่เป็นอันตรายต่อผิว
Polysorbate – โพลีซอร์เบต มักพบในเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหย เพราะเป็นสื่อผสมให้น้ำสามารถเข้ากับน้ำมันหอมระเหยได้ ค่อนข้างปลอดภัยต่อคน
Cocamidopropyl Betaine – โคคามิโดโพรพิล บีเทน เป็นสารที่ได้จากน้ำมันมะพร้าว มักใช้ผสมในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ เช่น สบู่ แชมพู คอนดิชั่นเนอร์ หรือโฟมล้างหน้า ช่วยในการลดแรงตึงผิวของน้ำและทำให้เกิดฟอง แต่หากใช้ในปริมาณมากเกินไปอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้
Butylene Glycol – บิวไทลีน ไกลคอล เป็นสารที่ทำหน้าที่เก็บกักความชุ่มชื้น รักษากลิ่นและความเข้มข้นของผลิตภัณฑ์ให้คงรูป มักเป็นส่วนผสมของโลชั่นต่างๆ ไม่เป็นอันตรายต่อผิว
Phenoxyethanol – ฟีน็อกซ์ซีธานอล พบได้ในเครื่องสำอางที่มีน้ำหอมผสมอยู่ เพราะมีคุณสมบัติทำให้น้ำหอมคงตัว ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ แต่ต้องไม่ใช้ในปริมาณที่เข้มข้นไม่เช่นนั้นอาจเกิดอาการแพ้ได้
Sodium Chloride – โซเดียมคลอไรด์ หรือเกลือทะเล ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด แต่หากใช้ในปริมาณที่เข้มข้นเกินไปก็ทำให้ผิวแห้งและระคายเคืองได้ พบในน้ำยาบ้วนปาก สบู่ อายครีม เกลืออาบน้ำ เป็นต้น
Stearic Acid – กรดสเตียริก เป็นสารที่เกิดไขมันและน้ำมันจากสัตว์จึงค่อนข้างปลอดภัย มักใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย โลชั่น ครีมรองพื้น และสบู่ มีคุณสมบัติช่วยสร้างความนุ่มนวล ลื่น เป็นประกายแวววาว
– สารเคมีที่ควรระวัง
Hydroquinone – ไฮโดรควิโนน สารนี้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางทาฝ้า หาใช้ในระยะยาวจะก่อให้เกิดผลเสียต่อผิวอย่างมาก เช่น แพ้ ระคายเคือง และทำให้ผิวหน้าดำคล้ำกลายเป็นผ้าถาวร
Sodium Laureth Sulfate – โซเดียมลอริธซัลเฟต พบได้ในโฟมล้างหน้า ยาสีฟัน และในแชมพูมากที่สุด(ประมาณ 90 % ของแชมพูท้องตลาด) อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ในบางคน ดังนั้นหากมีผิวบอบบางแพ้ง่ายควรหลีกเลี่ยง
Formaldehyde – ฟอร์มาลดีไฮด์ ช่วยฆ่าเชื้อโรคและเชื้อราต่างๆ พบมากในยาทาเล็บ สบู่ และแชมพู หากสูดดมมากๆ อาจเป็นอันตรายต่อระบบหายใจได้
- D. Alcohol – เอส. ดี. แอลกอฮอล์ ใช้ในเครื่องสำอางประเภทรักษาความมันและสิวอุดตัน โดยจะเป็นตัวนำน้ำมันและสิ่งสกปรกออกไป รวมทั้งน้ำหล่อเลี้ยงบนชั้นผิวด้วย จึงทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้นและแห้งตึงได้
Sodium Hydroxide – โซเดียมไฮดรอกไซด์ ใช้เป็นส่วนประกอบหลักในสบู่ แชมพู น้ำยายืดผม ซึ่งเป็นสารที่มีความเป็นด่างสูง จึงอาจทำให้ผิวหรือหนังศีรษะแห้งลอก หรือเกิดการอักเสบได้
Talc/Talcum – แป้งทัลส์หรือทัลคัมที่พบได้ทั่วไปในผลิตภัณฑ์แป้งฝุ่น แป้งอัดแข็ง บลัชออน อายแชโดว์ หรือสเปรย์ระงับกลิ่นกาย ให้ความรู้สึกลื่น นุ่มนวล แต่ไม่ควรใช้กับส่วนเล้นลับเพราะมีการวิจัยพบว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูกได้มากกว่าปรกติถึง 3 เท่า
Steroid – สเตียรอยด์ สารอันตรายที่ก่อให้เกิดความผิดปรกติของผิวหนังได้ เนื่องจากสเตียรอยด์เป็นสารอันตราย ผู้ผลิตจึงมักไม่ระบุชื่อลงไปในฉลาก ดังนั้นจึงควรเลือกเครื่องสำอางที่น่าเชื่อถือ มีเลขทะเบียนอนุญาตจำหน่ายหรือตราที่รับรองว่าผ่านการตรวจสอบแล้ว