ความดันเลือดสูง

รู้ทัน สาเหตุ ความดันเลือดสูง

ความดันเลือดสูง

มารู้จักสาเหตุที่ทำให้คุณ ความดันเลือดสูง จากรองศาสตราจารย์ นายแพทย์พีระ บูรณะกิจเจริญ หัวหน้าสาขาวิชาความดันโลหิตสูง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กันค่ะ

1.อายุ…เรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ (หรือว่าคุณควบคุมได้)

   ทัศนะจากคุณหมอ :  คุณหมอพีระอธิบายว่า “เราสามารถพบภาวะความดันโลหิตสูงได้บ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากว่าหลอดเลือดแดงมักเกิดการเสื่อมสภาพตามอายุ รวมกับมีไขมันและหินปูน (แคลเซียม) เข้าไปสะสมอยู่ตามผนังของหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นและแข็งตัว ยิ่งมีไขมันและหินปูนสะสมมากก็ยิ่งทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อดันเลือดให้ไหลไปตามหลอดเลือด จึงส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงตามมา”

   ข้อแนะนำ : ควบคุมเรื่องอาหารการกินด้วยการงดกินของหวาน ของมัน และของทอด ปรับเปลี่ยนมากินอาหารชีวจิต เน้นกินปลา ผัก และผลไม้ รวมทั้งออกกำลังกายเป็นประจำ

2.ความเครียดและโรคนอนไม่หลับ

   ทัศนะจากคุณหมอ : นายแพทย์พีระอธิบายเรื่องนี้ว่า “เมื่อใดก็ตามที่เราเกิดความเครียด ไม่สบายใจ โกรธ หงุดหงิด หรือกังวล จะทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างร่วมกัน หนึ่งในนั้นคือ การหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลินที่ผลิตจากต่อมหมวกไต ฮอร์โมนนี้กับสารอื่นๆ ที่ร่างกายหลั่งออกมาจะทำให้เส้นเลือดหดตัว เพื่อช่วยเร่งการไหลเวียนของเลือด อีกทั้งยังไปเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตด้วย แล้วถ้าเป็นเช่นนี้บ่อยๆ นานวันเข้าก็เกิดความดันโลหิตสูงได้”

ข้อแนะนำ : ควรเข้าวัดทำบุญและสวดมนต์เป็นประจำ หากนอนไม่หลับ ลองใช้วิธีนั่งสมาธิก่อนนอน

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

3.วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

   ทัศนะจากคุณหมอ : “นอกจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบผิดๆ แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรคไตสามารถทำให้ความดันโลหิตสูงได้ เพราะไตมีหน้าที่กำจัดของเสียออกจากร่างกาย และปรับสมดุลของเกลือแร่และน้ำในร่างกาย เมื่อไตเสียคุณสมบัตินี้ไปส่งผลให้เกิดการคั่งของของเสีย เกลือแร่และน้ำเป็นสำคัญ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งทำให้ไตได้รับอันตรายจากความดันโลหิตสูงด้วยเช่นกัน”

“นอกจากนี้มีการศึกษาจากต่างประเทศพบว่า คนเป็นโรคเกาต์มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงมากกว่าคนไม่เป็นโรคนี้ เพราะกรดยูริคส่งผลทำให้ความดันโลหิตสูง” รวมถึงโรคอื่นๆ ที่ทราบแน่ชัดว่าเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง แม้จะพบผู้ป่วยจำนวนน้อย แต่ก็มีความสำคัญ เพราะบางโรคอาจรักษาให้หายขาดได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • โรคเนื้องอกของต่อมหมวกไตบางชนิด ซึ่งพบว่ามีอาการความดันโลหิตสูงร่วมด้วย แต่เมื่อผ่าตัดเนื้องอกออกแล้ว ความดันโลหิตจะกลับเป็นปกติ
  • โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องอกหรือช่องท้องตีบ ซึ่งอาจจะเป็นตั้งแต่กำเนิดหรือมาเกิดขึ้นภายหลัง แต่การผ่าตัดหลอดเลือดส่วนที่ตีบออกและต่อด้วยหลอดเลือดเทียมหรือใช้บอลลูนถ่างหลอดเลือดจะช่วยให้ความดันโลหิตลดลงได้

ข้อแนะนำ : กินยาควบคุมความดัน ปรับเปลี่ยนอาหารเพื่อสุขภาพ ไม่กินเนื้อสัตว์และอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว รวมทั้งออกกำลังกายเบาๆ เป็นประจำ วันละครึ่งชั่วโมง เช่น แกว่งแขน รำกระบองในบางท่า นายแพทย์พีระบอกข้อดีว่า “การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายเป็นยาวิเศษที่รักษาได้สารพัดโรค รวมทั้งความดันโลหิตสูง เพราะทั้งช่วยลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้หัวใจแข็งแรง เพิ่มความยืดหยุ่นให้หลอดเลือด และผ่อนคลายความเครียด ซึ่งจะส่งผลทำให้ความดันโลหิตลดลง

4.ชีวิตติดเค็ม

   ทัศนะจากคุณหมอ : “เมื่อร่างกายได้รับโซเดียมปริมาณมากจากอาหารเค็มๆ ติดต่อกันนานจะส่งผลให้ปริมาณโซเดียมในเลือดมากขึ้น ส่งผลให้แรงดันเลือดในหลอดเลือดแดงสูงขึ้น ร่างกายจึงต้องการปรับสมดุลและทำให้เจือจางลงโดยการดันน้ำออกจากเซลล์ ทำให้ปริมาณน้ำเลือดมีมากขึ้น ซึ่งเท่ากับเมื่อมีน้ำเลือดมากขึ้นทำให้แรงดันเลือดเพิ่มมากขึ้น นี่เองเป็นเหตุทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ดังนั้น ยิ่งกินเค็มมากจะทำให้โอกาสเป็นโรคความดันโลหิตเพิ่มขึ้น และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นด้วย”

ข้อแนะนำ : “ฝึกการรับประทานอาหารที่อ่อนเค็มและใช้เครื่องเทศ อาทิ ใบแมงลัก ใบโหระพา หรือพืชผักอื่นๆ ปรุงอาหาร หรือใช้น้ำส้ม มะนาว เปลี่ยนจากรสเค็มให้เป็นรสเปรี้ยวบ้างก็ได้ค่ะ”

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

5.คุณแม่ท้องกับครรภ์เป็นพิษ

ทัศนะจากคุณหมอ : “ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นเพียงอาการแสดงอย่างหนึ่งที่เกิดร่วมกับโรคครรภ์เป็นพิษ ทั้งนี้ยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น บวม ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ ตรวจพบการทำงานของตับผิดปกติ เป็นต้น เมื่อคลอดแล้วความดันโลหิตมักจะลดลงจนเป็นปกติ”

คำแนะนำ : เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุที่แท้จริงของภาวะครรภ์เป็นพิษ ในปัจจุบันจึงยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดโรคนี้โดยตรงได้ นายแพทย์พีระให้คำแนะนำว่า “ถ้ามีอาการไม่รุนแรง ขอแนะนำให้นอนพักอย่างน้อยวันละ 8 – 10 ชั่วโมง เพราะการนอนพักจะช่วยให้การบวมยุบลง และความดันโลหิตลดลงด้วย นอกจากนี้แพทย์จะแนะนำให้มาตรวจครรภ์ถี่ขึ้น เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคและสุขภาพทารกในครรภ์”

6.ดื่มกาแฟสดทำความดันสูง

ทัศนะจากคุณหมอ : “ฤทธิ์ของคาเฟอีนในกาแฟทำให้ความดันโลหิตของคนเราสูงขึ้นได้ชั่วคราว มีข้อมูลการศึกษาเรื่องนี้ว่า การดื่มกาแฟ 1 แก้ว ทำให้ความดันโลหิตทั้งขณะหัวใจบีบตัวและคลายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5 มิลลิเมตรปรอท ผลดังกล่าวเกิดขึ้นเต็มที่ 30-60 นาทีหลังดื่มกาแฟ และจะหายไปภายใน 2 ชั่วโมงต่อมา”

ข้อแนะนำ : การหยุดดื่มคาเฟอีนทันที อาจทำให้เกิดอาการต่างๆ ตามมาอีกหลายวัน เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และหงุดหงิดง่าย แต่มีวิธีลดการดื่มกาแฟง่ายๆ ดังนี้ เริ่มจากลดปริมาณการดื่มกาแฟลงเหลือวันละครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ดื่มเป็นประจำ หลังจากนั้นเปลี่ยนการดื่มจากกาแฟเป็นชาเขียวหรือชาสมุนไพรต่างๆ แทน และสุดท้ายควรออกกำลังกายทุกเช้า เพื่อให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้และควบคุมได้ เช่น

  • พันธุกรรม มีข้อมูลพบว่าผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 30-60 อาจเกิดจากพันธุกรรม ดังนั้น ผู้ที่มีพ่อแม่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจึงมีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากกว่า
  • เชื้อชาติ พบว่าคนผิวดำมีโอกาสเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้มากกว่าคนสีผิวอื่นๆ
  • พศ พบว่าเพศชายมีโอกาสเกิดความดันโลหิตสูงมากกว่าเพศหญิง ยกเว้นผู้หญิงที่มีอายุเกิน 50 ปีและเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนจะพบอัตราการเกิดความดันโลหิตสูงพอๆ กับเพศชาย เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงมีผลต่อความดันโลหิตสูง
  • ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้ปวดข้อและยาแก้หวัดบางชนิด ซึ่งมีสารบางอย่างที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว เมื่องดใช้ยาดังกล่าวแล้ว ความดันจะกลับเป็นปกติ ยกเว้นผู้ที่ใช้ยาดังกล่าวเป็นประจำเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงถาวรได้

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.