สุขภาพเท้า จำเป็นต้องใส่ใจ
รู้หรือไม่คะว่า เท้าเป็นอวัยวะที่มหัศจรรย์ ประกอบไปด้วยกระดูกชิ้นเล็กๆ 26 ชิ้น เท้า 2 ข้างมีกระดูกรวมกัน ทั้งหมด 52 ชิ้น ข้อต่อในเท้า มีทั้งหมด 38 ข้อ มีกล้ามเนื้อ 31 มัด มีเส้นเอ็นทั้งหมด 107 เส้น
เท้าเป็นอวัยวะที่ทำงานหนัก และมีผู้ประมาณการไว้ว่าชั่วชีวิตของมนุษย์ผู้หนึ่งจะใช้เท้าเดินเป็นระยะทางเฉลี่ยถึง 120,000 – 160,000 กิโลเมตร ซึ่งยาวมากกว่า 3 ถึง 4 เท่าของระยะทางรอบโลกเสียอีก
ฉะนั้น เรามาดูแลสุขภาพเท้า อวัยวะที่ต้องรับบทหนักในชีวิต ให้ห่างไกลจากโรคต่อไปนี้กันดีกว่าค่ะ
- เชื้อราที่เล็บ
เชื้อราจะเข้าไปทางรอยแผลเล็กๆ ที่เราอาจไม่เห็นด้วยตาเปล่า หรือในตำแหน่งที่มีการฉีกขาดของเล็บกับผิวหนังใต้เล็บ มีลักษณะเริ่มต้นด้วยมีจุดสีขาว หรือสีเหลืองที่เล็บ หรือใต้จุดปลายของเล็บ และเมื่อมีการติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เล็บมีสีเปลี่ยนไป หนาขึ้น และมีขอบด้านๆ รวมไปถึงจะมีอาการเจ็บที่เล็บด้วย เป็นโรคที่รักษาให้หายได้ยาก และต้องใช้การรักษาเป็นระยะเวลานานกว่าที่เล็บจะกลับมาเป็นปกติ
โรคนี้มักพบได้ในคนที่ประกอบอาชีพที่มือหรือเท้ามีการสัมผัสน้ำ หรือความเปียกชื้นตลอดเวลา รวมทั้งในห้องน้ำหรือสระว่ายน้ำ
2. นิ้วหัวแม่เท้าเอียง
เป็นภาวะความผิดรูปของนิ้วหัวแม่เท้าที่ส่วนปลายเอียงออกด้านนอกเข้าหานิ้วชี้ และโคนนิ้วหัวแม่เท้าเอียงเข้าด้านในแยกออกจากนิ้วอื่นทำให้ปลายเท้าแบนกว้างขึ้น เมื่อเป็นมากขึ้นปลายนิ้วหัวแม่เท้าจะซ้อนใต้นิ้วเท้า เมื่อนิ้วเท้าเอียงไปทำให้แรงดึงในเส้นเอ็นต่างๆ ของนิ้วเท้า ผิดแนวไป ก็จะเป็นตัวเสริมทำให้ผิดรูปเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ และ มีการอักเสบของข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า
โรคนี้สามารถที่จะป้องกันได้โดยที่ไม่สวมใส่รองเท้าที่มีลักษณะบีบตรงส่วนหัวมาก รวมทั้งรองเท้าส้นสูง เพราะจะทำให้นิ้วเท้ามาเกยกัน แต่ถ้าในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเท้าเอียงนั้น ผู้ป่วยมีความจำเป็นที่ต้องใส่แผ่นรองรองเท้า เพื่อที่จะช่วยปรับระดับของเท้าให้เป็นปกติและลดอาการอักเสบของนิ้วหัวแม่เท้า
3. ตาปลา
โรคตาปลาเกิดจากการที่ผิวหนังถูกเสียดสีหรือถูกกดทับกับสิ่งต่างๆบ่อยๆและ เป็นเวลานาน ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำของเราหรือเกิดจากความผิดปกติของร่างกายเองก็ได้ ทำให้เกิดความด้านหนาขึ้น ที่บริเวณปมกระดูกนูน และบริเวณฝ่าเท้า นิ้วเท้า
การรักษา เพื่อลดแรงเสียดสี จึงควรเปลี่ยนไปใช้รองเท้าที่มีขนาดพอดีไม่คับหรือบีบแน่นเกินไปและใช้ฟองน้ำรองส่วนที่เป็นตาปลาหรือหนังหนาด้านไว้เวลาใส่รองเท้า หรือไปพบแพทย์เพื่อใช้ใบมีดผ่าตัดผ่านผิวเนื้อรอยโรคที่ตายแล้วออกทีละน้อย
4. หูด
ลักษณะเป็นไต แผ่นหนาแข็ง เป็นปื้นใหญ่ มักพบบริเวณฝ่าเท้า เกิดจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ผิวหนังที่มีบาดแผล วิธีการรักษาทำได้หลากหลายวิธี เช่น ทายากลุ่มกรดซาลิซิลิก (ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแสบร้อน), จี้ด้วยไฟฟ้า, จี้ด้วยเลเซอร์ หรือ ผ่าตัดออก
5. น้ำกัดเท้า
โรคผิวหนังบริเวณเท้าติดเชื้อรา โดยผิวหนังส่วนเกิดโรคจะแห้ง ตกสะเก็ด แตกเป็นร่อง บวม เจ็บ และคัน บางครั้งอาจขึ้นเป็นตุ่มน้ำ เชื้อราชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในที่อับชื้น เปียกน้ำ เปียกเหงื่อ เช่น การลุยน้ำท่วมขัง หรือใส่รองเท้าที่มีเชื้อราอยู่ ทั้งยังติดต่อได้จากการใช้สิ่งของรวมกัน รองเท้า ถุงเท้าที่ไม่สะอาด
ผู้ที่เป็นโรคน้ำกัดเท้าควรใส่ยาแผลอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง (ก่อนใส่ยา ล้างเท้า ซอกนิ้วเท้า และแผลให้สะอาดด้วยสบู่อ่อนโยน แล้วเช็ด/ซับให้แห้ง) หรือกินยาและไปพบแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้น
6. นิ้วหัวแม่เท้าเก
ผู้ที่มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นนิ้วเท้า จะทำให้เกิดการอักเสบและผิดรูป โดยนิ้วหัวแม่เท้าจะเกหรือบิดเข้าสู่นิ้วชี้ บางครั้งนิ้วหัวแม่เท้าเบียดนิ้วเท้าอื่นๆ ทำให้นิ้วเกยกัน นอกจากนี้การมีนิ้วหัวแม่เท้าเกทำให้นิ้วหัวแม่เท้าไม่สามารถรับน้ำหนักได้ ทำให้เจ็บบริเวณฝ่าเท้าและมีหนังด้านเกิดขึ้น ทั้งนี้ยังพบว่าโรคนิ้วหัวแม่เท้าเกยังมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมอีกด้วย
หากไม่มีอาการรุนแรง สามารถแก้ไขด้วยการใส่รองเท้าที่เหมาะสม คือหัวรองเท้ากว้าง ไม่บีบรัดนิ้วเท้า พื้นรองเท้านุ่ม แต่หากมีอการปวด หรือข้อผิดรูปมากควรเข้ารับการผ่าตัด
7. เล็บขบ
คือ อาการที่เกิดจากปลายเล็บของเราจิกหรือทิ่มเข้าไปยังซอกเล็บบริเวณผิวหนังด้านข้างจนทำให้เกิดการอักเสบ บวม แดง และเจ็บปวดทรมานมาก สำหรับผู้ที่ยังมีอาการไม่มาก เพียงแค่ปวดบวมแดงเล็กน้อย และยังไม่มีหนอง รักษาได้โดย แช่เท้าในน้ำอุ่น เพื่อบรรเทาอาการปวด และค่อยๆ ตัดเล็บส่วนเกินที่ไม่เจ็บออก เพื่อไม่ให้มีสิ่งสกปรกค้างอยู่ รวมถึงหมั่นรักษาเท้าให้แห้งและสะอาด งดสวมรองเท้าส้นสูงหรือรองเท้าที่คับเกินไป
8. เท้าแบน
เป็นปัญหาของเท้าซึ่งอาจเป็นภาวะปกติหรือผิดปกติ และอาจแสดงหรือไม่แสดงอาการใด ๆ ลักษณะของภาวะเท้าแบน พบในผู้ที่มีอุ้งเท้าเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม หรือเกิดขึ้นได้ภายหลัง อาจได้รับอุบัติเหตุ หรือเท้าที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ รวมถึงคนที่น้ำหนักเกินมาตรฐาน ทำให้ปวดเมื่อยเท้า ข้อเท้าพลิกบ่อย
วิธีแก้ไขง่ายๆ ก็คือเลือกรองเท้าที่ทีส่วนโค้งนูนรับกับฝ่าเท้า เช่น รองเท้าสุขภาพ โดยการใส่รองเท้าที่มีแผ่นช่วยเสริมอุ้งเท้าเป็นประจำ จะช่วยแก้ไขภาวะเท้าแบนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงดูแลสุขภาพเท้าด้วยกันนวดหรือออกกำลังกายยืดเส้นยืดสาย เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
เรื่องโดย ธัญชนิต
ขอบคุณภาพจาก jackmac34/pixabay