โรคจอประสาทตาเสื่อม

เช็กความเสี่ยง โรคจอประสาทตาเสื่อม ภัยใกล้ตัวคุณ

เช็กความเสี่ยง โรคจอประสาทตาเสื่อม

ประสบการณ์ตรง จาก โรคจอประสาทตาเสื่อม เมื่อปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 หลังเลิกชั่วโมงสอนวิชาสุดท้ายในช่วงเย็น ประภัสสร โพธิจักร ครูประจำวิชาภาษาไทย อายุ 55 ปี เดินออกมาจากห้องเรียนที่อยู่บนชั้น 4 ของอาคาร ขณะที่กำลังเดินลงบันไดเพื่อกลับมาที่ห้องพักครู เธอมองเห็นว่า ขั้นบันไดที่อยู่ตรงหน้าเริ่มเลือนลางและบิดเบี้ยว จึงลองกระพริบตาถี่ๆ พลางคิดว่าตนเองอาจจะตาพร่าไปชั่วคราวจึงลองหยุดเดินแล้วไปนั่งพักในห้องเรียนที่อยู่ชั้นถัดมา

เมื่อลองลืมตาก็ยังพบว่าอาการผิดปรกตินั้นยังคงอยู่ เธอจึงหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาโทรบอกสามีและขอให้เขาออกมารับเพราะเธอตัดสินใจแล้วว่าจะจอดรถที่ขับมาทำงานฝากไว้กับยามของโรงเรียน

‘เกิดอะไรขึ้นกันแน่นะ…’ เธอคิดพลางทดลองลืมตาและหลับตาทั้งซ้ายและขวาสลับกันหลายรอบแต่ก็ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ โต๊ะนักเรียนที่ตั้งอยู่ตรงหน้าก็ยังเหมือนอยู่ในม่านหมอกและดูบิดเบี้ยวผิดสัดส่วนอยู่อย่างนั้น

จอประสาทตาเสื่อม

มองไม่ชัด เฉพาะตรงกลาง…อาการจอประสาทตาเสื่อม

วันรุ่งขึ้น ขณะที่สามีขับรถไปเธอโรงพยาบาล ประภัสสรก็พบว่า เวลาเธอมองไปที่ใดๆ ก็ตาม ภาพที่เคยเห็นชัดโดยตลอดจะมัวหรือเบลอเฉพาะตรงกลาง เช่น จะมองเห็นรถยนต์ที่ขับอยู่ข้างๆ แต่ถ้าเป็นรถยนต์คันที่อยู่ถัดเข้ามา โดยเฉพาะคันที่อยู่ตรงกลางจะมองเห็นไม่ชัด พิสูจน์ได้จากการอ่านป้ายทะเบียนรถคันหน้าที่ก่อนหน้านี้เคยอ่านได้ตามปรกติ แต่ตอนนี้ตัวอักษรและตัวเลขบนแผ่นป้านทะเบียนนั้นกลับเบลอจนอ่านไม่ออก

หลังจากที่ได้รับการตรวจอย่างละเอียดแล้ว แพทย์ได้แจ้งว่าเธอกำลังเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม(Age-related macular degeneration) หรือเรียกย่อๆ ว่าเอเอ็มดี โดยแพทย์ระบุว่า กรณีของเธอเป็นเอเอ็มดี แบบแห้ง (Dry AMD หรือ Non neovascular AMD) ที่ทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลงอย่างช้าๆ และเป็นโรคตาที่พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ

ติดตามกลุ่มคนที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ได้ ในหน้าถัดไปค่ะ

แล้วใครบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคนี้?

แม้ในปัจจุบันจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าโรคนี้เกิดจากอะไร แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายๆ ประการ โดยล่าสุด นายแพทย์เทียนชัย เมธานพคุณ และ นายแพทย์ธนาพงษ์ สมกิจรุ่งโรจน์ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาจอประสาทตาและน้ำวุ้นตา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอไว้ในการประชุมเชิงปฏิบัติการของภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนตุลาคมปีพ.ศ. 2556 สรุปถึงปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดของโรคเอเอ็มดี เอาไว้ดังนี้

  • อายุ : พบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปพบอุบัติการณ์เกิดมากขึ้นตามอายุ
  • พันธุกรรม : ในปัจจุบัน สามารถค้นพบยีนหลายตัวที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคจอประสาทตาเสื่อม
  • เชื้อชาติ : พบมากในชาวคอร์เคเชี่ยน ผิวขาว ตาสีฟ้า
  • เพศ : มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
  • บุหรี่ : การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอย่างน้อย 6 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
  • ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง : ผู้ป่วยทั้ง 2 โรคนี้มีความเสี่ยงต่อโรคเอเอ็มดีมากกว่าผู้ที่มีความดันโลหิตและไขมันในเลือดในระดับปรกติ

ในกรณีของประภัสสรนั้น อายุ เพศ และภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคประจำตัวของเธอนับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญซึ่งทำให้ประภัสสรมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเอเอ็มดีโดยไม่รู้ตัว

จอประสาทตาเสื่อม

ประเภทของโรคเอเอ็มดี

โรคเอเอ็มดีแบ่งเป็น 2 ประเภท โดยแต่ละประเภทมีอาการ ดังนี้

  • เอเอ็มดีแบบแห้ง (Dry AMD หรือ Non neovascular AMD): เป็นแบบที่พบได้มากที่สุดคือประมาณ 85 – 90 %ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยจะมีการมองเห็นแย่ลงอย่างช้าๆ มักตรวจพบจุดสีเหลืองที่บริเวณจุดรับภาพชัดหรือกระจายรอบๆ จุดรับภาพซึ่งเกิดจากการสะสมของของเสีย ในระยะต่อมาอาการของโรคอาจรุนแรงขึ้นโดยพบการตายของเซลล์เนื้อเยื่อคอรอยด์ การฝ่อของหลอดเลือดในผนังลูกตาชั้นกลาง และการตายของเซลล์จอประสาทตาชั้นบน ทำให้บริเวณนั้นบางลงผิดปกติ และสุดท้ายหากมีการตายของเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณกว้างเป็นรูปแผนที่ (Geographic atrophy) ซึ่งเป็นรูปแบบที่รุนแรงที่สุด โรคเอเอ็มดีแบบแห้งนี้จะพัฒนาไปเป็นเอเอ็มดีแบบเปียกได้
  • เอเอ็มดีแบบเปียก (Wet AMD หรือ Neovascular AMD): กลุ่มนี้พบได้น้อยกว่าแบบแห้งประมาณ 10 – 15 % จะมีการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว ทําให้ตาบอดได้ ซึ่งเกิดจากการที่มีเส้นเลือดงอกใหม่ผิดปกติจากชั้นคอรอยด์ที่ใต้จอประสาทตา ทะลุผ่านเข้าไปใต้จอประสาทตา ทําให้มีการรั่วซึมเลือดและสารเหลวจากเส้นเลือด มีเลือดออกหรือแผลเป็น ที่จอประสาทตา ทำให้มองเห็นภาพบิดเบี้ยวหรือเงาดําบริเวณกึ่งกลางของภาพอย่างฉับพลัน ป้องกันก่อนสูญเสียการมองเห็นถาวร

คลิกเพื่ออ่านหน้าถัดไป

สัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม

ในกรณีของประภัสสร ขณะที่เธอเข้าพบและตอบคำถามของแพทย์โดยละเอียดจึงทำให้เจ้าตัวพบว่า แท้จริงแล้ว อาการของโรคเอเอ็มดีที่เธอเป็นอยู่นั้นค่อยๆ เกิดขึ้นและดำเนินมาราวครึ่งปีแล้ว โดยเริ่มแสดงอาการตั้งแต่ช่วงต้นปี 2550แต่เธอไม่ได้ให้ความสนใจกับสัญญาณผิดปรกติเหล่านั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือก่อนเข้านอนแล้วพบว่า ตัวหนังสือแถวกลางๆ เบลอหรือบิดเบี้ยวในบางขณะ หรือ มองนาฬิกาที่ข้างฝาแล้วเห็นตัวเลขรอบๆ หน้าปัดแต่กลับมองเข็มนาฬิกาไม่ชัด เป็นต้น

อาการที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ที่ดูคล้ายเป็นเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้ทำให้เธอเข้าใจผิดว่าคงเป็นเพราะตนเองใช้สายตามากเกินไป แค่พักสายตาเดี๋ยวก็หายจึงไม่ได้มาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ แท้จริงแล้วจัดเป็นอาการของเอเอ็มดีแบบแห้ง (Dry AMD หรือ Non neovascular AMD) ที่ผู้สูงอายุอีกหลายๆ คนกำลังประสบอยู่นั่นเอง กรณีของประภัสสรเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ตรงกับข้อมูลสถานการณ์ผู้ป่วยโรคเอเอ็มดีในประเทศไทย ซึ่งทาง รองศาสตรจารย์ นายแพทย์วิชัย ประสาทฤทธา หัวหน้าหน่วยจอประสาทตา ภาควิชาจักษุวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า

“ที่ผ่านมาแทบทั้งหมดเรามักพบว่าผู้ป่วยโรคเอเอ็มดีส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าตนกำลังเผชิญหน้ากับโรคนี้จนกว่าจะพบการมองเห็นที่ผิดปกติไปจากเดิมอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาตาพร่ามัว ความชัดเจนในการมองเห็นลดลง มองเห็นภาพบิดเบี้ยว มองเห็นตรงกลางของภาพไม่ชัดเจน”

“เพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็นถาวรจากความร้ายแรงของโรคดังกล่าว ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปจึงควรได้รับการตรวจสุขภาพตาหรือหากรู้สึกว่าเกิดอาการผิดปกติเหล่านี้ขึ้นให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที เนื่องจากดวงตาเป็นอวัยวะที่ซับซ้อน ควรต้องใส่ใจและระมัดระวังเป็นพิเศษครับ”

โรคเอเอ็มดี

ลดปัจจัยเสี่ยงเอเอ็มดี…คุณทำได้ เดี๋ยวนี้!

คุณหมอวิชัย ได้ย้ำถึงวิธีลดความเสี่ยงจากโรคเอเอ็มดีไว้ว่า…

“นอกจากการตรวจตาตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ว ควรลดปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญทั้งหลาย โดยฉพาะอย่างยิ่งการสูบบุหรี่ เนื่องจากมีหลักฐานการศึกษาทางการแพทย์พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่ มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมเพิ่มขึ้นและมีโอกาสเกิดโรคนี้เร็วกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 ปี”

“ถัดมาควรหลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดโดยสวมแว่นกันแดดทุกครั้งที่ต้องออกไปทำ กิจกรรมกลางแจ้ง ควบคุมน้ำหนักตัว ลดหรืองดอาหารที่มีไขมันสูง หมั่นรับประทานผักใบเขียวและผลไม้ทุกวันซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงก็ สามารถช่วยลดโอกาสเสี่ยงโรคนี้ได้ครับ”

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 364

 

 

 

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.