ปวดหลัง
ใครเคย ปวดหลัง บ้างคะ ? ไม่ใช่ปวดเมื่อย เพราะนั่งนาน แต่ปวดหลังเพราะเกิดความผิดปกติบางอย่าง
บ.ก.เคยพับคอหนีบโทรศัพท์คุยกับเพื่อนนานเป็นชั่วโมง กว่าจะวางสายก็ดึกดื่น นอนหลับตื่นมา พบว่าเดินไม่ได้ ก้าวเท้าไม่ได้ ขยับขาไม่ได้ ปวดร้าวบ้านแตก ง่ะ…เลยต้องไปโรงพยาบาล ให้เวรเปลหามขึ้นไปแอดมิท (ขอข้ามช่วงที่หมอมาตรวจอาการไปนะคะ) นอกจากการกินยา ยังต้องทำกายภาพบำบัด และฝังเข็มรักษา เสียหายไปหลายตังค์อยู่
คุณหมอเจ้าของไข้มารู้ทีหลังว่าทำงานอยู่นิตยสารชีวจิต เลยออกแนวขำเรา แล้วเอ่ยว่า “การออกกำลังกายแบบชีวจิตน่ะ รำกระบองใช่ไหม ทำหรือเปล่า ช่วยเรื่องยืดเหยียดและยืดหยุ่นได้นะ” เอ่อม จนถึงทุกวันนี้ ยังตีความไม่ออกเลยว่า หมอบ่นว่าเราเป็นพวกใกล้เกลือกินด่างใช่ไหม 5555
ย้อนกลับมาเรื่องอาการปวดหลัง นอกจากการถือประเป๋าใบโตแล้ว พบว่ารองเท้าก็มีส่วนทำให้ปวดหลังด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะเป็นคนเดินเร็ว และชอบเดินมาก เมื่ออายุเยอะขึ้น รองเท้าแฟชั่นสวยๆ (อย่าว่าแต่รองเท้าส้นสูงเลย) ที่ไม่ได้ผ่านการออกแบบโดยนักออกแบบรองเท้า ที่มีความรู้เรื่องสรีระศาสตร์ ก็กลายเป็นสิ่งต้องห้ามไป
คลิกเพื่ออ่านหน้าถัดไป
จำได้ว่า สวมรองเท้าสวยคู่ใหม่ เดินทางไปถ่ายรูปที่ไหนสักแห่ง 3 วัน 2 คืนนี่แหละ พบว่าอาการตึงบริเวณหลัง (ซึ่งมีติดตัวอยู่เป็นอาการประจำของคนทำงานหนังสือ แต่จะหายไปเมื่อกลับบ้านพักผ่อน หรือเมื่อมีวันหยุด) เป็นมากขึ้น ตอนแรกก็เอ๊ะ ไม่ได้เอะใจว่ามีสาเหตุมาจากรองเท้า แต่พบว่า เมื่อเปลี่ยนเป็นรองเท้าแตะแล้ว อาการปวดหลังคลายลง
จึงถอดรองเท้าคู่นั้นทิ้งเสีย แล้วเริ่มใส่ใจกับการเลือกรองเท้า เพราะเท้าเป็นจุดสะท้อนอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย (reflexology) การสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสมกับเท้า อาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมได้
นิตยสารชีวจิตเคยแนะนำวิธีเลือกรองเท้าไปในฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงนวพร ชัชวาลพาณิชย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลอธิบายว่า “เท้าของเราประกอบด้วยกระดูก 28 ชิ้น ทำหน้าที่ในการพยุงกระดูกเชิงกรานและกระดูกสันหลัง จึงเท่ากับว่า เท้าคู่นี้จะต้องรองรับโครงสร้างต่างๆ ของร่างกายไว้ทั้งหมด การทรงตัวของร่างกายจึงขึ้นอยู่กับกระดูกทั้ง 28 ชิ้นนี้
“การสวมรองเท้าที่เหมาะสม จะช่วยรักษารูปทรงของกระดูกทั้ง 28 ชิ้นนี้ให้เป็นปกติ ไม่บิดเบี้ยว เกิดกระจายน้ำหนักลงบนฝ่าเท้าอย่างเหมาะสม เกิดแรงกระแทกในการเดินน้อย การทรงตัวจึงดีขึ้น”
ฉะนั้น ใครก็ตามที่มีปัญหาเรื่องปวดหลัง การเปลี่ยนรองเท้ามาสวมคู่ที่เหมาะสมกับสรีระย่อมดีกว่า จ่ายแพงหน่อย แต่คิดเสียว่า นี่คือการลงทุนเพื่อสุขภาพ อย่าลืมนะคะ เราควบคุมงบประมาณการป้องกันได้ แต่เราไม่สามารถควบคุมงบประมาณการรักษาได้เลย
ส่วนผู้ที่จะถามว่ายี่ห้อไหนดี อิอิ ต้องรบกวน inbox เข้ามาค่ะ