ประโยชน์ของอาชาบำบัดในเชิงการฟื้นฟูสุขภาพ

ประโยชน์ของอาชาบำบัดในเชิงการฟื้นฟูสุขภาพ

“อาชาบำบัด”

รองศาสตราจารย์ กรกฎ เห็นแสงวิไล อาจารย์ประจำภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่า ในยุโรปและอเมริกาเหนือ มีการนำ “อาชาบำบัด” หรือม้ามาช่วยให้การรักษาและฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยทั้งกายและในตั้งแต่ช่วงปี 1960 แล้ว ส่วนในประเทศเพิ่งเริ่มนำมาใช้เมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้
จุดเด่น คือ การเดินของม้าช่วยกระตุ้นผู้ป่วยในด้านต่างๆ ได้แก่ เรื่องพัฒนาการ การเคลื่อนไหว จังหวะการเดิน และส่งผลต่อการจดจำ จึงมีผลต่อการฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและสติปัญญาได้ ปัจจุบัน แพทย์โดยเฉพาะกุมารแพทย์ เห็นประโยชน์จากการใช้ อาชาบำบัด และนำมาใช้ ดังนี้

"อาชาบำบัด"

  • การทรงตัวและการเคลื่อนไหวดีขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่มีปัญหาเรื่องระบบเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ ช่วยให้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อลดลง
  • ทำให้มีสมาธิมากขึ้น ให้ผลดีกับกลุ่มเด็กออทิสติกที่มีปัญหาสมาธิสั้น จนต้องเคลื่อนไหวร่างกายอยู่ตลอดเวลา การนั่งบนหลังม้าช่วยให้เด็กมีสมาธิจดจ่อและพัฒนาเรื่องการทรงตัวไปพร้อมๆ กันได้
  • ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น เนื่องจากการทำกิจกรรม อาชาบำบัด เป็นกิจกรรมกลุ่ม เด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ต้องทำความรู้จักกับม้า ครูฝึก และเพื่อนๆ ร่วมกิจกรรม ช่วยให้เด็กเรียนรู้และตอบสนองด้วยอารมณ์ในเชิงบวกได้ดีขึ้น
  • ดูแลตัวเองได้ การจัดกิจกรรมนี้เป็นโอกาสให้เด็กได้ฝึกทักษะการเรียนรู้ทีละน้อยๆ ผ่านการร่วมกิจกรรมกับครูฝึก เพื่อนๆ และครูฝึก ในขณะเดียวกัน ตัวเด็กเองจำเป็นต้องพัฒนาทักษะของตนเองไปพร้อมๆ กัน ผลคือเด็กจะค่อยมีความมั่นใจมากขึ้นและสามารถดูแลตัวเองได้ในที่สุด
  • ฝึกประสาทสัมผัส ขณะที่ขี่ม้า จำเป็นต้องใช้ประสาทสัมผัสพร้อมๆ กันทั้งแขน ขา หู และตา เพื่อช่วยให้สามารถทรงตัวบนหลังม้าได้ เมื่อฝึกติดต่อกันบ่อยๆ จะทำให้สมองส่วนที่ควบคุมเรื่องประสาทสัมผัสทำงานได้ดีขึ้นด้วย
  • ทำให้จิตใจอ่อนโยน ขณะที่เด็กเรียนรู้เรื่องการควบคุมและแสดงออกอารมณ์ในทางที่เหมาะสมขณะทำกิจกรรมร่วมกับครูฝึกและเพื่อนๆ การขี่ม้าให้ได้คล่องแคล่วและราบรื่นจะเป็นต้องทำความรู้จักกับม้า ทั้งการควบคุมทิศทาง การให้รางวัล การสื่อสารกับม้า ทำให้เด็กรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและมีเมตตาต่อสัว์ไปในตัว

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

กลุ่มอาการที่เหมาะกับอาชาบำบัด

  • ผู้ที่มีปัญหาทางระบประสาทและสติปัญญา เช่น ออทิสติก ไฮเปอร์แอ็คทีฟ ซึ่งกิจกรรมนี้จะช่วยฟื้นฟูและทำให้เกิดการทำงานที่สมดุลทั้งร่างกายและจิตใจ สร้างสมาธิ ทำให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น เรียนรู้และเชื่อมโยงเหตุการณ์และสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ดีขึ้น
  • ผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว หรือ มีปัญหาเรื่องการทำงานของกล้ามเนื้อและข้อต่อ เช่น ผู้ป่วยกลุ่มโรคสมองพิการ อัมพาตครึ่งท่อน กระดูกสันหลังคด เนื่องจากผู้ป่วยในกลุ่มดังกล่าวจะมีอาการกล้ามเนื้อเกร็ง ควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายได้ลำบาก การฝึกทรงตัวบนหลังม้าโดยให้ม้าเดินไปข้างหน้าช้าๆ จะช่วยลดอาการกล้ามเนื้อเกร็ง และกระตุ้นให้การทำงานของประสาทสัมผัสทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น จึงเป็นผลให้ผู้ป่วยผ่อนคลายและสามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยตัวเองทีละน้อยๆ

"อาชาบำบัด"

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 192

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.