Color Therapy การใช้ สีบำบัดโรค
นับตั้งแต่มีการค้นพบเรื่องความแตกต่างของสีแต่ละสีเมื่อหลายพันปีก่อน มนุษย์รู้จักนำความรู้เรื่องสีมาปรับใช้ในเรื่องของ สีบำบัดโรค โดยสีต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ได้เป็นเพียงแค่สิ่งที่เราสามารถรับรู้และมองเห็นได้ด้วยตาเท่านั้น แต่พลังของสียังส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และการตัดสินใจของเราอีกด้วย
แพทย์หญิงเรขา กลลดาเรืองไกร จิตแพทย์ เล่าถึงหลักการทำงานของสีว่า สีแต่ละสีมีความยาวคลื่น (Wave Length) และความถี่ (Frequency) ที่แตกต่างกัน เมื่อจอประสาทตาของเรารับแสงสีต่างๆ ผ่านเข้าไปสู่ต่อมไพเนียลในสมอง (ต่อมไพเนียลทำหน้าที่ควบคุมจังหวะการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของเรา เช่น การกิน การนอน การขับถ่าย)
ต่อมไพเนียลจะมีปฏิกิริยาในการตอบสนองต่อสีแต่ละสีแตกต่างกันออกไป ซึ่งส่งผลให้ความรู้สึก จิตใจ ฮอร์โมน และอารมณ์ในร่างกายของเราในขณะนั้นแตกต่างกัน เช่น เมื่อจอประสาทตารับแสงสีแดงจะทำให้เกิดความรู้สึกตื่นตัว รับแสงสีม่วงจะทำให้รู้สึกสงบ
ด้วยความหลากหลายของสีนี่เอง นักจิตวิทยาจึงสามารถนำพลังของแต่ละสีมาปรับใช้เพื่อบำบัดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ของร่างกายและจิตใจให้กับผู้ป่วยมากมายในปัจจุบัน โดยเรียกศาสตร์แห่งการรักษานี้ว่า สีบำบัด หรือ Color Therapy
พลังแห่งสีกับการบำบัดโรค
โดยทั่วไปศาสตร์ของการรักษาโรคโดยการใช้สีบำบัด เรา สามารถแบ่งชนิดหรือโทนของสีออกเป็นสองแบบคือ สีโทนร้อน และ สีโทนเย็น ซึ่งโทนสีทั้งสองแบบมีประโยชน์ต่อการบำบัดโรคทั้งทางกายและทางใจแตกต่างกันออกไป ดังนี้
กลุ่มสีโทนร้อน เช่น สีเหลือง สีส้ม สีแดง สีม่วง จะเป็นกลุ่มสีที่ทำให้เกิดความรู้สึกมีพลัง เร่าร้อน กระตือรือร้น และกระฉับกระเฉง ในทางจิตวิทยา ความแรงของสีโทนร้อนจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเจริญอาหาร ทำให้เกิดความรู้สึกหิว และกระตุ้นให้มีชีวิตชีวาอยู่เสมอ
สีเหลือง ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น
สีเหลืองเป็นสีแห่งความสนุกสนาน ความฉลาดรอบรู้ สดใส ร่าเริง และทำให้มีอารมณ์ขัน ทั้งนี้ผักและผลไม้ที่มีสีเหลืองมักอุดมไปด้วยวิตามินเอที่ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันหวัด และช่วยเสริมสร้าง ความเจริญเติบโตให้ร่างกาย พลังของสีเหลืองช่วยให้ระบบการทำงานของน้ำดีและลำไส้เป็นไปตามปกติ ช่วยปรับสมดุลของระบบทางเดินอาหาร ทำให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น ทั้งยังสามารถใช้เยียวยาอาการท้อแท้ หดหู่ และหมดกำลังใจของผู้ป่วยบางประเภทได้อีกด้วย
สีส้ม รักษาโรคหืด
สีส้มเป็นสีแห่งความสร้างสรรค์ อบอุ่น สดใส มีสติปัญญา ความทะเยอทะยานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง และในขณะเดียวกันก็มีความระมัดระวังไปในตัว ผลไม้และผักที่มีสีส้มอุดมด้วยวิตามินบี ที่ช่วยในการสร้างเม็ดเลือด เผาผลาญแป้งและน้ำตาล บำรุงระบบประสาท พลังของสีส้มช่วยคลายอาการหอบหืดและโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ช่วยรักษาความผิดปกติของม้าม ตับอ่อน ลำไส้ ทั้งยังช่วยในการดูดซึมอาหารของกระเพาะและลำไส้ได้เป็นอย่างดี
ในทางจิตวิทยา พลังของสีส้มมีคุณสมบัติในการบรรเทาอาการซึมเศร้า หากคุณต้องการเรียกพลังความกระตือรือร้นในชีวิตให้กลับคืนมา สีส้มเป็นสีที่คุณควรมองหาและนำมาประยุกต์ใช้ให้มากที่สุด
สีแดง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง
สีแดงเป็นสีที่กระตุ้นระบบประสาทของเราได้รุนแรงที่สุด ให้ความรู้สึกเร้าใจตื่นเต้น ท้าทาย ตื่นตัว ผักและผลไม้สีแดงเป็นแหล่งของวิตามินบี 12 ทองแดง และเหล็กซึ่งช่วยบำรุงระบบประสาท พลังของสีแดงกระตุ้นพลังชีวิตให้มีความเข้มแข็ง กระตือรือร้นและมีชีวิตชีวา ในแง่ของการรักษา สีแดงมีอิทธิพลต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง เพิ่มอุณหภูมิในร่างกาย เพิ่มพลังในระบบการไหลเวียนของเลือด และรักษาอาการหวัด
เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจ ควรรีบหาสีแดงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันโดยเร็ว ทั้งนี้เพราะพลังแห่งความมั่นใจ กล้าแสดงออก และความรักที่มีอยู่ในสีโทนร้อนเช่นสีแดงนั้นจะสามารถสร้างความรู้สึกเชื่อมั่นในตัวเองให้กับคุณได้เป็นอย่างดี
สีม่วง ปรับสมดุลในร่างกาย
สีม่วงเป็นสีแห่งผู้รู้ ช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจและสร้างความสงบในจิตใจได้เป็นอย่างดี ผักและผลไม้ที่มีสีม่วงเต็มเปี่ยมไปด้วยวิตามินดี ซึ่งช่วยเพิ่มพลังงาน ช่วยในการย่อยอาหาร พลังของสีม่วงช่วยปรับสมดุลในร่างกายของเราให้กลับมาเป็นปกติ ใช้บำบัดโรคไต กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคผิวหนังบางชนิด อีกทั้งยังช่วยในการบำบัดโรคไขข้อได้อีกด้วย
จากการวิจัยพบว่า พลังของสีม่วงยังช่วยให้สมองของเราสงบ และสามารถสร้าง
แรงบันดาลใจในด้านต่างๆ ทั้งยังก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในตัวเราไปในคราว
เดียวกัน เมื่อคุณต้องขบคิดปัญหาที่ยังไม่สามารถหาทางออกได้ การนำสีม่วงเข้ามา
ประยุกต์ใช้ (เช่นใช้ปลอกหมอน นาฬิกา กรอบรูป หรือเน็คไทสีม่วง)
จะทำให้คุณสามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
กลุ่มสีโทนเย็น เช่น สีเขียว สีน้ำเงิน สีฟ้า เป็นกลุ่มสีที่ให้ความรู้สึกสดชื่น สงบ ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ และไม่ทำให้เครียด สีโทนเย็นจึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ต้องทำงานหนักและใช้ความคิดเป็นอย่างมาก
สีเขียว บรรเทาอาการเครียด
สีเขียวเป็นสีที่เด่นที่สุดบนโลก ให้ความรู้สึกร่มรื่น สบายตา ผ่อนคลาย ปลอดภัย ทำให้เกิดความหวังและความสมดุล นอกจากนี้ ผักผลไม้สีเขียวก็อุดมไปด้วยแร่ธาตุสำคัญมากมาย โดยเฉพาะ
วิตามินซีซึ่งช่วยในการสมานแผล ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง เล็บสวย ฟันสวย เพิ่มความต้านทานโรค ในด้านการรักษา ใช้เมื่อต้องการผ่อนคลายความตึงเครียด เพราะพลังของสีเขียวสามารถทำให้ประสาทตาผ่อนคลาย และความดันโลหิตของเราลดลงได้ทั้งยังช่วยผ่อนคลายระบบประสาท ป้องกันการจับตัวของก้อนเลือด ต่อต้านเชื้อโรค รักษาอาการของคนเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เยื่อบุอักเสบ เป็นต้น
สีน้ำเงิน บรรเทาความดันสูง
สีน้ำเงินเป็นสีที่สร้างความสุขุม เยือกเย็น หนักแน่น และละเอียดรอบคอบ พลังของสีน้ำเงินทำให้ระบบหายใจของเราเกิดความสมดุลและแข็งแรงขึ้น ใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง และคลายความเหงา อีกทั้งยังเป็นสีที่ใช้ในการสร้างแรงบันดาลใจและการแสดงออกทางศิลปะได้ดีอีกด้วย
สีฟ้า บรรเทาโรคปอด
สีฟ้าเป็นสีที่ให้ความรู้สึกสงบเยือกเย็น เป็นอิสระ ปลอดโปร่ง สบาย ปลอดภัย ใจเย็น และระงับความกระวนกระวายในใจได้ดี พลังของสีฟ้ามีคุณสมบัติในการรักษาอาการของโรคปอด ลดอัตราการเผาผลาญพลังงาน รักษาอาการเจ็บคอ และทำให้ชีพจรของเราเต้นเป็นปกติ
เมื่อรู้จักประโยชน์ของสีแต่ละสีกันไปแล้ว ทีนี้เรามาดูกันต่อดีกว่าว่าจะสามารถนำสีสันทั้งหลายเหล่านี้มาปรับและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้อย่างไรบ้าง
สีบำบัดกับการปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
แพทย์หญิงเรขา กลลดาเรืองไกร ให้คำแนะนำเรื่องการนำความรู้เรื่องสีบำบัดมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันไว้อย่างน่าสนใจว่าแม้ผลการรักษาอาการผิดปกติของร่างกายโดยการใช้สีบำบัดจะไม่เห็นผลชัดเจนเท่ากับการกินยา แต่การนำความรู้เรื่องประโยชน์ของสีมาบำบัดอาการต่างๆ นั้นก็ทำให้อาการต่างๆ ของโรคที่เป็นอยู่ดีขึ้นได้เช่นเดียวกัน
อีกทั้งยังสามารถทำได้ในทันที เพียงแค่นำของที่มีและใช้อยู่เดิมในชีวิตประจำวันมาปรับใช้ให้เข้ากับอาการที่เป็นอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องรู้ก่อนว่าประโยชน์ของแต่ละสีคืออะไร
ถ้าเราเข้าใจเรื่องประโยชน์ของแต่ละสีก็แค่นำมาปรับใช้ให้เข้ากับอาการที่เราเป็น เช่น หากตื่นนอนมาแล้ว แต่ยังรู้สึกง่วง เมื่อเข้าห้องน้ำไปแปรงฟันก็ควรเลือกใช้แปรงสีฟันสีแดง สีส้มหรือสีเหลือง แทนที่จะเลือกใช้สีฟ้า สีเขียว เพราะจะยิ่งทำให้ดูง่วงไปกันใหญ่
หรือสำหรับคนทำงานที่ต้องใช้ความคิดเป็นประจำ ก็ควร นำความรู้เรื่องสีมาปรับใช้ เช่น หาต้นไม้สีเขียวต้นเล็กๆ มาไว้ที่โต๊ะ ทำงาน นำดอกไม้โทนสีร้อน เช่น ดอกกุหลาบ ดอกลาเวนเดอร์ มาปักแจกัน เพื่อลดความเครียดและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
กระทั่งเสื้อผ้า เครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ก็ควรเลือกใช้เพื่อให้เข้ากับอารมณ์ในเวลานั้นๆ เช่น หากต้องการความ มั่นใจก็ควรเลือกเสื้อผ้าสีโทนร้อน เช่น สีแดง สีส้ม มาสวมใส่ หรืออย่างบางคนที่รู้สึกเบื่ออาหารก็ควรนำสีโทนร้อนมาปรับใช้ เช่น อาจทาห้องครัวเป็นสีส้ม ใช้จานใส่อาหารหรือแก้วน้ำสีแดงเพื่อกระตุ้นการเจริญอาหาร
หรืออย่างบางคนที่นอนหลับยากก็ไม่ควรเลือกใช้เครื่องนอน ที่มีสีเข้ม เพราะจะไปกระตุ้นให้ยิ่งเครียดและตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ผนังห้องนอนควรทาสีโทนเย็น เช่น สีฟ้าอ่อน สีเขียวอ่อน ชมพูอ่อน เพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายและนอนหลับง่าย เป็นต้น
นอกจากนี้ แพทย์หญิงเรขายังให้คำแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกใส่แต่เสื้อผ้าสีเดียวอยู่ตลอดเวลา เพราะจะทำให้ร่างกายเกิดอาการไม่สมดุล และในขณะเดียวกันก็ไม่ควรวิตกกังวลกับการเลือกใช้สีมากเกินไป แค่ประยุกต์สีสันบนข้าวของเครื่องใช้ที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันให้เข้ากับตัวเองมากที่สุดก็เพียงพอแล้ว
เพราะสีมีความสัมพันธ์กับร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และความรู้สึกนึกคิดมากมายขนาดนี้ เปิดตู้เสื้อผ้าครั้งต่อไป นอกจากเลือกแบบและรูปทรงของเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับกาลเทศะก่อนสวมใส่แล้ว อย่าลืมนำความรู้เรื่องสีมาเป็นเหตุผลประกอบการตัดสินใจด้วยนะครับ
ใช้สีบำบัดเครียด
ในยุคปัจจุบัน ภาวะการแข่งขันสูงทำให้หลายครั้งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเครียดจากการทำงานไปได้ การนำความรู้เรื่องสีบำบัดมาปรับใช้จึงเป็นอีกทางออกหนึ่งที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง คุณพิกุลทอง สลีจันต๊ะ เว็บมาสเตอร์วัย 26 ปี ของบริษัทผลิตสื่อสิ่งพิมพ์แห่งหนึ่ง ได้เล่าถึงวิธีจัดการกับความเครียดของตัวเองให้ฟังว่า
ด้วยความที่อาชีพของดิฉันต้องทำงานแข่งกับเวลา ทำให้ แทบทุกวันต้องนั่งอยู่กับคอมพิวเตอร์วันละมากกว่าแปดชั่วโมงทำให้เกิดอาการเครียดจนกลายเป็นคนหงุดหงิดง่าย โชคดีที่ที่ทำงานของดิฉันอยู่ใกล้กับสวนสันติชัยปราการ เวลาที่รู้สึกเครียดมากๆ และทำงานต่อไปไม่ไหว ดิฉันก็มักจะเข้าไปนั่งเล่นในสวนได้เห็นต้นไม้เขียวๆ สนามหญ้ากว้างๆ ก็ทำให้เรารู้สึกสบายตาและสบายใจขึ้น
ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 195