หาย อาการสะอึก ด้วยการกินเปรี้ยว
อาการสะอึก อาจเป็นเรื่องแสนธรรมดาที่ทุกคนก็เป็นได้ แม้แต่ทารกในครรภ์ก็เช่นกัน แต่คุณทราบไหมว่าอาการเล็กๆ น้อยๆ เช่น การสะอึกนี้กลับไม่ใช่เรื่องเล็กเลยหากคุณต้องทนสะอึกข้ามวันข้ามคืน ซึ่งจากบันทึกของกินเนสส์บุ๊กพบว่า คนที่สะอึกนานที่สุดในโลกคือคุณปู่ชาวอเมริกันที่สะอึกนานถึง 68 ปี ส่วนการสะอึกจะน่ารำคาญแค่ไหนคนที่กำลังสะอึกย่อมรู้ดี
ถึงแม้เราจะยังไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัดของอาการสะอึก แต่คนส่วนใหญ่มักมีอาการเกิดขึ้นหลังจากกินหรือดื่มมากเกินไป จนทำให้กระเพาะอาหารที่จุกแน่นไปกดกะบังลมให้หดตัวอย่างกะทันหัน จนเกิดอาการกระตุก และปล่อยเสียงสะอึกออกมา
ขอแนะนำสารพัดเคล็ดลับที่จะช่วยหยุดอาการดังกล่าวได้อย่างง่ายๆ ด้วยตัวเอง โดยเลือกวิธีที่เหมาะกับคุณ แล้วลองทำตามดังนี้ค่ะ
หยุดสะอึกแบบเร่งรัด
หากอาการสะอึกเกิดขึ้นในเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น คุณกำลังกล่าวอวยพรในงานแต่งงานของเพื่อน หรือกำลังขึ้นพูดในที่สาธารณะ
วิธีต่อไปนี้สามารถช่วยคุณระงับอาการสะอึกได้ทันเวลา
- กดจุดหยุดสะอึก วิธีนี้ช่วยรักษาอาการสะอึกได้อย่างแนบเนียน โดยใช้นิ้วชี้กับนิ้วโป้งบีบตรงเนินเนื้อที่อยู่ต่อจากนิ้วโป้งของมืออีกข้างหนึ่งไว้ ยิ่งแรงยิ่งดี หรืออีกวิธีหนึ่งให้กดจุดบริเวณร่องเหนือริมฝีปาก แรงกดบีบนี้จะเบี่ยงเบนระบบประสาทของคุณจากอาการสะอึกได้
- ใช้นิ้วมืออุดหูประมาณ 20 – 30 วินาที หรือกดผิวเนื้อนุ่มๆด้านหลังติ่งหูบริเวณที่ต่อจากกะโหลกศีรษะ วิธีนี้จะส่งสัญญาณผ่อนคลายผ่านเส้นประสาทเวกัส (Vagus nerve) ซึ่งเป็นส่วนที่ทอดยาวจากก้านสมองและเชื่อมต่อกับบริเวณกะบังลม
- สูดหายใจเข้าลึกๆและกลั้นไว้ เมื่อคาร์บอนไดออกไซด์ถูกกักไว้ในปอด กะบังลมจะคลายออก ส่วนการสูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วเป่าลูกโป่งก็ได้ผลเหมือนกัน
- ใช้มือป้องปากปิดจมูกไว้ แต่ยังคงหายใจต่อไปเรื่อยๆตามปกติ วิธีนี้จะช่วยระงับอาการสะอึกได้ เนื่องจากคุณได้รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปมากขึ้นนั่นเอง
- หากไม่มีใครมองอยู่ ลองแลบลิ้นออกมายาวๆ ซึ่งเป็นวิธีที่นักร้องมักใช้เพื่อกระตุ้นช่องว่างระหว่างเส้นเสียง คุณจะหายใจได้ราบรื่นขึ้น และระงับอาการกระตุกที่ทำให้คุณสะอึกได้
นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆ ที่ใช้ได้ผลดีสำหรับคนที่สะอึกบ่อยๆ มาแนะนำกันดังต่อไปนี้
กินอาหารระงับสะอึก
หากคุณเพิ่งเริ่มต้นสะอึก ลองมองหาตัวช่วยหยุดสะอึกใกล้ๆ ตัว อย่างอาหารในตู้เย็นหรือในห้องครัวของคุณเอง โดยเริ่มจาก
- ตักน้ำตาลทรายหรือน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะใส่ปาก และกลืนให้หมดโดยไม่ใช้น้ำ
- ฝานมะนาว แล้วบีบเอาน้ำมะนาวมาสัก 1 ช้อนชา จากนั้นรีบดื่มทันที การลิ้มรสอะไรที่เปรี้ยวจี๊ดสามารถทำให้ริมฝีปากหดย่นและหยุดอาการสะอึกได้
- กลืนน้ำส้มสายชูหมักจากแอ๊ปเปิ้ลสัก 1 ช้อนชา วิธีนี้จะช่วยจู่โจมปุ่มรับรส ทำให้หายสะอึกได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน
- กินเนยถั่ว 1 ช้อนชาพูนๆ ระหว่างที่คุณเคี้ยวและดุนให้เนยถั่วเหนียวๆหลุดจากลิ้นและฟัน รูปแบบการกลืนกับการหายใจจะถูกขัดจังหวะ และอาจทำให้อาการสะอึกหายไป
- ถ้าการสะอึกเกิดจากการกินอาหารมากเกินไป เมื่อถึงเวลาหลังอาหาร ลองดื่มชาเปปเปอร์มินต์ เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารลดการเกร็งตัวและผ่อนคลายลง
แต่ถ้าวิธีนี้ยังไม่ได้ผล คงต้องพึ่งตัวช่วยที่หาได้ง่ายในทุกๆ ที่และได้ผลดี ว่าแล้วลองหยิบน้ำดื่มสักแก้วมาทำตามกันค่ะ
เยียวยาด้วยการดื่ม
หากคุณมีอาการสะอึกบ่อยๆ เสียจนสร้างความรำคาญในการดำเนินชีวิตประจำวัน วิธีการต่อไปนี้จะช่วยคุณระงับอาการดังกล่าวได้
- ก้มศีรษะจิบน้ำ โดยค่อยๆก้มจิบน้ำจากขอบด้านนอกฝั่งตรงข้ามของแก้ว หรือใช้วิธี จิบน้ำจากแก้วเร็วๆ ประมาณ 9 – 10 ครั้ง สองวิธีนี้จะทำให้การหายใจเข้าน้อยลง จึงเป็นการเพิ่มระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกาย นอกจากนี้เมื่อคุณกลืนน้ำยังทำให้หลอดอาหารหดตัวเป็นจังหวะ จึงช่วยหยุดอาการกระตุกของกะบังลมได้
- ถ้าคุณอุดหูเวลาดื่มน้ำก็จะยิ่งดี ใช้นิ้วมืออุดหูไว้ และจิบน้ำจากหลอดดูด ด้วยวิธีนี้เส้นประสาทเวกัสจะถูกกดไว้ ขณะที่คุณได้ประโยชน์จากการกลืนน้ำอย่างสม่ำเสมอ
- ใช้กระดาษเช็ดมือปิดปากแก้วที่บรรจุน้ำแล้วดื่ม เมื่อคุณใช้แรงดูดน้ำผ่านกระดาษ จะทำให้กะบังลมของคุณต้องออกแรงมากขึ้น จึงช่วยต้านอาการกระตุกของกล้ามเนื้อได้
หลายคนคงหายทรมานจากอาการสะอึกกันได้แล้ว เรามาเรียนรู้วิธีป้องกันก่อนเกิดอาการดังกล่าวกันค่ะ
ป้องกันไว้ก่อน
แม้ว่าอาการสะอึกจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ทางที่ดีหากเรารู้จักวิธีป้องกันที่สาเหตุก็สามารถระงับอาการเหล่านี้ได้
- สร้างนิสัยการกินและดื่มให้ช้าลง เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน เพราะการกินอาหารเร็ว
- จะทำให้คุณกลืนอากาศเข้าไปมากขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการสะอึก
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีฟอง โดยเฉพาะเครื่องดื่มแช่เย็น ความเย็นและฟองอากาศจะร่วมกันทำให้กะบังลมของคุณปั่นป่วน ซึ่งอาจส่งผลให้คุณสะอึก
- ถ้าลูกน้อยของคุณสะอึก อาจเกิดจากการกลืนอากาศมากเกินไปในขณะที่กินนม ให้ใช้วิธีเดียวกับการทำให้เด็กเรอ นั่นคือ อุ้มลูกพาดบ่าและตบหลังเบาๆ เป็นการไล่ลมทำให้หายสะอึก ที่สำคัญ ทุกครั้งก่อนให้นมลูก คุณควรตรวจสอบจุกของขวดนม ว่าปล่อยให้น้ำไหลออกมาในปริมาณที่เหมาะสมหรือไม่ โดยคว่ำขวดลง นมควรจะหยดอย่างสม่ำเสมอก่อนจะหยดช้าลงและหยุดสนิทในที่สุด เพราะหากน้ำนมไหลออกมามากหรือน้อยเกินไปจะทำให้สะอึกได้
หวังว่าหนึ่งในสารพัดเคล็ดลับข้างต้นจะช่วยให้คุณหยุดสะอึกกันได้บ้างนะคะ
ข้อมูลจาก คอลัมน์เยียวยาก่อนหาหมอ นิตยสารชีวจิตฉบับ 223 (16 มกราคม 2551)