วิกฤติสุขภาพ, เทคโนโลยี, สุขภาพร่างกาย, ภูมิแพ้อากาศ, โรคระบบทางเดินหายใจ, ไซนัส

วิกฤติสุขภาพ จากเทคโนโลยี

วิกฤติสุขภาพ จากเทคโนโลยี

ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเราค่อนข้างมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิด วิกฤติสุขภาพ ตามมา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้ชีวิตยิ่งขึ้น หากแต่การใช้เทคโนโลยีเกินความจำเป็น และเกินกว่าที่ร่างกายจะรับได้ กลับส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยนานัปการ

ตาเสื่อมก่อนวัยจากโทรทัศน์

โดยทั่วไปแล้วประสิทธิภาพการมองเห็นของคนเราจะเสื่อมถอยไปตามอายุ แต่เมื่อไรที่ใช้สายตามากเกิน ก็อาจทำให้สายตาเสื่อมตั้งแต่ยังเด็ก

คุณขนิษฐา ชินพัฒนา อาชีพนักเขียนอิสระ อายุ 34 ปี เล่าถึงผลร้ายจากการดูโทรทัศน์ของลูกชายวัยประถมศึกษาปีที่ 1 ว่า

“ลูกชายชอบดูการ์ตูนทีวีเป็นชีวิตจิตใจตั้งแต่เขาเรียนอยู่อนุบาล 2 หลังจากแยกห้องนอนกับลูก เขามักขอให้พี่เลี้ยงเปิดรายการการ์ตูนในทีวีหรือจากแผ่นดีวีดีให้ดูเป็นประจำ และจะขอให้พี่เลี้ยงปิดไฟและรูดม่านในห้องลงจนมืดสนิท เพราะชอบบรรยากาศมืดๆ แบบในโรงหนัง

“เคยห้ามลูกไม่ให้ทำแบบนี้เพราะจะทำให้สายตาเสีย แต่ลูกกลับแอบใช้ผ้าห่มคลุมกันแสงจากทีวีเพื่อไม่ให้เราเห็น ซึ่งอาจจะโดนดุได้ เราเลยจำกัดเวลาดูทีวีของลูกไม่ให้เกินสามทุ่มในวันธรรมดาส่วนวันหยุดจะปล่อยให้ดูตามสบาย

“วันหนึ่งลูกบอกว่ารู้สึกเหมือนมองเห็นลูกโป่งหลายลูกแตกอยู่ในตาข้างขวา ส่วนตาข้างซ้ายเห็นเป็นเงากลมๆ ลอยไปมา ทำอย่างไรก็ไม่หาย รู้สึกรำคาญและมีอาการปวดหัว จึงรีบพาไปหาคุณหมอ

“ผลการตรวจพบว่า ลูกมีอาการวุ้นตาเสื่อมที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ อาการนี้เกิดจากเจลวุ้นที่คอยหล่อเลี้ยงลูกตาเสื่อมสภาพกลายเป็นน้ำ ทำให้สารต่างๆ ในดวงตาเกาะตัวรวมกัน เลยมองเห็นคล้ายมีหยากไย่สีดำเกาะหรือลอยไปมา

“คุณหมอบอกว่า เด็กๆ ไม่ค่อยมีอาการนี้ เพราะอาการวุ้นตาเสื่อมมักเกิดกับคนสูงอายุมากกว่า กรณีของลูกอาจเกิดจากการใช้สายตาอย่างหักโหม และที่รักษาไม่ได้เพราะเป็นส่วนที่เสื่อมสภาพแล้ว จึงต้องระวังไม่ให้มีอาการมากขึ้น เพราะอาจทำให้ตาบอดได้

“หลังจากนั้นจึงเข้มงวดเรื่องการดูทีวีมากขึ้น คอยถามลูกเรื่องอาการเป็นระยะๆ แล้วชวนทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น ให้ช่วยเลี้ยงน้อง เล่นเกมที่ทำจากกระดาษ และให้กินอาหารบำรุงสายตา เช่น ผัดผักบุ้ง ฟักทองแกงบวด”

เห็นไหมคะว่า ภัยจากโทรทัศน์ร้ายกว่าที่คิด

โทรทัศน์

คุณหมออดุลย์กล่าวถึงอาการป่วยจากโทรทัศน์ดังต่อไปนี้ค่ะ

ตาเสื่อมก่อนวัย การดูโทรทัศน์ที่มีภาพเคลื่อนไหว มีแสงจ้ามาก และการดูในที่มืด ทำให้สายตาต้องคอยปรับโฟกัส ปรับความมืดและสว่างสลับไปมา และยังทำให้ม่านตาต้องทำงานตลอดเวลา ส่งผลให้ปวดตาง่ายกว่าปกติ และทำให้ส่วนต่างๆ ในดวงตาเสื่อมก่อนเวลาอันควร ไม่ว่าจะเป็นวุ้นในลูกตาหรือจอประสาทตา ปัญหาดังกล่าวทำให้การมองเห็นค่อยๆ ลดลงและยังเสี่ยงตาบอดในที่สุด

ถูกสะกดจิตและเป็นคนขาดความอดทน ในเชิงจิตวิทยาการที่รายการโทรทัศน์ยุคปัจจุบันมักนำเสนอข่าวสารและโฆษณาผ่านแถบวิ่งด้านล่างของหน้าจอ จะทำให้ผู้ชมได้รับข้อความดังกล่าวซ้ำๆ ซึ่งสามารถสะกดให้ผู้ชมจดจำสิ่งที่นำเสนอติดอยู่ในความคิดและความทรงจำ หากเป็นเนื้อหาในด้านลบอาจส่งผลต่อจิตใจ พฤติกรรม และสุขภาพ

ส่วนการใช้รีโมตเพื่อปรับเปลี่ยนช่องให้รวดเร็วทันใจ เป็นการกระตุ้นให้สมองเปลี่ยนความคิดอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา จึงมีแนวโน้มทำให้เป็นคนมีนิสัยเบื่อง่าย เปลี่ยนใจง่าย และขาดความอดทน

วิธีฉลาดใช้เพื่อสุขภาพ

  1. ควรดูโทรทัศน์ในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ
  2. ไม่ควรดูรายการที่มีภาพเคลื่อนไหวมากเป็นเวลานาน เพราะทำให้ต้องใช้สายตามากกว่าปกติ
  3. หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนช่องโทรทัศน์บ่อยเกินไป
  4. ควรเปิดรับสารจากสื่ออื่นนอกจากโทรทัศน์บ้าง

 

จากภูมิแพ้สู่ไซนัสเพราะห้องปรับอากาศ

จากคนที่เคยมีสุขภาพแข็งแรง แต่เมื่อเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต จากเดิมที่เคยใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางอากาศธรรมชาติมาอยู่ในห้องปรับอากาศ ก็ทำให้ร่างกายย่ำแย่ได้ค่ะ

คุณมณฑิรา (สงวนนามสกุล) สไตลิสท์ อายุ 28 ปี เล่าถึงความทรมานจากการใช้ชีวิตในห้องปรับอากาศว่า

“เดิมเป็นคนแข็งแรงและไม่ชอบอยู่ในห้องแอร์นานๆ เพราะรู้สึกอึดอัด แต่พอย้ายมาทำงานในกรุงเทพฯ จึงหลีกเลี่ยงการนอนเปิดแอร์ไม่ได้ เพราะอากาศร้อนมาก ส่วนช่วงกลางวันจะอยู่แต่ในสตูดิโอถ่ายหนังโฆษณาที่เปิดแอร์ค่อนข้างเย็น เพราะต้องใช้ความเย็นรักษาสภาพอุปกรณ์ถ่ายทำ

“หลังจากนั้นครึ่งปีจึงเริ่มมีอาการคันยิบๆ ที่ตา คัดจมูก และมีน้ำมูกไหลหลังตื่นนอนหรือเมื่ออยู่ในห้องแอร์เย็นๆ นานๆ ทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อไปหาหมอจึงรู้ว่าเป็นโรคภูมิแพ้อากาศ

“แม้จะกินยา แต่อาการไม่ดีขึ้น จนน้ำมูกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองคล้ำๆ เริ่มมีอาการปวดโพรงจมูกทั้งกลางวันและกลางคืน จนลามไปที่หัวคิ้ว หลายคนบอกว่าได้กลิ่นเหม็นคาวเล็กน้อยเวลาอยู่ใกล้ทำให้เสียความมั่นใจมาก

“ไปตรวจอีกครั้งคุณหมอซักประวัติเพิ่มแล้ววินิจฉัยว่า อาการภูมิแพ้ได้ลุกลามเป็นไซนัสอักเสบ อาจเป็นเพราะเราอยู่แต่ในห้องแอร์ที่มีความชื้น โดยเฉพาะถ้าแอร์ไม่ได้ทำความสะอาด จะยิ่งเป็นแหล่งสะสมฝุ่นและเชื้อโรค เมื่อร่างกายได้รับสิ่งเหล่านี้บ่อยๆ จึงมีปฏิกิริยาตอบสนองดังกล่าว

“จากนั้นต้องคอยไปพบหมอเพื่อเจาะดูดน้ำเหลืองออกจากโพรงจมูกอยู่หลายครั้ง สุดท้ายจึงลาออกจากงานเพื่อกลับมารักษาตัวที่บ้าน หันมาใส่ใจเรื่องความสะอาดมากขึ้น โดยเฉพาะกับแอร์ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องแอร์เป็นเวลานาน” ความสะอาดป้องกันทุกโรคค่ะ

 

ภูมิแพ้, ไซนัสอักเสบ, ปัญหาสุขภาพ, วิกฤติสุขภาพ, ภูมิแพ้อากาศ
โรคภูมิแพ้ มักมีอาการคันยิบๆ ที่ตา คัดจมูก และมีน้ำมูกไหล

 

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

ภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ, วิกฤติสุขภาพ, ภูมิแพ้, ภูมิแพ้อากาศ, ระบบทางเดินหายใจ, ไซนัส
ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจส่วนบน มีโอกาสพัฒนาเป็นไซนัสอักเสบง่ายมาก

เครื่องปรับอากาศ

แม้เครื่องปรับอากาศทั้งในอาคารและยานพาหนะจะให้ความเย็นสบายและช่วยฟอกอากาศ แต่หากไม่ได้ทำความสะอาด ก็กลับเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคชั้นดี คุณหมออดุลย์กล่าวถึงผลจากเครื่องปรับอากาศต่อระบบทางเดินหายใจดังนี้

ภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ คนบางกลุ่มไวต่อสารก่อโรคประเภทละอองเชื้อราและฝุ่นที่ออกมาจากเครื่องปรับอากาศหากร่างกายได้รับเชื้อโรคและฝุ่นละออง จะทำให้มีอาการภูมิแพ้ซึ่งแบ่งออกเป็นภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจส่วนบน (จมูก) ทำให้มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม และภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจส่วนบน – ส่วนล่าง (ปอด) ก่อให้เกิดโรคหืด

ไซนัสอักเสบ ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจส่วนบนมีโอกาสพัฒนาเป็นไซนัสอักเสบง่ายมาก เนื่องจากเยื่อบุโพรงจมูกบวมง่ายกว่าคนทั่วไป ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในโพรงจมูก และตามจุดไซนัส เช่น หว่างคิ้ว แก้ม จึงมีอาการคัดจมูก น้ำมูกเขียว มีกลิ่นปาก ปวดศีรษะและปวดจุดไซนัส นอกจากนี้การติดเชื้อยังสามารถลุกลามเข้าสู่กระบอกตาจนทำให้ตาบอดหรือหากเข้าสู่สมองอาจทำให้เสียชีวิตได้

วิธีฉลาดใช้เพื่อสุขภาพ

  1. ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศทุก 6 เดือน
  2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศและพรมโดยไม่มีการระบายอากาศ

 

สมองถดถอยเพราะใช้เทคโนโลยี

คุณดำรงเกียรติ ศิริรักษ์ วิศวกร อายุ 40 ปี เล่าถึงความเสื่อมของสมองที่ไม่ได้ใช้งาน เพราะพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไปว่า

“แต่ละวันผมแทบจะไม่ได้ใช้สมองวิเคราะห์หรือจดจำอะไรเพราะมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปช่วยวิเคราะห์แทน ผมคิดเลขด้วยเครื่องคิดเลขหรือโปรแกรม Excel ใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกเบอร์โทรศัพท์ ใช้โปรแกรมแก้ไขคำผิดอัตโนมัติแทนการจดจำคำศัพท์ที่ถูกต้อง และใช้การพิมพ์แทนเขียนหนังสือ

“ต่อมาผมเริ่มสังเกตว่าตัวเองคิดเลขช้าลงแม้เป็นตัวเลขจำนวนน้อย และยังต้องใช้เวลาคิดนานกว่าปกติ จำเบอร์โทรศัพท์คำศัพท์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ เขียนตัวหนังสือโย้เย้กว่าเดิม จนครั้งหนึ่งเคยเซ็นเช็คไม่ผ่านเพราะลายเซ็นไม่เหมือนเดิม

“ผมจึงพยายามบริหารสมองมากขึ้น โดยฝึกบวกเลขทะเบียนรถยนต์ เปลี่ยนมาใช้มือข้างที่ไม่ถนัดทำงาน เล่นเกมบริหารสมอง เล่นเปียโนฝึกการประสานงานระหว่างมือทั้งสองข้างและใช้สปริงบริหารกล้ามเนื้อมือ” การพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไปอาจทำให้สมองอ่อนแอได้ค่ะ

วิธี ฉลาดใช้เพื่อสุขภาพ

  1. ลดจำนวนชั่วโมงการเล่นเกมลง หรือเลิกอย่างเด็ดขาด
  2. ชวนเพื่อนหรือคนในครอบครัวไปทำกิจกรรมนอกบ้าน
  3. หากมีอาการของโรคซึมเศร้าร่วมด้วย ควรพบจิตแพทย์เพื่อวิเคราะห์สาเหตุและรับการรักษา

คอมพิวเตอร์

นอกจากคอมพิวเตอร์จะเพิ่มโอกาสให้เกิดอาการตาเสื่อมก่อนวัยได้เช่นเดียวกับโทรทัศน์แล้ว?คุณหมออดุลย์ยังกล่าวว่าการใช้คอมพิวเตอร์ยังก่อให้เกิดอาการอีกมากมายดังต่อไปนี้

คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม หรือ ซีวีเอส (CVS : Computer Vision Syndrome) เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานและใช้คอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพไม่เหมาะสม อาการหลักคือทำให้ดวงตาล้า แห้ง และพร่ามัว ตลอดจนปวดแขน ไหล่ และคอ เพราะต้องนั่งในท่าเดิมโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ

ประสาทมือชา หรือ ซีทีเอส (CTS : Carpal Tunnel Syndrome) การพิมพ์และการใช้เมาส์โดยวางข้อมือในตำแหน่งและท่าเดิมต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ทำให้เส้นประสาทบริเวณหน้าข้อมือถูกกดทับซ้ำๆ ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกทำให้มีอาการมือชา กล้ามเนื้อมืออ่อนแรง ปวดข้อมือ และอาจปวดลามไปถึงแขนและไหล่ อาการดังกล่าวมักแสดงออกตอนกลางคืนหรือหลังจากตื่นนอน

เกิดพิษเฉียบพลัน ขณะที่คอมพิวเตอร์กำลังทำงาน พัดลมระบายความร้อนจะพัดระบายกลิ่นจากการเผาไหม้แผงวงจรภายในคอมพิวเตอร์ออกมาด้วย ซึ่งเป็นกลิ่นสารประกอบประเภทโลหะ ทองแดง ตะกั่ว ฯลฯ ที่เป็นสารพิษอันตราย หากสูดดมในปริมาณมาก จะทำให้วิงเวียนศีรษะและคลื่นไส้อาเจียน

เฉียบพลัน ดังนั้นผู้ที่อยู่ในห้องที่มีคอมพิวเตอร์เป็นจำนวนมากแต่การระบายอากาศไม่ดี เช่น พนักงานออฟฟิศ ผู้ที่ใช้บริการร้านอินเทอร์เน็ต จึงเสี่ยงต่อการเกิดอาการดังกล่าว

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หรือ เส้นเลือดขอด Deep Vein Thrombosis) นายแพทย์ศักดา อาจองค์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวไว้ในบทความเรื่อง “โรคฮิต ชีวิตติดออนไลน์” ว่า

การนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดแข็งตัวในหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกซึ่งอาการมักเกิดที่ขา ทำให้ขาบวม หากลิ่มเลือดหลุดไปตามกระแสเลือดแล้วกลับเข้าสู่หัวใจหรืออวัยวะอื่นๆ อาจเสี่ยงต่อการหมดสติ ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแข็งตัวผิดปกติ อายุมาก และอ้วน มีความเสี่ยงที่จะมีอาการดังกล่าวมากกว่าปกติ

วิธีฉลาดใช้เพื่อสุขภาพ

  1. ใช้คอมพิวเตอร์ในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ และควรปรับชั่วโมงการใช้ (ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 3 ชั่วโมง)
  2. หมั่นพักสายตาและเปลี่ยนอิริยาบถระหว่างการใช้งาน เช่นสะบัดข้อมือ ลุกขึ้นยืน
  3. วางคอมพิวเตอร์ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทเพื่อระบายกลิ่นจากการเผาไหม้วงจร

 

ข้อมูลจาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิตฉบับ 283 (16 กรกฎาคม 2553)

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.