น้ำมันหอมระเหย, บำรุงสมอง, บำบัดความเครียด, ลดอาการซึมเศร้า, กระตุ้นการทำงานของระบบประสาท

น้ำมันหอมระเหย ต้านโรค บำรุงสมอง

น้ำมันหอมระเหย ต้านโรค บำรุงสมอง

บำรุงสมอง ด้วย น้ำมันหอมระเหย สามารถช่วยต้านโรค ปรับสมดุลอารมณ์ ความคิด และการทำงานของระบบประสาท แล้วน้ำมันหอมระเหยชนิดไหน ช่วยอะไรได้บ้าง มาดูกันเลยค่ะ

 

บำบัดความเครียด

ความเครียดเป็นปัญหาใหญ่ประจำยุคสมัยของเรา

Journal of Korean Academy of Nursing เผยแพร่ผลงานวิจัยของจียองซอ Department of Nursing, Youngnam Foreign Language College ประเทศเกาหลี ในปี ค.ศ. 2009 โดยให้นักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาสูดดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหย เปรียบเทียบกับกลุ่มทดลองที่ให้กลิ่นหลอก พบว่า กลุ่มที่ได้สูดดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหย มีความเครียดลดลง

ไลนาโลออล (Linalool) ซึ่งเป็นกลิ่นหอมคล้ายสมุนไพร ที่ใช้ทำอาหารและผลไม้หลายชนิด เช่น ส้ม เกรปฟรุต มะม่วง มะนาว โหระพา ลาเวนเดอร์ จะช่วยลดความเครียด ช่วยต้านการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ และช่วยให้นอนหลับสบาย

นอกจากนี้ยังมีน้ำมันหอมระเหยชนิดอื่น ๆ ที่ช่วยคลายเครียดได้อีก เช่น โรสแมรี่ และลาเวนเดอร์ที่สามารถลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียด ภายในร่างกายลงได้

กระดังงาหรืออิลังอิลัง (Ylang Ylang) มีสรรพคุณ ช่วยลดความตื่นตัว ลดความเครียด ช่วยให้จิตใจสงบ และน้ำมันหอมระเหยกลิ่นมะนาว มีสรรพคุณ ช่วยคลายเครียด ปรับอารมณ์ให้สดชื่น และลดอารมณ์เศร้า

น้ำมันหอมระเหย, บำรุงสมอง, บำบัดความเครียด, เทคนิคเลือกน้ำมันหอมระเหย, น้ำมันหอมระเหยที่ดี
น้ำมันหอมระเหย ช่วยผ่อนคลายความเครียด และกระตุ้นการทำงานของสมอง

เพิ่มความจำ

ความจำของคนเราเชื่อมโยงกับกลิ่นด้วย การได้กลิ่นคุ้นเคยบางกลิ่น ทำให้ย้อนรำลึกถึงอดีตในวัยเด็กได้ เช่น กลิ่นน้ำหอมของแม่ กลิ่นอาหารที่ยายเคยทำกลิ่นผ้าห่มเก่า ๆ

เชื่อกันว่า น้ำมันหอมระเหยกลิ่นโรสแมรี่ เสจ (Sage) โหระพา เบย์ ลอเรล (Bay Laurel) และเปปเปอร์มินต์ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง เพิ่มความจำ และช่วยให้มีสมาธิตอนทำข้อสอบ อาจลองหยดน้ำมันหอมระเหยเหล่านี้ ลงบนผ้าเช็ดหน้า เพื่อสูดดมกลิ่น

นักจิตวิทยา ของมหาวิทยาลัยนอร์ทัมเบรีย เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ ทำการทดลองโดยให้อาสาสมัคร สูดดมกลิ่นโรสแมรี่ พบว่า อาสาสมัคร เกิดความรู้สึกตื่นตัวมากขึ้น และช่วยกระตุ้นความจำระยะยาว เพิ่มขึ้นได้ 15 เปอร์เซ็นต์ โดยความจำระยะยาวหมายถึง ความจำเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตที่เกิดขึ้นนานแล้ว

ลดอารมณ์ซึมเศร้าหดหู่

ความรู้สึกหม่นหมอง เศร้าสร้อยหดหู่ มองโลกในแง่ร้าย อาจเกิดขึ้นได้ในบางครั้งบางคราที่เราผิดหวัง เศร้าโศกหรือสูญเสีย บรรยากาศก็มีส่วนทำให้เกิดความรู้สึกหดหู่ได้เช่นกัน ดังนั้น เราจึงไม่ควรปล่อยให้เกิดอารมณ์เศร้า หดหู่นาน ๆ เพราะอาจนำไปสู่การป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งมีอาการรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาอย่างจริงจัง และใช้เวลานาน

คาทิ กีวิลล์ (Kathi Keville) ผู้อำนวยการ The American Herb Association และบรรณาธิการ The American Herb Association Quarterly Newsletter กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว กลิ่นหอมส่งผลต่อคนที่มีภาวะซึมเศร้าอย่างอ่อนๆ ซึ่งยังไม่ต้องพึ่งพายา และสามารถใช้บำบัดร่วมกับการกินยาได้อย่างปลอดภัย ในผู้ที่ต้องใช้ยารักษาภาวะซึมเศร้า

งานวิจัยบางเรื่องให้ข้อมูลว่า น้ำมันหอมระเหยกลิ่นมะนาว แคลรี่เสจ (Clary Sage) เบซิล มะกรูด ดอกส้ม แซนดัลวู้ดหรือไม้จันทน์ และลาเวนเดอร์ช่วยลดอารมณ์ซึมเศร้า ทำให้รู้สึกสดชื่นได้เช่นกัน

 

ช่วยให้หลับสบาย

ปัญหาการนอนไม่หลับนั้น สร้างทั้งความรำคาญ และทุกข์ทรมาน ซึ่งอาจเกิดจากความเครียด กังวล เศร้าโศก เสียใจ มีภาวะซึมเศร้า การกินยาบางชนิดดื่มกาแฟ หรือนอนไม่เป็นเวลาก็เป็นได้ นอกจากย้อนกลับไปแก้ปัญหาที่สาเหตุแล้วยังมีอีกหลายวิธี ที่ช่วยให้นอนหลับง่าย และอโรมาเทอราปีก็เป็นทางหนึ่ง ที่ช่วยบำบัดอาการนอนไม่หลับได้

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเวสลีแยน รัฐคอนเนตทิคัต ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการทดลองโดยให้อาสาสมัคร ทั้งหญิงและชายสูดดมกลิ่นลาเวนเดอร์ก่อนนอนพบว่า ช่วยให้อาสาสมัครทุกคนนอนหลับลึกและยาวนานขึ้น รวมถึงตื่นขึ้นมาด้วยความรู้สึกสดชื่น และมีพลัง

นอกจากนี้ยังมีน้ำมันหอมระเหยชนิดอื่น ๆ ที่ช่วยให้นอนหลับง่าย ได้แก่โรมันคาโมมายล์ คาโมมายล์ แคลรี่เสจกุหลาบ มาร์จอแรม (Marjoram) เจอราเนียม แซนดัลวู้ดหรือไม้จันทน์ แฟรงกินเซนส์ (Frankincense) จัสมินหรือมะลิ และกระดังงา

น้ำมันหอมระเหย, น้ำมันหอมระเหย กลิ่นลาเวนเดอร์, เทคนิคเลือกใช้น้ำมันหอมระเหย, บำรุงสมอง, บำบัดความเครียด
น้ำมันหอมระเหย กลิ่นลาเวนเดอร์ ลดอาการซึมเศร้า เพิ่มความสดใสยามเช้า

ช่วยปรับอารมณ์ให้สดใส

เคยไหม บางวันตื่นขึ้นมา มีเหตุให้อารมณ์เสียแต่เช้า เลยพานทำให้วันนั้นหงุดหงิดไปทั้งวัน กว่าอารมณ์จะเป็นปกติก็ตกเย็นเสียแล้ว ไม่จำเป็นต้องปล่อยให้อารมณ์ขุ่นมัวในยามเช้า ทำลายอารมณ์สดใสของเราหายไปหนึ่งวันเต็ม ๆ ฉะนั้น ควรสลัดอารมณ์เสียนั้นทิ้งไปด้วยน้ำมันหอมระเหย ที่ช่วยสร้างความสดชื่นสดใส

คุณสุรศักดิ์ แนะนำให้ใช้น้ำมันหอมระเหยกลิ่นคาโมมายล์ ซึ่งช่วยให้เกิดความรู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย มีสมาธิและลดอาการเจ็บปวดลงได้

นอกจากนี้ยังมีน้ำมันหอมระเหยกลิ่นอื่น ๆ ที่ช่วยสร้างอารมณ์สดใสในยามเช้า เช่น น้ำมันหอมระเหยตระกูลส้ม จำพวกส้มป่า มะนาว เกรปฟรุต ส้มแมนดาริน มะกรูด แทนเจอรีน (Tangerine) คลี-เมนทีน (Clementine) วานิลลา แซนดัลวู้ด และลาเวนเดอร์

 

How-toเทคนิคเลือก และใช้น้ำมันหอมระเหยคุณภาพดี

1. น้ำมันหอมระเหยคุณภาพดี มักมีราคาแพง บางชนิดราคาสูงมาก เพราะฉะนั้น ชนิดราคาถูกอาจไม่มีคุณภาพ จึงไม่ช่วยในการบำบัด

2. เลือกจากร้านที่น่าเชื่อถือ มีรายละเอียดเกี่ยวกับน้ำมันหอมระเหยบอกไว้อย่างชัดเจน

3. น้ำมันหอมระเหยต้องอยู่ในขวดทึบแสง สีน้ำตาล หรือสีน้ำเงิน เพราะน้ำมันหอมระเหยเปลี่ยนแปลงสภาพง่ายเมื่อถูกแสงแดด

4. เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยมีความเข้มข้นมาก หากสัมผัสกับผิวโดยตรงอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ดังนั้นควรใช้อย่างระมัดระวัง โดยอาจเลือกชนิดที่ผสมกับน้ำมันพื้นฐาน หรือเบสออยล์ (Base Oil) หรือควรขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้

คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 366 (1 ม.ค.57)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

11 น้ำมันหอมระเหย บูสต์พลังสมอง

อาหารบำรุงสมอง ช่วยนอนหลับสนิท

5 เคล็ดลับบำรุงสมอง ของคนวัยทำงาน

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.