แหลมผักเบี้ย

แหลมผักเบี้ย โครงการจัดการน้ำเสียและขยะในพระราชดำริ

แหลมผักเบี้ย

โครงการจัดการน้ำเสียและขยะในพระราชดำริ

 

แหลมผักเบี้ย โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฏรเสมือนหนึ่งเป็นความทุกข์ ของพระองค์ พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริ ที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้เกิดความ “พออยู่ พอกิน”

“…ปัญหาสำคัญคือเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องน้ำเสียกับขยะ ได้ศึกษามาแล้วเหมือนกัน ทำไม่ยากนัก ในทางเทคโนโลยีทำได้ในเมืองไทยเองก็ทำได้ หาเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาแล้วทำในเมืองไทยเองก็ทำได้ หรือจะจ้างบริษัทต่างประเทศมาทำก็ได้ นี่แหละปัญหาเดียวกัน เดี๋ยวนี้กำลังคิดจะทำ แต่ติดอยู่ที่ที่จะทำ…”

พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2533

น้ำเน่าเสียและขยะเป็นปัญหาระดับโลกที่หลายประเทศทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อจัดการ แต่บางวิธีนอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

วิธีจัดการปัญหาน้ำเน่าเสียและขยะมูลฝอยที่ดีที่สุดนั้นจะต้องไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ ใช้เทคโนโลยีที่สะอาด ปลอดภัย และเพื่อให้ยั่งยืน ต้องทำได้ง่าย ใช้ได้จริง ใช้ต้นทุนต่ำที่สุด ที่สำคัญที่สุดต้องช่วยฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน

นี่คือแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (กปร.) และกรมชลประทาน ในปี พ.ศ. 2533 เพื่อศึกษาวิจัยและหาแนวทางปฏิบัติ

แหลมผักเบี้ย

คำตอบทั้งหมดจึงรวมกันอยู่ที่ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี แห่งนี้

ศาสตราจารย์ ดร.เกษม จันทร์แก้ว ผู้อำนวยการโครงการฯ ซึ่งทำงานสนองแนวพระราชดำริมาตั้งแต่เริ่ม เล่าถึงความเป็นมาว่า

“ยี่สิบกว่าปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ กลับจากแปรพระราชฐานที่ภาคใต้ ผ่านบริเวณตำบลแหลมผักเบี้ยทอดพระเนตรเห็นป่าชายเลนมีสภาพเสื่อมโทรม ทั้งน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีก็เน่าเสีย เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ผลกระทบจากกระแสน้ำขึ้นน้ำลง และการทำเกษตร

“พระองค์ท่านจึงมีพระราชดำริให้ที่นี่เป็นศูนย์บำบัดน้ำเสียจากเทศบาลเมืองเพชรบุรีทั้งหมด และจัดระบบ ปรับพื้นที่เมืองใหม่ทั้งหมด โดยปั๊มน้ำเสียมาพักไว้ที่สถานีสูบน้ำบ้านคลองยาง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อส่งต่อไปยังแหลมผักเบี้ยด้วยท่อยาว 18.5 กิโลเมตร”

แหลมผักเบี้ย

การบำบัดน้ำเสียของที่นี่ใช้หลักธรรมชาติช่วยปรับสมดุลโดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์

อาจารย์เกษมเล่าต่อว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ท่านทรงปราดเปรื่องทางวิทยาศาสตร์ จึงทรงนำหลักธรรมชาติเข้ามาใช้ในการจัดการปัญหา”

เช่น ระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย ใช้การสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนและสาหร่ายเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ทั้งอาศัยแรงลมเพิ่มอากาศ เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำได้ดียิ่งขึ้น หรือระบบหญ้ากรองน้ำเสียซึ่งใช้หญ้าเลี้ยงสัตว์และพืชน้ำทั่วไปที่มีคุณสมบัติเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ช่วยบำบัดน้ำเสีย และยังช่วยให้จุลินทรีย์ย่อยสลายสารอินทรีย์เป็นธาตุอาหารที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ดียิ่งขึ้น เป็นการเกื้อกูลกันระหว่างพืชกับจุลินทรีย์อย่างสมบูรณ์ ซึ่งได้ผลเป็นน้ำที่มีคุณภาพดีขึ้นก่อนปล่อยลงสู่ผืนป่าชายเลน

น้ำที่บำบัดแล้วมีธาตุอาหารสูง ช่วยพลิกฟื้นชีวิตป่าชายเลนและระบบนิเวศบริเวณป่าชายเลนให้อุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด ชาวบ้านจึงจับสัตว์น้ำได้มากขึ้นนอกจากนี้ยังนำไปรดต้นพืช ช่วยเพิ่มผลผลิตให้ดียิ่งขึ้น

ส่วนการกำจัดขยะมูลฝอย นักวิจัยได้ศึกษาวิธีหมักขยะมูลฝอยในกล่องคอนกรีต ทำให้ได้ปุ๋ยหมักมาใช้ในการเกษตรอีกด้วย

อาจารย์เกษมกล่าวว่า การนำธรรมชาติเข้ามาจัดการปัญหามีประโยชน์ในระยะยาว เนื่องจาก

“ไม่สิ้นเปลืองเงิน ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าบำรุงรักษาเทคโนโลยีและทรัพยากรคน ทั้งไม่ต้องเสียเวลาดูแล แค่ใช้ธรรมชาติเข้าปรับสมดุล แล้วทุกอย่างจะดำเนินไปตามวิถีของมันเอง เพียงแต่อาจต้องใช้พื้นที่สักหน่อย ไม่จำเป็นต้องใหญ่เหมือนโครงการฯแค่มีพื้นที่เล็ก ๆ ในบ้านก็ทำได้ ทุกปีมีคนเข้ามาดูงานหลาย

หมื่นคน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ หลายคนเข้ามาศึกษาแล้วก็นำไปปรับใช้กับพื้นที่ของตน

“ในอนาคตเราจะทำเป็นศูนย์การเรียนรู้หรือ International Learning Center ให้คนมาพักอยู่กับเรา แล้วทดลองปฏิบัติเองในแปลงสาธิตที่จัดให้ตามแต่ละบ้าน”

จึงได้คำตอบว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นแก้ไขได้ เพียงเข้าใจและเคารพในวิถีธรรมชาติ ชีวิตเราก็จะมั่นคงและยั่งยืนตามแนวพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวของเราค่ะ

จาก คอลัมน์ตามรอยพ่อหลวง นิตยสารชีวจิต ฉบับ 373 (16 เมษายน 2557)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

ชั่งหัวมัน ปาฏิหาริย์แห่งผืนดินจากน้ำพระราชหฤทัย

พลังงานทดแทน พลังรักจากพ่อหลวง

พอเพียง ตามอย่างพ่อ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.