ตำลึง แคลเซียมสูง บำรุงเซลล์ ต่อต้านมะเร็ง
ตำลึง หรือผักแคบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coccinia grandis (L.) Voigt. ผักชนิดนี้ผลิใบให้เห็นทั่วไปตามรั้วบ้าน ปลูกง่าย ทนแดดทนฝน จึงถือเป็นผักสวนครัวคู่เรือนของคนไทยมาช้านาน
เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นผักรสอร่อยและไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว คุณแม่ทั้งหลายจึงนิยมนำมาต้มและบดรวมกับข้าวป้อนเด็กเล็กๆ ได้
ตำลึงเป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็น ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่สอนลูกหลานให้ใช้ตำเป็นยา
ยาพอกแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
วิธีทำ ล้างตำลึง 12 – 15 ใบให้สะอาด ใส่ครกโขลกให้ละเอียด นำไปพอกบริเวณแผล แล้วพันผ้าพันแผลทับให้แน่น
งานวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าใบตำลึงมีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) และสารกลุ่มฟีโนลิก (Phenolic) เป็นสารพฤกษเคมี ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียต้านฟรีแรดิคัล ปกป้องเซลล์ บำรุงสายตา ช่วยให้ผิวพรรณสดใส ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งและโรคหลอดเลือดหัวใจ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศรี เจริญเกียรติกุล อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลการศึกษาโครงการชีวประสิทธิผลของแคลเซียมว่า ร่างกายคนไทยดูดซึมแคลเซียมจากตำลึงได้เฉลี่ยร้อยละ 47.6 ของปริมาณแคลเซียมทั้งหมด (ตำลึง 100 กรัม มีปริมาณแคลเซียม 117 – 132 มิลลิกรัม วิตามินซี 13 มิลลิกรัม และเบต้าแคโรทีน 691 – 701.54 มิลลิกรัม) ดังนั้น ตำลึงจึงเป็นแหล่งแคลเซียมที่ปลอดภัย กินง่าย มีใยอาหาร และอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย
ปลูกตำลึงรอบรั้วบ้าน กินเพื่อสร้างปราการไว้ต่อต้านมะเร็งให้แก่ร่างกายค่ะ
มือใหม่หัดปลูก
1. เตรียมกระถางก้นลึกประมาณ 20 – 40 เซนติเมตร ใส่ดินผสม (ดินร่วน ปุ๋ยหมัก และขุยมะพร้าว อัตราส่วน 3 : 3 : 1) จนเกือบเต็ม เกลี่ยหน้าดินให้เรียบ
2. ทำหลุมลึก 3 – 4 เซนติเมตร หยอดเมล็ดตำลึงลงหลุมกลบดินบางๆ รดน้ำให้ชุ่ม
3. นำกระถางไปตั้งไว้ในที่แสงแดดส่องถึง ช่วง 7.00 น. – 11.30 น. รดน้ำสม่ำเสมอเวลาเช้าและเย็น
4. เมื่อต้นอ่อนเริ่มงอก ทำค้างไม้สูงประมาณ 60 – 100 เซนติเมตร (ขึ้นอยู่กับขนาดกระถาง) โดยปักค้างไม้ลงดินห่างจากโคนต้น 1 – 2 ฝ่ามือ เพื่อให้ต้นตำลึงเลื้อยเกาะ
5. หลังจากปลูก 25 – 40 วัน ต้นตำลึงจะโตเต็มที่ ให้ใช้กรรไกรตัดก้านตำลึง ไม่ควรเด็ดจากต้นทีละใบ เพราะอาจกระชากแรงเกินไปจนทำให้รากขาด
บทความน่าสนใจอื่นๆ