เมื่ออายุมากขึ้นอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพลงไป ตั้งแต่ปากและฟัน ไปจนถึงกล้ามเนื้อที่ใช้ควบคุมการรับประทานอาหาร จึงทำให้เกิดปัญหาในการเคี้ยว และกลืน ผู้สูงวัยจึงเกิดความเสี่ยงต่อการ “ลำลัก” ได้ง่าย ซึ่งแม้ว่าจะเกิดอาการสำลักแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ผู้ดูแลหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจึงควรต้องใส่ใจต่อการเกิดอาการนี้ให้มากเป็นพิเศษค่ะ อย่ามองว่าเป็นเรื่องปกติ ที่กินอาหารหรือน้ำ ก็ต้องสำลักกันได้ หากคิดแบบนั้นคุณอาจต้องเสียใจภายหลังก็ได้
ทั้งนี้ หากพูดถึง “การสำลัก” อาหารในผู้สูง ถือวัยเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควร เพราะผู้สูงอายุเป็นวัยที่ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานช้าลง ระบบภูมิคุ้มกันเริ่มไม่แข็งแรงเหมือนเดิมเรื่องเล็กๆ แค่สำลักก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ เช่น หากสำลักอาหารเข้าไปในปอดอาจส่งผลทำให้ปอดติดเชื้อ หรือผู้สูงอายุบางรายสำลักมากๆ จน เกิดความกลัวการกลืนอาหาร ไม่ยอมรับประทานข้าว นำไปสู่ปัญหาภาวะขาดสารอาหาร รวมถึงคนไข้บางโรคที่มักสำลักน้ำลายหรือเสมหะ แล้วเข้าไปอุดกลั้นทางเดินหายใจ จนเกิดอาการหายใจล้มเหลวได้ ดังนั้นอย่าปล่อยให้ แค่ สำลักในผู้สูงอายุ เกิดขึ้นบ่อยจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ทำลายทั้งสุขภาพโดยรวม ทำให้เกิดความเสี่ยงการเจ็บป่วยที่รุนแรงตามมา
ในกระบวนการกลืนอาหารโดยปกติ โคนลิ้นจะผลักอาหารให้เข้าไปอยู่ในคอหอย จากนั้นฝาปิดกล่องเสียงจะเคลื่อนตัวลงมาปิดทางเข้าของกล่องเสียง รวมทั้งสายเสียงทั้ง 2 ข้างจะเคลื่อนตัวมาชิดกันเพื่อปิดทางเข้าของหลอดลม ทำให้อาหารที่กำลังจะเคลื่อนตัวผ่านลงไปในทางเข้าของหลอดอาหารนั้นไม่สามารถหลุดเข้าไปในหลอดลมได้ จึงไม่เกิดการสำลัก แต่หากมีเศษอาหารหรือน้ำ หลังกลืนอาหาร หล่นเข้าไปอยู่ในหลอดลม จะทำให้เกิดอาการไอติดต่อกันหลายๆครั้ง เพื่อขับดันให้เศษอาหารนั้นหลุดออกไปจากหลอดลม
จนกลายเป็นการสำลักอาหาร ซึ่งในผู้สูงอายุแล้วถือเป็นภาวะเสี่ยงอันตรายอย่างมากๆ เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีอาการปากแห้ง เพราะร่างกายสร้างน้ำลายได้น้อยลง ฟันและความแข็งแรงของฟันน้อยลง มีผลทำให้กำลังการบดเคี้ยวลดลง ทำให้ต้องใช้เวลาบดเคี้ยวอาหารนานขึ้น การทำงานของริมฝีปากและลิ้นลดลง ทำให้ต้องกลืนอาหารหลายครั้งกว่าปกติ นอกจากนี้ คอหอยของผู้สูงอายุยังปิดช้ากว่าวัยหนุ่มสาว ส่งผลให้อาหารอยู่ในคอหอยนานขึ้น ร่างกายอาจมีอาการหยุดหายใจขณะกลืน โดยเริ่มหยุดหายใจตั้งแต่หายใจเข้า ทำให้เมื่อกลืนอาหารแล้วต้องรีบหายใจทันที เสี่ยงต่อการสำลักได้ง่ายกว่าคนในวัยปกติอื่นๆ
แล้วเราจะรู้ด้อย่างไรว่าเมื่อเกิดอาการสำลักบ่อยแค่ไหน หรือมีอาการแบบไหน ถึงจะเรียกว่าอันตรายและต้องรีบพามาพบแพทย์ โดยอาจเริ่มสังเกตจากอาการเหล่านี้ คือ เกิดการสำลักทุกครั้ง หรือเกือบทุกครั้งที่รับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำ หรือเกิดการสำลักจนทำให้ หน้าแดง มีอาการไอ หรือหอบรุนแรง หรือมีอาการทางเดินหายใจอุดกั้น
รวมถึงผู้สูงอายุที่เคยมีประวัติการติดเชื้อจากการสำลักมาแล้ว แม้กระทั่งสำลักจนกระทั่งรับประทานอาหารได้น้อย น้ำหนักลดลง และการสำลักในผู้เป็นโรคกลุ่มเสี่ยง เช่น พากินสัน อัมพฤกษ์ อัมพาต สมองเสื่อมนั่นเองคะ
อย่างไรก็ตาม อย่ามองว่าการสำลักในผู้สูงอายุเป็นเพียงเรื่องเล็กที่มองข้ามได้ เพราะแม้สำลักเพียงเล็กน้อย แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ หมั่นสังเกตการสำลักในผู้สูงอายุ เพื่อการช่วยเหลือเบื้องต้น และพบแพทย์ทันที ซึ่งเราควรรู้วิธีช่วยเหลือเบื้องต้น เมื่อผู้สูงอายุสำลัก ดังนี้คือ
- ให้ผู้สูงอายุหยุดรับประทานอาหารทันทีเมื่อเกิดการสำลัก
- จัดท่านั่งให้ก้มไปข้างหน้าเล็กน้อย หรือนอนตะแคงกึ่งคว่ำ
- นำอาหาร หรือฟันปลอม ที่อยู่ในปากออกให้หมด
- ไม่ควรทำการล้วงคอเด็ดขาด
- ในกรณีที่มีอาการ เหนื่อยหอบ หายใจหิวอากาศ หน้าซีด ปากเขียวคล้ำ ต้องรีบพบแพทย์ทันที
การปฏิบัติของคนไข้และผู้ดูแล
- ไม่ควรรับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณมาก ควรแบ่งอาหารในแต่ละวันออกเป็นมื้อย่อยๆ หลายๆ มื้อ
- ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ดื่มน้ำช้าๆ ตั้งใจกลืน ไม่ดูทีวีหรือพูดคุยกันระหว่างรับประทานอาหาร
- จัดท่าทางในการรับประทานอาหาร โดยนั่งตัวตรง หลีกเลี่ยงท่านอน และไม่ควรนอนทันทีหลังอาหารทุกมื้อ หรือเดินอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ในกรณีที่คนไข้ติดเตียง ให้ยกศีรษะคนไข้ขึ้นอย่างน้อย 45 องศา เพื่อป้องกันการสำลักเข้าปอด
- ควรทำความสะอาดช่องปากก่อน และหลังอาหารทุกมื้อ โดยทำความสะอาดฟัน ฟันปลอม เหงือก อาจใช้สำลีชุบน้ำเช็ด กวาดลิ้น เป็นประจำ เพื่อช่วยลดการสะสมเชื้อโรคในช่องปาก และป้องกันการติดเชื้อจากการสำลัก
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุให้ดี หมั่นออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ก็ช่วยป้องกันภาวะการสำลักที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งถ้าจะให้ดีควรออกกำลังกายกันไว้ตั้งแต่ตอนที่อายุยังไม่มาก และควรออกอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้เป็นคนมีสุขภาพดี ที่สำคัญควรต้องดูแลสุขภาพช่องปากและฟันให้ดี เพราะเป็นเรื่องของการบดเคี้ยว การรับประทานอาหารต้องนิ่มๆ ไม่แข็งมาก ชิ้นไม่ใหญ่จนเกินไป เพราะการบดเคี้ยวไม่ดีอาจทำให้สำลักได้
ข้อมูลจาก:กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ความดันโลหิตสูงตัวการความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ
ผู้สูงอายุกับปัญหาโรคติดต่อที่ทุกคนควรต้องรู้ไว้
ภาวะขาดสารอาหารในผู้สูงอายุ เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม