รู้เท่าทัน “อัลไซเมอร์” เตรียตัว และป้องกันกันไว้ ก่อนจะสายเกินแก้

“โรคอัลไซเมอร์” ถือได้ว่าเป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด  ซึ่งตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าเฉพาะในประเทศไทยมีผู้ป่วยถึงกว่า 6 แสนคนในปี 2558 และเป็นที่รู้กันดีว่าอัลไซเมอร์นั้นเป็นมากกว่าแค่ขี้ลืม ซึ่งอาการหลงลืมนั้นเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น แต่นั่นไม่ใช่สัญญาณของโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคสมองเสื่อมชนิดอื่น ๆ เสมอไป เพราะการสูญเสียความทรงจำต่างหากที่เป็นเรื่องน่ากังวลและเป็นหนึ่งในสัญญาณแรกเริ่มของโรคอัลไซเมอร์เมื่อความทรงจำระยะสั้นได้รับผลกระทบจากโรคนี้ มันจะส่งผลให้คนคนนั้นลืมว่าเพิ่งทำอะไรมาเมื่อ 10 นาทีที่ผ่านมา หรือหลงลืมบทสนทนาที่เพิ่งผ่านพ้นนั่นเอง

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คาดการณ์ว่า ภายในปี 2578 หรืออีกเกือบ 20 ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในยุคนั้น เช่น หากมีคนเดินสวนคุณมา 4 คน คุณจะพบผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปอย่างน้อย 1 คน และหนึ่งในนั้นอาจรวมถึงตัวคุณเองด้วย

ทั้งนี้ จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ช่วยให้ผู้คนทั่วโลกมีอายุไขเฉลี่ยยืนยาวขึ้น The Stanford Center of Longevity สหรัฐอเมริกา จึงคิดศึกษาข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา และด้านการวางนโยบาย เพื่อระบุแนวทางที่มุ่งไปสู่การมีอายุยืนยาวและเป็นสุข โดยมีขอบเขตการศึกษาใน 3 ด้าน ได้แก่ ปัจจัยด้านสุขภาพ ปัจจัยด้านการเงิน และปัจจัยด้านสังคม

ในงานวิจัยชิ้นดังกล่าวระบุว่า ขณะนี้ประชากรมีความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากความนิยมออกกำลังกายที่เกิดขึ้นทั่วโลก มีกระแสการวิ่งมาราธอน ความนิยมเข้าฟิตเนสของคนวัยทำงาน แต่ก็มีปัจจัยลบ นั่นคือ ผู้คนในวัยทำงานส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มที่จะนั่งทำงานอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งมีผลต่อสุขภาพในระยะยาว คืออาจก่อโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งมีส่วนทำให้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์มากขึ้นด้วย

ส่วนปัจจัยด้านการเงินนั้นส่วนใหญ่ยังน่ากังวลเพราะมีเงินออมน้อย และไม่มีการวางแผนการเงินให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายหลังเกษียณที่ชัดเจน โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ หนุ่มสาวที่เติบโตในยุคหลังปี ค.ศ.2000 หรือ พ.ศ.2543 เพราะเป็นกลุ่มที่มีเงินออมต่ำที่สุด ขณะที่สวัสดิการจากหน่วยงานและรัฐทั่วโลกในอนาคตมีแนวโน้มลดลง คนกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องทำงานเป็นระยะเวลานานกว่าเดิม เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

น่าเสียดายว่าปัจจัยด้านการเงินกลายเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่มองข้าม ขณะที่หนุ่มสาวยุคใหม่มีหนี้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบปริญญาตรี เมื่อเทียบกับปัจจัยด้านสุขภาพแล้วพบว่า คนกลุ่มนี้หันไปทุ่มเทให้กับการบำรุงผิวพรรณรูปร่างหน้าตา เสื้อผ้าแกตเจ็ต และสินค้าตามกระแสนิยมที่มีอายุการใช้งงานเพียงไม่กี่ปี

สุดท้าย ปัจจัยด้านสังคม ขณะนี้มีหลักฐานงานวิจัยในระยะยาวหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า การมีความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ว่าจะกับคนในครอบครัว เพื่อน หรือผู้คนที่อาศัยในละแวกเดียวกัน มีส่วนช่วยให้คนคนหนึ่งมีสุขภาพทั้งกายและใจแข็งแรงกว่าคนวัยเดียวกันที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว ชัดเจน

ใครรู้ตัวว่าอยู่ในวัย 40 ปีแล้วยังไม่ได้วางแผนการใช้ชีวิตให้สมบูรณ์พร้อมทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ปัจจัยด้านสุขภาพ การเงิน และสังคม เพื่อเตรียมใช้ชีวิตอีก 20 ปีที่เหลือ ก็คงต้องเร่งมือกันหน่อย

อย่างไรก็ตาม อายุขัยที่ยืนยาวของผู้คนในยุคนี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์สุขภาพที่น่าสนใจ นั่นคือ การพบผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สูงขึ้นทั่วโลก และกลายเป็นโรคฮ็อตแห่งยุค

ทุกคนเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทิกา ทวิชาชาติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า โรคอัลไซเมอร์เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมองจนสูญเสียการทำงานหลายด้านพร้อมกัน แม้จะเกิดขึ้นทีละน้อยๆ แต่ส่งผลอย่างถาวรต่อระบบความจำ การใช้ความคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา หรือการควบคุมตนเอง ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ในระยะสุดท้ายของโรคจะสูญเสียความจำทั้งหมด ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และเสียชีวิตในที่สุด

ก่อนหน้านี้เชื่อว่าพันธุกรรมคือปัจจัยส่วนหนึ่ง โดยความผิดปกติของโครโมโซมที่พบชัดเจนว่าทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์อยู่บนโรโมโซมคู่ที่ 21, 14, 1 และ 19 ส่วนปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ เคยประสบอุบัติเหตุที่สมองหรือสมองได้รับบาดเจ็บมาก่อน การเป็นโรคอ้วนและเบาหวานจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงขึ้นประมาณ 3  เท่า นอกจากนี้การเป็นโรคความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูงก็เพิ่มความเสี่ยงได้เช่นกัน

โดยกรรมการเลขานุการ มูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ในกลุ่มประชากรผู้สูงอายุไทยช่วงอายุ 60-69 ปี ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ร้อยละ 1-2 แต่ถ้าเป็นช่วงอายุ 70-80 ปี จะพบว่าผู้ป่วยโรคนี้สูงสุดคือประมาณร้อยละ 12 หรือทุกๆ 10 คนในกลุ่มนี้จะมีผู้ป่วยอัลไซเมอร์อย่างน้อย 1 คน

วิธีรับมือกับโรคอัลไซเมอร์

เนื่องจากโรคนี้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง ทั้งค่ายาและค่าดูแลผู้ป่วย ตั้งแต่ปี 2554 สหรัฐอเมริกา โดนสภาคองเกรสได้อนุมัติแผนรับมือโรคอัลไซเมอร์ระดับชาติเพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพ และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด รวมถึงการปรับปรุงแนวทางการดูแลคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้น

ที่สำคัญมีการผลักดันให้ตรวจคัดกรองโรคในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีข้อมูลยืนยันว่า โรคนี้มีการพัฒนาอย่างช้าๆ รวมเวลากว่า 10 ปี จึงจะมีอาการผิดปกติ ซึ่งเมื่อเข้ารับการรักษาเซลล์สมองก็ถูกทำลายไปมากแล้ว จนยากที่จะชะลอความเสื่อมขอเซลล์สมอง ผู้ป่วยจึงไม่อาจเลี่ยงภาวะสูญเสียความทรงจำและช่วยตัวเองไม่ได้ในที่สุด

ในประเทศไทยเอง ขณะนี้ยังไม่มีการผลักดันให้มีการเตรียมแผนรับมือโรคอัลไซเมอร์ในระดับที่เป็นวาระแห่งชาติ แต่อย่างไรก็ตามมีการรวมตัวของแพทย์และนักวิจัยที่ทำงานกับผู้ป่วยโรคนี้ ได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะจิตแพทย์ จากภาควิชาจิจเวชศาสตร์ คณะแพพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย โดยการจัดประชุมประจำปีเพื่อเผยแพร่และอัพเดตความคืบหน้าของการรักษาโรค โทร 02-644-5499 ต่อ 138 และ www.alz.or.th

ส่วนกลุ่มญาติผู้ป่วยและการช่วยเหลือแบบเพื่อนช่วยเพื่อน หรือ Group Support นั้น มีสมาคมดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมให้บริการสายด่วนจิตอาสา โดยจัดเวรมาคอยให้คำปรึกษาในการดูแลผู้ป่วยทางโทรศัพท์ นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมให้ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยอีกด้วย สอบถามเพิ่มเติม โทร 02-880-8542 และ www.azthai.org

รู้อย่างนี้แล้ว ไม่ว่าผู้อ่านชีวจิตจะอยู่ในวัยไหน การใส่ใจอาหารการกิน นอนหลับและพักผ่อนอย่างถูกต้อง หาเวลาออกกำลังกายเสียบ้าง รวมทั้งทำงานด้วยความสุข ย่อมคือคำตอบของการมีสุขภาพแข็งแรง ปลอดจากทุกโรค รวมทั้งงโรคอัลไซเมอร์ด้วยค่ะ

ข้อมูลจาก: นิตยสารชีวจิต ฉบับ 433

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

ความดันโลหิตสูงตัวการความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ

ปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง ที่อาจก่อให้เกิด “ภาวะเปราะบาง” ในผู้สูงอายุ?

ภาวะสำลักอาหารในผู้สูงอายุ คืออีกสิ่งที่คนใกล้ชิดต้องใส่ใจ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.