ความแก่ชราเป็นสิ่งที่ค่อยๆ มาทีละนิดๆ จะมาช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับการดูแลร่างกายของเรา แต่ยังไงความแก่ชราก็ต้องมาถึงสักวันเพราะสภาพร่างกายของคนเรานานวันเข้าก็ย่อมเสื่อมถอย อะไรๆ ก็คงไม่ดีเหมือนเมื่อสมัยยังหนุ่มสาว ฉะนั้นการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงและเตรียมความพร้อมรับความชราแต่เนิ่นๆ ย่อมเป็นหนทางที่ดีสำหรับเราทุกคน เพื่อที่ถึงวันที่แก่ตัวไปจริงๆ จะได้ไม่ต้องลำ บาก เพราะกระบวนการชราภาพเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย
และแน่นอนว่า การยอมรับและเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายของตัวเอง เป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุทุกคนควรต้องทำความเข้าใจ เราลองมาดูกันดีกว่าค่ะว่า สิ่งที่ “เขาว่ากันว่า” เมื่อคนเราอายุเพิ่มขึ้น เข้าสู่ช่วงวัยที่มากขึ้นแล้วนั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงไปแบบไหนบ้าง คุณตาคุณยายหรือคนที่เรารักที่อยู่ใกล้ๆ ตัวเป็นแบบที่เรานำมาบอกกันหรือไม่ ไปลองเช็กกันดูค่ะ
เขาว่ากันว่า…อายุมากแล้วจะกินอาหารได้น้อยลง
อย่างที่เราทุกคนต่างรู้กันีว่าเมื่ออายุมากขึ้นร่างกายก็โรยราไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพในช่องปาก ไม่ว่าจะเหงือกหรือฟันก็เสื่อมสภาพตามไปด้วย ยิ่งคนที่เมื่อครั้งยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวที่ไม่ค่อยสนใจดูแลตัวเอง แถมยังละเลยการดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน ทำให้เกิดอาการฟันบิ่น ฟันผุ เหงือกร่น หรือเป็นเชื้อราที่ลิ้นหรือช่องปาก จนถึงขั้นต้องใส่ฟันปลอม ทำให้กินอาหารได้น้อยลง
ฉะนั้นควรลองเช็กสุขภาพฟันดูเป็นอันดับแรก แต่ถ้าเช็กแล้วไม่มีปัญหาก็อาจจะมีต้นเหตุมาจากธรรมชาติของร่างกายอย่างการเสื่อมของประสาทการรับรสและกลิ่นที่กระตุ้นความอยากอาหารได้น้อยลงรวมถึงแยกรสชาติได้น้อยลงก็ได้แต่ก็อย่าเพิ่งตัดสาเหตุที่เกิดขึ้นจากผลข้างเคียงของการใช้ยาด้วย ถ้าคุณเป็นคนที่มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังจนต้องใช้ยาบ่อยๆ แล้วกินอาหารได้น้อยลง ลองปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาที่เหมาะสมน่าจะดีที่สุดค่ะ
เขาว่ากันว่า…เมื่อคนเราอายุมากขึ้นมักจะท้องผูกบ่อยๆ
อาการ “ท้องผูก” นี้ ไม่ต่างอะไรกับการกินอาหารได้น้อยลง เพราะกล้ามเนื้อที่ควบคุมการบีบและคลายตัวของกระเพาะอาหารไม่สามารถทำงานได้ดีเหมือนวัยหนุ่มสาว อาหารที่เคยชอบกิน และกินได้ในปริมาณที่มากก็จะเหลือแค่กินได้เล็กน้อย ขณะเดียวกันลำไส้ก็บีบตัวได้น้อยลงเช่นกัน ทำให้อาหารที่กินเข้าไปย่อยได้ยาก จึงตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารและลำไส้ยาวนานขึ้น
ผลที่ตามมาคือท้องอืดและท้องผูกบ่อยๆ วิธีแก้ปัญหาง่ายๆ คือ เคี้ยวให้ละเอียดมากขึ้น ใช้เวลาเคี้ยวให้นานขึ้น เลือกกินอาหารให้ครบ 5 หมู่สำคัญคือต้องมีผักผลไม้ และหลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยาก
เขาว่ากันว่า..เมื่ออายุมากแล้วจะนอนน้อยลง
เรื่องนี้เป็นความเชื่อที่ส่งส่งต่อกันมาว่า อายุมากแล้วจะทำให้ความต้องการนอนน้อยลง ซึ่งไม่เป็นความจริงทั้งหมด นะคะโดยเราได้อ่านเจอข้อมูลที่ทาง ดร.ฌอน ดรัมมอนด์ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้ออกมายืนยันแล้วว่า ไม่ว่าจะวัยไหนก็ต้องการเวลานอน 7-8ชั่วโมง เท่ากันหมด แต่ผู้สูงอายุมักจะถูกขัดจังหวะการนอนจากปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่ร่างกายสามารถสร้างสารเมลาโทนินและโกรตฮอร์โมนได้ลดลงหลังอายุ60 ปี
เมื่อฮอร์โมนลดลงทำให้ตื่นง่ายขึ้น และใช้เวลาในการให้หลับสนิทนานขึ้น แถมยังต้องการระยะเวลาการนอนหลับเพื่อทำให้สมองทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าวัยหนุ่มสาวมีรายงานว่าผู้สูงอายุร้อยละ 24 ใช้เวลานอนให้หลับสนิทมากกว่า 30 นาที ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงควรพักผ่อนให้เพียงพอและดูแลสุขภาพเพื่อสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวได้
เขาว่ากันว่า..คนสูงอายุจะจำแต่เรื่องดีๆ
คนทั่วไปมักจะมองว่า วัยหนุ่มสาวคือวัยที่กำลังสดใส มุมมองที่มีต่อ โลกยังคงสดใหม่สวยงาม เรื่องเครียดในชีวิตยังมีไม่มาก ตรงกันข้ามกับคนแก่ที่มักจะมองโลกในแง่ร้ายเพราะผ่านโลกมาเยอะ จนเริ่มนับถอยหลังกับชีวิตไปแล้ว แต่จากการวิจัยผ่านการทดลองที่ชื่อว่า Positivity Effect โดย แอนดรูว์ รีดและ ลอรา คาร์สเทนเซน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้อาสาสมัครหลากหลายวัยจำนวน 150 คนมองภาพที่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ภาพที่มองแล้วสบายใจ ภาพที่มองแล้วไม่ได้รู้สึกอะไรเป็นพิเศษ และภาพที่มองแล้วเกิดความรู้สึกเชิงลบ
ผลวิจัยปรากฏว่า คนอายุ 55 ปีขึ้นไป มีมุมมองที่สมดุลและโน้มเอียงไปในทางด้านลบน้อยกว่าหนุ่มสาววัย 20 ปี จึงสะท้อนให้เห็นว่าวุฒิภาวะที่มากขึ้นส่งผลต่อการมีทัศนคติที่ดีมากกว่าวัยหนุ่มสาวนั่นเองค่ะ
เขาว่ากันว่า..มีความสุขเข้าไว้อายุจะยืน
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ในออสเตรเลีย และริชาร์ด เพโตศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ได้ทำงานวิจัยกับผู้หญิงชาวอังกฤษอายุเฉลี่ย 59 ปี จำนวน 700,000 คนโด ให้พวกเขากำหนดความสุขในแบบของตัวเอง แล้วติดตามความคืบหน้าในอีก 10 ปีต่อมา โดยร้อยละ39 บอกว่าตัวเองเป็นคนที่มีความสุขเกือบตลอดเวลา ร้อยละ 44 บอกว่าโดยทั่วไปมักจะมีความสุข ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 17 บอกว่าพวกเขามักจะไม่ค่อยมีความสุขเท่าไร ซึ่งหลังการติดตามผลกลุ่มที่ไม่ค่อยมีความสุขมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตในระยะเวลา10 ปีต่อมา มากกว่ากลุ่มที่มีความสุขถึง 29 เปอร์เซ็นต์
แต่เมื่อศึกษาให้ละเอียดขึ้นในด้านพฤติกรรม คนที่ไม่มีความสุขมักจะมีพฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า ดังนั้น คนที่มีความสุขอาจหมายความถึงคนที่ให้คุณค่ากับชีวิตของตนเองซึ่งสะท้อนผ่านวิธีการใช้ชีวิตที่ส่งผลต่อการมีสุขภาพที่ดี
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ “เขาว่ากันว่า” และมีการบอกต่อกันมา แต่หากลองพิจารณาดูดีๆ ก็จะพบว่าบางสิ่งก็เป็นเรื่องจริงที่เราต้องยอมรับ และบางสิ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวเพื่อให้เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตในวัยที่อายุสูงขึ้น แต่ไม่ว่าอย่างไร การใส่ใจดูแลตัวเอง ทั้งเรื่องอาหารการกิน การทำจิตใจให้ผ่องใส ไม่เครียดจนเกินไป คือสิ่งที่สมควรทำมากที่สุด เพื่อการใช้ชีวิตในบั้นปลายที่มีความสุขตลอดไปนั่นเองค่ะ
ข้อมูลจาก: คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
สัตว์เลี้ยงช่วยคลายเหงา ทำให้ผู้สูงวัยสดชื่นแจ่มใส
การดูแลผู้สูงวัย ความเข้าใจและความร่วมมือคือสิ่งสำคัญ
ผู้สูงอายุต้องกินให้เป็น…เพราะอาหารที่ดีจะไปสร้างร่างกายที่ดี