วิธีออกกําลังกายในฟิตเนสให้เหมาะสมกับเพศ วัย และข้อจํากัดทางร่างกาย
ฟิตเนส คนที่ไม่เคยเข้าเลยอาจกลัวว่า เข้าไปแล้วต้องทำตัวอย่างไร แล้วจะเริ่มออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์แบบไหน วันนี้ เราขอแนะนําการใช้อุปกรณ์ออกกําลังกายในฟิตเนสให้กับคนที่ตั้งใจจะออกกําลังกาย แต่ยังไม่ได้เริ่มเพราะไม่มีข้อมูลเพียงพอหรือไม่รู้จะเริ่มอย่างไรค่ะ
ประโยชน์ของการออกกําลังกายในฟิตเนส คือ
1. มีอุปกรณ์ออกกําลังกายประเภทคาร์ดิโอหลากหลาย เช่น เครื่องวิ่งสายพาน จักรยาน เครื่องสเต็ป เครื่องครอสเทรนนิ่ง ซึ่งมีประโยชน์กับหัวใจโดยตรง หรือเรียกง่ายๆ
ว่าการออกกําลังกายหัวใจ ซึ่งฟิตเนสส่วนใหญ่จะมีอุปกรณ์กลุ่มนี้
2. มีอุปกรณ์ช่วยลดหรือเสริมสร้างกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนที่หลากหลาย ได้แก่ เวตเทรนนิ่ง
3. มีการจัดคลาสเรียนออกกําลังกายต่างๆ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ สร้างความสนุกสนาน และไม่ทําให้รู้สึกจําเจ
4. ขอคําแนะนําจากครูฝึกหรือผู้เชี่ยวชาญในการใช้อุปกรณ์ได้อย่างสะดวก รวมไปถึงสามารถฝึกแบบพิเศษเพื่อตอบสนองความต้องการที่ตรงกับเป้าหมายของผู้ออกกําลังกาย
แค่ประโยชน์หลักๆ ของการออกกําลังในฟิตเนสก็น่าสนใจมากแล้ว ต่อไปเรามาเจาะลึกข้อมูลกันว่า แต่ละบุคคลควรเริ่มฝึกอะไรก่อนและอุปกรณ์ออกกําลังกายเครื่องไหนเหมาะกับเราบ้าง แต่ฟิตเนสส่วนใหญ่มีข้อจํากัดคือ ไม่อนุญาตให้เด็กเข้าไปใช้บริการเพื่อความปลอดภัย โดยมักกําหนดให้เป็นผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป (ขึ้นอยู่กับสถานที่นั้น) เราจึงขอกล่าวถึงบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ออกกําลังกายในฟิตเนสได้เท่านั้น เมื่อเราเลือกสถานที่ตามความเหมาะสม จากนั้นให้สํารวจความพร้อมของร่างกาย หากมี
โรคประจําตัว เช่น โรคหืด หัวใจ ความดันโลหิตสูง(เป็นโรคที่ปรากฏอาการเฉียบพลัน) ควรแจ้งครูฝึกเพื่อให้เขาแนะนําอุปกรณ์การเล่น เพื่อความปลอดภัยและลดการบาดเจ็บ
การเล่นอุปกรณ์ควรเรียงลําดับดังนี้
1. อุปกรณ์ออกกําลังกายประเภทคาร์ดิโอ
ซึ่งฟิตเนสทั่วๆ ไปจะจัดเตรียมไว้ ได้แก่ จักรยาน เครื่องสเต็ป เครื่องครอสเทรนนิ่ง การเล่นอุปกรณ์ทั้ง 3 ชนิดนี้แทบไม่มีข้อจํากัด เพราะมีแรงกระแทกน้อย แต่ทั้งนี้ต้องเล่นอุปกรณ์ให้ถูกต้องด้วย ส่วนเครื่องวิ่งสายพานอาจมีข้อจํากัดในผู้ที่มีปัญหาข้อต่อ ข้อเท้า เข่า เพราะมีแรงกระแทกค่อนข้างมาก แนะนําให้คนกลุ่มดังกล่าวใช้อุปกรณ์ 3 ตัวแรกแทน การออกกําลังกายประเภทนี้เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัยที่สามารถเข้าฟิตเนสได้
2. อุปกรณ์ออกกําลังกายประเภทเวตเทรนนิ่ง
สาวๆ ที่ได้อ่านแล้วคิดไปว่า ไม่เอา ฉันไม่อยากมีกล้าม ต้องบอกเลยว่า กําลังเข้าใจผิด เพราะการเล่นเวตไม่ได้เล่นเพื่อให้เกิดกล้ามเนื้อเหมือนนักเพาะกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อไม่ให้กลายเป็นไขมันโดยเฉพาะ ผู้ที่ทํางานในออฟฟิศที่มีการเคลื่อนไหวน้อยมากๆ (บางครั้งกินมากด้วย) มวลกล้ามเนื้อจะน้อยลง
การเผาผลาญพลังจะน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดไขมันเพิ่มพูนตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย กล้ามเนื้อหย่อน ยานทําให้อ้วนและเป็นโรคต่างๆ ตามมา
3. การออกกําลังกายในคลาสเรียนต่างๆ
ที่ทางฟิตเนสจัดเตรียมไว้ เช่น
•คลาสเต้น
เหมาะกับคนที่ชอบเสียงเพลงและการเต้น การเปิดดนตรีควบคู่ไปกับการออกกําลังกายทําให้เกิดความสนุก ไม่น่าเบื่อ และได้เหงื่อ แต่เพราะเป็นการออกกําลังกายที่มีการกระแทก ผู้ที่มีปัญหาเรื่องข้อต่อต่างๆ จึงไม่ควรเต้น
•คลาสยืดเหยียด
เหมาะกับบุคคลที่ต้องทํางาน โดยการนั่ง ยืน เดินเป็นเวลานานๆ หรือผู้ที่ต้องการคลายกล้ามเนื้อหลังออกกําลังกายหนัก
•คลาสโยคะ
เป็นการออกกําลังกายทั้งอวัยวะภายนอกและภายใน เช่น ลําไส้ ตับ ไต ต่อมน้ําเหลือง และอาจฝึกท่าเพื่อบําบัดรักษาโรคบางโรคได้อีกด้วย ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
ข้อต่ออักเสบต่างๆ อาจฝึกบางท่าไม่ได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ฝึกควรแจ้งให้ครูฝึกทราบก่อน โยคะมีหลากหลายรูปแบบ ควรสอบถามทางฟิตเนสนั้นๆ ว่ามี ประเภทไหนที่เหมาะสมกับตัวเรา
4. Personal Trainer
คือผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกําลังกาย เหมาะสําหรับผู้ที่ไม่มั่นใจว่าจะออกกําลังกายได้ถูกต้องไหมหรือตรงเป้าหมายที่ตนเองต้องการหรือไม่ แนะนําให้ปรึกษาเทรนเนอร์เป็นการส่วนตัว(แต่อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม) ซึ่งจะช่วยวางแผนการออกกําลังกายให้ตรงเป้าหมาย เช่น ลดน้ําหนัก เสริมสร้างกล้ามเนื้อให้ดูสวยงาม รวมถึงดูแลระหว่างที่เราออกกําลังกายด้วย
คําแนะนําเพิ่มเติม
ขณะออกกําลังกาย ผู้สูงอายุควรมีผู้ดูแลทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจําตัว ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด เราก็สามารถออกกําลังกายได้ ขึ้นอยู่กับว่าให้ความสําคัญและมีวินัยแค่ไหน
การออกกําลังกายในฟิตเนสนั้นเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งที่สนับสนุนให้ผู้อ่านมีรูปร่างสมส่วน ปลอดจากโรคภัยและมีพลานามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อดูแลคนที่คุณรักต่อไป
บทความอื่นที่น่าสนใจ
วิ่งลดน้ำหนัก ใน 12 สัปดาห์ ทำตามแล้วจะรู้ว่า ผอม!