อุ้งเชิงกรานหย่อน, ฉี่เล็ด, กระชับอุ้งเชิงกราน, ออกกำลังกาย

บอกลาอุ้งเชิงกรานหย่อน ด้วย 4 วิธีธรรมชาติ+ท่าออกกำลังกาย

อุ้งเชิงกรานหย่อน ป้องกันและแก้ไขได้ด้วย 4 วิธีธรรมชาติและการขมิบ

อุ้งเชิงกรานหย่อน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก และยังทําให้สิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาลอยู่มากโขทีเดียว เราขอชวนคุณผู้หญิงทั้งหลายหันมาสนใจการดูแลและป้องกันโรคอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน ซึ่งจะทําให้คุณมีความสุขอย่างเต็มร้อยโดยไม่มีปัญหาแบบหน่วงๆ มากวนใจแต่อย่างใด

อวัยวะในอุ้งเชิงกรานคืออะไร

ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า โรคนี้พบได้บ่อยในผู้หญิงสูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีลูกแล้วพบถึงร้อยละ 50 รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุวิทย์ บุณยะเวชชีวิน หัวหน้าสาขาวิชาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อธิบายว่า “อวัยวะในอุ้งเชิงกราน คือ มดลูก ช่องคลอด ลําไส้ และกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งโรคอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการให้เห็นด้วยตาเปล่า แต่ในกรณีที่เป็นมากๆ อาจทําให้ผู้ป่วยรู้สึกหน่วงบริเวณท้องน้อย มีก้อนตุงที่บริเวณอวัยวะเพศ เดินลําบาก ปัสสาวะ-อุจจาระลําบาก และปัสสาวะเล็ดราด รวมไปถึงกั้นอุจจาระไม่อยู่”

7 สาเหตุเสี่ยงอุ้งเชิงกรานหย่อน

•ตั้งครรภ์
•คลอดบุตรทางช่องคลอด
•ภาวะอ้วน
•เคยผ่าตัดอุ้งเชิงกรานมาก่อน
•ทําอาชีพที่ต้องออกแรงเกร็งช่องท้อง เช่น ผู้ที่ต้องยกของหนัก หมอนวด
•มีโรคประจําตัวบางอย่างที่เพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่น ไอเรื้อรัง มีก้อนในช่องท้อง
•ภาวะวัยทอง

4 วิธีธรรมชาติป้องกันการหย่อน

คุณหมอสุวิทย์แนะนําวิธีการป้องกันและดูแลไม่ให้อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน ดังนี้

ลดน้ําหนัก

ลดแรงดันในช่องท้อง ความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อน โดยคนอ้วนมีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้มากกว่าสตรีที่มีดัชนีมวลกายปกติถึง
4.2 เท่า เพราะการเพิ่มขึ้นของน้ําหนักตัวจะทําให้น้ําหนักในช่องท้องเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แรงดันในช่องท้องและกระเพาะปัสสาวะเพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสเกิดโรคนี้สูงมาก ควรลดน้ําหนักอย่างน้อยร้อยละ 5 ของน้ําหนักตัว จะสามารถลดความเสี่ยงได้ถึงร้อยละ 5

เลี่ยงยกของหนัก

หยุดการออกแรง การออกแรงมากๆ เพื่อยกของหนักทําให้แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ซึ่งนําไปสู่การเกิดโรค ดังนั้นแนะนําให้เลี่ยงการยกของหนักหรือใช้อุปกรณ์ช่วยทุ่นแรง

ป้องกันท้องผูก

ยิ่งเบ่ง โรคยิ่งทรุด เมื่อมีอาการท้องผูก ผู้ป่วยจะต้องเกร็งหน้าท้องเพิ่มขึ้นเพื่อเบ่งอุจจาระ ดังนั้นวิธีป้องกันโรคอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อนจึงต้องป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องผูก ซึ่งมีวิธีง่ายๆ คือ ดื่มน้ําปริมาณพอเหมาะ ประมาณวันละ 2 ลิตร หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือที่มีกาเฟอีนเป็นส่วนผสม เช่น ชา กาแฟ น้ําอัดลม และเพิ่มการกินอาหารที่มีใยอาหารปริมาณสูง เช่น ผัก ผลไม้ ข้าว

ฝึกขมิบ

เพิ่มความกระชับในช่องท้อง การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานโดยเฉพาะการขมิบ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน รวมถึงภาวะปัสสาวะเล็ดได้อย่างน้อยร้อยละ 60-85 การขมิบทําโดยเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณรอบช่องคลอดและแก้มก้น โดยฝึกติดต่อกันครั้งละ 20 นาที วันละ 3 ครั้ง ฝึกติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ซึ่งจะทําให้อาการดีขึ้นหรือหายเป็นปกติได้

DID YOU KNOW? Elvie ไข่ฟิตอุ้งเชิงกราน

อุปกรณ์รูปไข่ขนาดเพรียวบาง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะของคุณผู้หญิง โดยทํางานควบคู่ไปกับแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน สนนราคา 199 ดอลลาร์สหรัฐ

ออกกำลังกาย หยุด! ปัสสาวะ+อุจระเล็ด

ท่าเตรียม
นอนชันเข่า เท้าชิด วางฝ่ามือไว้ข้างตัว
ท่าปฏิบัติ 1
หายใจเข้าจนท้องป่อง ชันเข่าขึ้น กลั้นหายใจพร้อมขมิบก้น ค้างไว้ นับ 1-5
ท่าปฏิบัติที่ 2
แยกเข่าทั้งสองออก(พยายามกดเข่าลงบนพื้นให้มากที่สุด) ค้างไว้ นับ 1-5
ท่าปฏิบัติที่ 3
ขมิบก้น 5 ครั้ง กลับสู่ท่าเตรียม ทําทั้งหมด 8 ครั้ง

ออกกำลังกาย แก้อุ้งเชิงกรานหย่อน

แม้ว่าโรคอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนจะไม่อันตรายมากนัก แต่ก็สามารถลดทอนความสุขในชีวิตประจําวันของคุณผู้หญิงได้มาก ดังนั้นรีบป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อคงสุขภาพที่แข็งแรงสดใสไว้ได้ทุกวัน


บทความอื่นที่น่าสนใจ

วิธีกิน วิตามิน บี บำรุงสมองและประสาท แก้อาการชา

5 Dos 5 Donts วิธีดี วิธีแย่ กินสลัด เพื่อสุขภาพเต็มร้อย

ความดันและไขมันในเลือดสูง ปรับเปลี่ยน 3 อ (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) ไม่ง้อยา

การเดินส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่าการ วิ่งจ๊อกกิ้ง

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.