4. กินธัญพืช
วารสาร Nutrition Research Reviews รายงานผลการวิจัยของ Dr. Joanne Slavin แห่งมหาวิทยาลัยมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา กล่าวยืนยันว่า ธัญพืชนั้นป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวาน และโรคอ้วนได้
คุณอ้อจึงกินมูสลี่ที่เต็มไปด้วยธัญพืชหลากหลายชนิดเป็นอาหารเช้าสัปดาห์ละครั้ง นอกจากนี้ก็กินขนมลูกเดือยต้มน้ำตาล รสออกหวานปะแล่มแถมด้วยถั่วสารพัดชนิด ซึ่งนำมาต้ม คั่วโรยเกลือ หรือกวนเป็นอาหารว่างประจำวัน
“ที่กินทุกมื้อคือ งาขาวและจมูกข้าวสาลี โดยโรยในข้าวสวยทุกมื้อ เวลากินข้าวคลุกน้ำพริกก็โรยปลาเล็กปลาน้อยเพิ่มด้วย อร่อยดี” คุณอ้อเผยสูตร
5. กินของสด
อาจารย์สาทิสแนะนำว่า ให้กินอาหารชั้นเดียว คือ อาหารที่เก็บมาจากต้นแล้วกินได้เลย ไม่ต้องผ่านการปรุงซับซ้อน ซึ่งจะให้คุณค่าสูงสุด ฉะนั้น การกินอาการสดที่ผ่านกระบวนการปรุงน้อยที่สุดจึงดีที่สุด
คุณอ้อไม่นิยมปรุงอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ให้สมาชิกในครอบครัวกิน อาหารสดส่วนใหญ่จึงเป็นจำพวกพืชผัก “ที่กินสดมักเป็นผักที่กินกับน้ำพริก มีถั่วพู ถั่วฝักยาวแตงกวา ผักตระกูลมะเขือ โดยเราต้องแช่น้ำให้นานหน่อยเพื่อความสะอาด”
Tips วิธีรักษาอาหารสดให้สดนานของคุณกุลธิกา
- หากยังไม่กินก็เก็บเข้าตู้เย็นทันทีที่ซื้อมาจากตลาด
- พืชผักผลไม้ที่ช้ำง่ายควรห่อกระดาษก่อนนำเข้าตู้เย็น
- ผลไม้บางอย่าง เช่น สับปะรด แตงโม ควรหั่นใส่กล่องพลาสติกก่อนนำเข้าตู้เย็น
- ส่วนผลไม้ที่เป็นพวง เช่น องุ่น ควรเด็ดออกทีละลูกล้างให้สะอาด ก่อนใส่กล่องพลาสติก แล้วจึงนำเข้าตู้เย็น
6. กินแค่ ของกระเพาะ
Dr. Maoshing Ni ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนจีนในสหรัฐอเมริกากล่าวว่า คนเราไม่ควรกินอาหารจนเต็มกระเพาะ เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่า การกินอาหารน้อยหน่อยช่วยเพิ่มอายุขัยในสัตว์หลายชนิด และคนอายุยืนทั่วโลกก็มักยึดกฎการกิน คือ จะหยุดกินอาหารเมื่อกินไปแล้วสามในสี่ส่วนของกระเพาะ
คุณอ้อเล่าว่า “ปกติกินน้อยอิ่มเร็ว พอรู้สึกว่าอิ่มแล้วก็ต้องหยุดกลืนอีกคำไม่ได้จริงๆ ฉะนั้นอาหารที่กินเข้าไปจึงพอดีกับขนาดกระเพาะ”
7. เคี้ยวช้าๆ
เพราะอาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิตแนะนำให้เคี้ยวช้าๆ คุณอ้อจึงปฏิบัติตาม “เดี๋ยวนี้เคี้ยวช้าลงเยอะ แต่ไม่ช้าถึงคำละ 30 – 40 ครั้งนะ ตอนแรกเริ่มจากลองเคี้ยวให้ช้า ซึ่งบางทีก็เผลอเคี้ยวเร็วบ่อยๆ พอนึกได้จึงเคี้ยวช้าลง เดี๋ยวนี้จึงเคี้ยวช้าเป็นนิสัย
“เราต้องการให้อาหารละเอียดมากขึ้นก่อนกลืนลงกระเพาะ เพื่อช่วยระบบย่อยนอกจากนี้แล้วยังทำให้เรากินอาหารได้น้อยลง อิ่มเร็วขึ้นด้วย”