มะเร็งกระเพาะอาหาร ภัยร้ายที่แฝงตัวเงียบที่หลายคนมองข้าม
พฤติกรรมของคนเริ่มมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์มากขึ้นในปัจจุบันนี้ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าอาหารที่ไม่ได้ผ่านการทำด้วยตนเองมีคุณภาพดีพอ เพราะในยุคที่เร่งรีบในการใช้ชีวิตทำให้เราลืมนึกถึงเรื่องคุณภาพของการรับประทานไป ประทานอาหารปิ้งย่าง รมควัน หมักดอง อาหารเค็มจัด หรืออาหารที่ไม่สะอาด เมื่อทานเป็นประจำและติดต่อเป็นเวลายาวนาน คุณอาจคาดไม่ถึงว่ากำลังเพิ่มพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อ มะเร็งกระเพาะอาหาร
มะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer )
เป็นโรคที่ไม่มีอาการในระยะแรก กว่าจะทราบก็เกิดอาการรุนแรงและลุกลามไปตามอวัยวะใกล้เคียง เป็นมะเร็งที่พบไม่บ่อยในคนไทยแต่มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบและการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักอนามัย จากสถิติโรคมะเร็งทั่วโลก
ในปัจจุบัน โรคมะเร็งกระเพาะอาหารพบได้บ่อยเป็นลำดับที่ 6 พบว่าเพศชายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าเพศหญิง ประเทศที่มีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารสูง ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งตรงข้ามกับประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และในทวีปยุโรป ที่มีอุบัติการณ์ของโรคนี้ค่อนข้างต่าง
สำหรับในประเทศไทย อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารพบได้เท่ากับ 4.1 ราย และ 2.5 ราย ต่อประชากรแสนราย ในเพศชายและเพศหญิง ตามลำดับ ซึ่งมะเร็งกระเพาะอาหาร เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติและไม่สามารถควบคุมได้ของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร จนแพร่กระจายไปสู่อวัยวะข้างเคียง โดยสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกบริเวณของกระเพาะอาหาร ซึ่งมีบางตำแหน่งที่สามารถรักษาให้หายขาดได้
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหาร
สาเหตุส่วนใหญ่ของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารแปรรูป และอาหารปิ้งย่าง รวมถึงมีปัจจัยส่งเสริมความเสี่ยงของการเกิดโรค ดังนี้
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น เพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น
- เพศชายมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารสูงกว่าเพศหญิงถึง 2 เท่า
- ผู้มีประวัติบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
- การติดเชื้อ Pylori แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของแผลในกระเพาะอาหารและสร้างภาวะอักเสบ หากปล่อยทิ้งไว้เรื้อรังอาจนำไปสู่โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
- ผู้ที่เคยผ่าตัดกระเพาะอาหาร
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคโลหิตจางบางชนิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
- การสัมผัสฝุ่น สารเคมี และสารก่อมะเร็งเป็นเวลานาน
- สูบบุหรี่เป็นประจำ
อาหารกระตุ้นมะเร็ง
นอกจากพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารแล้ว อาหารเองก็เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นการเกิดมะเร็งชนิดนี้ โดยเฉพาะอาหารนอกบ้าน ที่เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ผ่านกรรมวิธีอย่างไร หรือมีการปนเปื้อนของสารอันตรายอะไร โดยอาหารที่เพิ่มความเสี่ยงที่ควรต้องระวัง คือ
อาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันสัตว์ ไขมันทรานส์ หรือไขมันอิ่มตัว เช่นน้ำมันปาล์ม เนื่องจากน้ำมันเหล่านี้ จะก่อตัว และจับตัวอยู่ในร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบ และนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งได้
อาหารแปรรูป และอาหารหมักดองที่ใช้สารเคมี เช่น แหนม เบคอน ไส้กรอก ที่ผ่านกรรมวิธี หรือมีการถนอมอาหารโดยใช้สารปรุงแต่งอย่าง ดินประสิน สารไนไตรด์ ที่ทำให้เกิดมะเร็ง
อาหารที่มีสารเคมีปนเปื้อน ไม่ว่าจะเกิดจากการล้างไม่สะอาด ของผัก และวัตถุดิบทางการเกษตร หรือการเจือผนในกรรมวิธีการผลิต เช่น อาหารที่มีสีสันฉูดฉาด อาหารที่มีการเติมแต่งสี โดยสังเกตได้จากฉลากของบรรจุภัณฑ์ หากพบว่าสารเคมีต่างๆ ควรหลีกเลี่ยง
อาหารผ่านความร้อนสูง เช่น อาหาร ปิ้ง ย่าง ทอด เข้าใจว่าเป็นของโปรดของหลายๆ คน แต่อาหารเหล่านี้ โดยเฉพาะที่มีความไหม้เกรียม มักมีสารก่อมะเร็ง ที่ชื่อ อะคลิลาไมด์ ทางที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยง เพราะสารเหล่านี้มักเกาะอยู่ในอาหาร และสะสมในร่างกาย
อาหารสุกๆ ดิบๆ เมนูกินแซ่บของไทยหลายๆ เมนู ซึ่งเป็นเมนูสุกๆ ดิบๆ หรือบางจานก็เป็นเมนูดิบเลย เสี่ยงต่อการเกิดพยาธิ ไม่ว่าจะเป็นพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งมักพบได้ในสัตว์น้ำจืด เช่น กุ้ง ปลา หอย หรือ พยาธิตัวตืด พบได้ในเนื้อสัตว์บก เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดมะเร็งได้
อาหารแห้ง อาหารที่ผ่านการถนอมอาหารด้วยการทำให้แห้ง เช่น ถั่ว พริกแห้ง และของแห้งอื่นๆ รวมถึงกระเทียม หัวหอม ที่เกิดเชื้อราได้ง่าย โดยเชื้อราจะทำให้เกิดสารอะฟลาท็อกซิน ที่ทำให้เกิดมะเร็งได้
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ทำให้ตับทำงานอย่างหนักจนเกิดภาวะตับแข็ง นำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งในที่สุด
อาการ โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นภัยร้ายที่แฝงตัวเงียบ โดยมักไม่มีอาการในระยะแรก กว่าจะรู้ตัวก็เกิดอาการรุนแรงและลุกลามไปตามอวัยวะใกล้เคียง ดังนั้นควรสังเกต หากมีอาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรืออาหารไม่ย่อยเป็นประจำ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร แสบร้อนบริเวณหน้าอก หากปล่อยไว้โรคอาจรุนแรงขึ้น จึงควรพบแพทย์ทันทีที่พบอาการผิดปกติ ดังนี้
- อุจจาระมีเลือดปน
- อาเจียน ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
- น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่มีสาเหตุ
- ปวดท้อง และอ่อนเพลีย โดยเฉพาะหลังจากรับประทานอาหาร
การรักษา
เมื่อเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร การดูแลรักษาจะแตกต่าง ขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง โดยมะเร็งกระเพาะอาหารจะมี 4 ระยะ แบ่งเป็น ระยะเริ่มแรก ระยะลุกลาม ระยะสุดท้าย
มะเร็งระยะเริ่มแรก หรือ ระยะที่ 1 คือ มะเร็งที่กินลึกเพียงชั้นผิว แต่ไม่ลึกถึงกล้ามเนื้อกระเพาะ มักไม่มีอาการ หรือมีอาการปวดท้องโรคกระเพาะเป็นๆหายๆ ระยะนี้สามารถตรวจได้จากการคัดกรองเบื้องต้นคือการส่องกล้อง ถ้าตรวจพบจะทำการตัดชิ้นเนื้อหรือเนื้องอกมีโอกาสหายขาดได้ ถ้าไม่ได้รักษามะเร็งในระยะนี้มีโอกาสกระจายไปต่อมน้ำเหลือง
มะเร็งระยะลุกลาม คือ ระยะที่ 2และ3 มะเร็งที่มีความลึกไปถึงชั้นกล้ามเนื้อ หรือผิวด้านนอกของกระเพาะอาหาร มีโอกาสกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองมากขึ้น การรักษาคือการผ่าตัดกระเพาะอาหารร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด
มะเร็งระยะสุดท้าย คือ ระยะที่ 4 คือ มะเร็งที่กระจายไปตามอวัยวะต่างๆ การรักษาในระยะนี้นอกจากการผ่าตัด ให้ยาเคมีบำบัด จะต้องดูแลแบบประคับประคองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ในช่วงสุดท้ายของชีวิต
สำคัญที่สุด คือ การตรวจคัดกรองระยะเริ่มแรกหรือเริ่มมีอาการ รู้เร็ว ป้องกันได้
ข้อมูลประกอบจาก
- รพ.สมิติเวช
- รพ.กรุงเทพพัทยา
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ปอมอ = เป็นมะเร็ง (เพราะไม่เชื่อหมอ)
ป้องกันมะเร็ง ด้วย พืชตระกูลกะหล่ำ
Antioxidant Food ผักมีสารต้านอนุมูลอิสระ ตัวช่วยสยบมะเร็ง
ติดตามชีวจิตได้ที่ :
Facebook : นิตยสารชีวจิต
Instagram : Cheewajitmedia
TikTok : cheewajitmediaofficial